“อลงกรณ์” ยอมรับ การตรวจสอบหุ้น “ดีแทค” อาจกระทบภาพการลงทุน แต่รัฐบาลต้องการส่งสัญญาณให้ชัดเจน ถึงการบังคับใช้ กม.อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และยุติธรรม “บุญชัย” มั่นใจไม่ผิด กม.เพราะก่อนเข้ามา “เทเลนอร์” ต้องศึกษาหนทางเข้าออกมาอย่างลึกซึ้งดีแล้ว ด้านนักวิชาการ ฟันธง “ดีแทค” ไม่ปิดตัวแน่ แต่เรื่องอาจเงียบไป เพราะมีช่องโหว่ กม.เหมือนที่ผ่านมา
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กรณีเป็นนอมินีต่างชาตินั้น ยอมรับว่า กระทบต่อการลงทุนของต่างชาติบ้าง แต่รัฐบาลต้องการที่จะส่งสัญญาณให้ชัดเจน ถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และดีต่อการลงทุนในอนาคต ซึ่งจะสามารถยอมรับได้ตามหลักสากล เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม ผู้ถือหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในชื่อย่อในขณะนั้น ว่า แทค และชื่อทางการค้าว่า ดีแทค กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ เขายังถือหุ้นในบริษัท ไทยเฟลโก้โฮลดิ้ง จำกัด พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อการฟ้องร้อง และตรวจสอบการเป็นต่างด้าวของดีแทค โดยมองว่า เป็นเรื่องที่ต้องไปสู่กระบวนการยุติธรรม จะได้ทำในสิ่งที่คาราคาซังให้เสร็จ
“บ้านเรามีเรื่องคาราคาซังเยอะมาก มันถึงเวลาแล้ว ควรจะเอามาสังคายนาให้หมด ให้มันถูกต้องที่สุด มันจะได้เคลียร์ซะ ทุกเรื่อง เอามันออกมาในที่แจ้งดีกว่า สำหรับผม ขายยูคอมให้เขา เขาก็ได้แทคไปทั้งอัน ผมเพียงแต่ร่วมหุ้น เพราะเราก็เป็นคนก่อตั้งมา เป็นผู้ร่วมทุนส่วนหนึ่ง เท่านั้นเอง”
นายบุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางเทเลนอร์คงดูกฎหมายมาเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะมาจัดตั้งบริษัท เพราะเทเลนอร์ไม่ใช่บริษัทเล็ก เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศนอร์เวย์ แล้วอยู่ตลาดนิวยอร์กด้วย
“ผมคิดว่าเขาคงดูกฏระเบียบต่างๆ มาอย่างดีแล้ว แต่ทีนี้ที่เถียงกันระหว่างบริษัทกับบริษัท มันไม่ใช่เรื่องของผม แต่ก่อนดีแทคจะมีคู่ปรับ คือ เอไอเอสใช่ไหม แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นทรู ก็จะมีเรื่องทำนองนี้เยอะ”
ด้าน นายอนุภาพ กิรลาภ นักวิชาการอิสระ เชื่อว่า กรณีปัญหาความขัดแย้งในกระทรงพาณิชย์ที่เกิดขึ้น รัฐมนตรีไม่มีอำนาจจัดการเรื่องดังกล่าว พร้อมระบุว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำตามหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว
นายอนุภาพ ระบุอีกว่า จากข้อบกพร่องของกฎหมายที่ไม่ระบุสัดส่วนรวมหุ้นที่ชัดเจน ในการชี้ว่าเป็นบริษัทของไทย อาจทำให้กรณีข้อสงสัยว่า ดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าวนั้นเงียบหายไปเหมือนเช่นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
นายอนุภาพ กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม หากดีแทคทำผิด พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว จะต้องรอให้กระบวนการสอบสวนสิ้นสุดก่อน จึงจะสามารถแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องได้
นอกจากนี้ แม้ดีแทคจะไม่สามารถประกอบกิจการโทรคมนาคมได้หากเป็นบริษัทต่างด้าวจริง แต่เนื่องจากอยู่ในฐานะผู้รับสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จึงเป็นหน้าที่ของ กสท ในฐานะเจ้าของสัมปทานต้องบังคับดีแทคปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ดังนั้นเชื่อว่า ดีแทคสามารถรักษาการให้บริการไว้ และเร่งดำเนินการปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย