“เฉลิม” เผยคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ.มีหน้าที่สังคายนากฎหมาย โดยเฉพาะที่มาจากการปฏิวัติต้องรื้อทิ้ง เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นประชาธิปไตย ยันแก้ รธน.ไม่กระทบรัฐบาล เหตุตั้ง ส.ส.ร.มาดำเนินการ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ.ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานคณะกรรมการ ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอว่า จะให้มาดูเรื่องการปฏิรูปกฎหมายทั้งหมด อะไรที่ไม่เป็นธรรมต้องสังคายนาใหม่ ซึ่ง นายอุกฤษ เป็นคนเก่ง ส่วนคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลเป็นใครบ้างนั้นตนไม่ทราบรายละเอียดว่า นายอุกฤษ มีแนวคิดอย่างไร แต่รัฐบาลได้ให้ภาพกว้างในการทำงานไปแล้ว จึงต้องมีคณะทำงานขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเริ่มต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื้อหาในระเบียบจะมีการกำหนดการปฏิรูปงานของทุกหน่วยงานรวมทั้งศาล ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ศาลใครไปปฏิรูปท่านไม่ได้ แต่ปฏิรูปกฎหมายได้ ซึ่งกฎหมายที่ศาลใช้ทุกวันนี้ก็มาจากรัฐสภาเป็นผู้ออกมาบังคับใช้ เมื่อถามว่า การทำงานจะเกิดความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ตั้งโดยรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน รัฐบาลไหนมีแนวคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลชุดนั้นๆ
ส่วนจุดประสงค์ของการเสนอร่างระเบียบดังกล่าว เพราะเหตุใดนั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บางเรื่องเราต้องยอมรับความเป็นจริง ที่มาจากการปฏิวัติ แล้วเราเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจะเห็นด้วยทั้งหมดก็คงไม่ใช่ ต่อข้อถามว่าองค์กรอิสระหลายชุดที่ตั้งขึ้นมาและบางชุดมีการยืดอายุการทำงาน แต่กลับไม่มีผลงานจะทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะเดี๋ยวจะเป็นการชี้นำกรรมการชุดนายอุกฤษได้ แต่คิดว่าคณะกรรมการชุดนายอุกฤษจะมีมาตรฐานและมีคุณภาพ
เมื่อถามว่า ในสายตาท่านมองระบบกฎหมายหลังการปฏิวัติ มีการใช้กฎหมายที่สองมาตรฐานจริงหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่แสดงความเห็น แต่อะไรที่มาจากคณะปฏิวัติตนไม่เห็นด้วย เมื่อถามว่ากังวลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ เพราะมักจะถูกแรงเสียดทานทุกครั้งที่มีการขยับเรื่องแก้กฎหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลคงไม่กังวลอะไรถูกก็ถูกอะไรผิดก็ผิด อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ส.ส.ร.จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นส่วนใหญ่และแต่งตั้งนิดเดียว และเมื่อ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งแล้ว ถามว่ารัฐบาลจะไปสั่งเขาได้หรือ เพราะเขาต้องเป็นตัวของตัวเอง ถ้านักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้วจะเอาอะไรมาเป็นตัวตั้งหรือมาเป็นมาตรฐาน
“วันนี้นักการเมืองบางพรรคเหมือนแม่นาคกลัวเณรจิ๋ว กลัวโดนเสกเข้าหม้อเลยตกใจ แต่ไปทำให้เรื่องมันยุ่งทั้งที่มันไม่ยุ่งอะไรเลย เพราะบอกไปแล้วว่าแนวคิดแก้มาตรา 291 เมื่อ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง ก็จะระบุว่าก่อนที่จะเอาเข้าสภาฯต้องถามความเห็นของประชาชนก่อน ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็ต้องยอมรับฟัง และผมมีแนวคิดต่อว่าถ้าประชาชนเห็นด้วย และนำเข้าสภาฯมาแล้ว ก็ให้แสดงความเห็นเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ต้องไปรับหลักการวาระหนึ่งเพื่อแปรญัตติและตั้งคณะกรรมาธิการ ให้ตัดสินใจเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็เสียคน เพราะ ส.ส.ร.เข้ามาจากการเลือกตั้ง และถามประชาชนแล้วเห็นด้วย” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว