“สัญญา” ถล่มซ้ำ ยัน ดีแทค เป็นต่างด้าวชัดเจน ชี้ เสนอข้อคิดเห็นถึงขั้นฟ้องศาลเลิกกิจการตามมาตรา 37 และฟ้อง 7 บริษัท ที่ถือหุ้นแทนตามมาตรา 36 พ่วงอีก 19 บริษัท แต่ “อลงกรณ์” เห็นควรให้ทำแค่ฟ้องดำเนินดคี แล้วให้ไปพิจารณาเองว่าจะฟ้องใครบ้าง ยันการเมืองไม่เคยแทรกแซง แต่ข้าราชการนั่นแหละที่แทงกั๊ก
นายสัญญา สถิรบุตร ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอความเห็นต่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยได้ยืนยันไปว่า จากการตรวจสอบเอกสารลับที่คณะทำงานตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ชุด นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธาน เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าดีแทคมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งเป็นการชี้ชัดตามที่คณะทำงานได้มีความเห็นไว้แล้ว แต่ยังไม่กล้าฟันธง
ทั้งนี้ เหตุผลที่ชี้ชัดว่า ดีแทคเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เพราะบริษัทที่ถือหุ้นในลำดับชั้นต่างๆ ของดีแทค บางบริษัทมีทุนจดทะเบียนแค่ 1 แสนบาท แต่สามารถกู้เงินได้ 1,000 เท่า หรือบริษัท ไทย เทลโค จำกัด ที่มีทุน 400 ล้านบาท สามารถกู้เงินได้ 2.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 71 เท่า ซึ่งทั้งหมด เป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีหลักประกัน ไม่มีกำหนดชำระคืน สัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทย 51% แต่ออกเสียงได้ 5 เสียงต่อ 49 เสียง กรรมการของบริษัทที่ถือหุ้นในดีแทคเป็นกรรมการของดีแทคด้วย มีการปกปิดไม่เปิดเผยสัญญาซื้อขายหุ้นและสัญญา Put&Call Option ต่อผู้สอบบัญชี ขณะที่ ไทย เทลโค ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ แต่ไม่มีสำนักงานใหญ่ และเมื่อตรวจสอบก็พบว่าเป็นที่ตั้งเดียวกับสำนักงานทนายความ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาดีแทค
“อธิบดีบรรยงค์ ได้ชี้ทางให้แล้ว บอกหมดว่าใครเป็นใคร บอกมาหมดมี 7 บริษัท ที่ถือหุ้นลำดับชั้นถัดไปของดีแทค ถ้าพิสูจน์ได้ว่าทั้ง 7 บริษัท เป็นต่างด้าว ก็จะทำให้ดีแทคเป็นต่างด้าว ผมก็ไปตรวจสอบตามนี้” นายสัญญา กล่าว
นายสัญญา กล่าวว่า ผลตรวจสอบก็ชี้ชัดว่าเป็น เพราะทั้ง 7 บริษัทที่ถือหุ้นลำดับชั้นถัดไปของไทย เทลโค ซึ่งถือหุ้นในดีแทค 23.46% เป็นคนต่างด้าว และเมื่อรวมกับหุ้นที่เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี ถือโดยตรงอีก 40.19% รวมเป็น 63.65% ก็เท่ากับว่า ดีแทคเป็นนิติบุคคลต่างด้าว แล้วยังสอดคล้องกับที่เทเลนอร์ เอเอสเอ ที่ระบุไว้ในรายงานประจำปี 2550-2553 ที่นอร์เวย์ ว่า ถือหุ้นในดีแทค ซึ่งเป็นหุ้นในบริษัท และบริษัทย่อยจำนวน 65.5% แค่นี้ก็ชัดแล้ว และยังมีบุคคลต่างด้าวอื่นๆ ถือหุ้นดีแทคอีก 8.806% รวมแล้วดีแทคมีคนต่างด้าวถือหุ้น 72.456%
ทั้งนี้ ได้สรุปเสนอให้นายอลงกรณ์มีคำสั่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งความดำเนินคดีต่อดีแทค ในความผิดตามมาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และให้ติดต่อสำนักงานอัยการสูงสุดให้ฟ้องคดีต่อศษลให้มีคำสั่งให้ดีแทคเลิกกิจการตามมาตรา 37 นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้แจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัทผู้ถือหุ้นแทนทั้ง 7 บริษัท ตามมาตรา 36 และกับบริษัทอื่นๆ อีก 19 บริษัทด้วย
“ผมได้เสนอไปแบบนี้ ก็เหมือนกับเสนาธิการทหาร เวลาจะเสนอแผนรบ ก็มีทางเลือกหนึ่งสองสามสี่ แต่แม่ทัพจะเลือกอะไรก็แล้วแต่เห็นสมควร เมื่อเสนอไปแบบนี้ ท่านอลงกรณ์ก็เลือกที่จะสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปแจ้งความดำเนินคดี ก็เป็นความเห็นของท่าน และยังได้ให้ไปพิจารณาเองว่าจะเลือกแจ้งความนิติบุคคลใด บุคคลใด ซึ่งถือว่ารัฐมนตรีไม่เคยเข้าไปแทรกแซง แต่เป็นการใช้ดุลพินิจ และพร้อมที่จะปกป้อง จะมีก็แต่ข้าราชการนั่นแหละที่แทงกั๊ก ทั้งๆ ที่ผลสอบก็ชัดเจน” นายสัญญา กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 7 บริษัทที่ได้เสนอให้ดำเนินคดี ได้แก่ บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท โบเลโร จำกัด บริษัท กี เคาน์ตี้ จำกัด บริษัท อาลิบี้ เคาน์ตี้ จำกัด บริษัท เบย์วิว เคาน์ตี้ จำกัด บริษัท ไกอา เคาน์ตี้ จำกัด และ บริษัท ตั๊กวู โฮลดิ้งส์ จำกัด
ส่วนบริษัทอีก 19 ราย ได้แก่ บริษัท เอเมค เพาเวอร์ (เอเชีย) จำกัด บริษัท เพ็ซท์วิค จำกัด บริษัท เบลล์วอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอลเอส พาวิลเลี่ยน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท เมลา ลูก้า โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัท ดรีม โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เพอร์เฟ็ค วิว โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ซีต้า อินฟอร์เมชั่น เน็ตเวิร์คกิ้ง คอมพิวติ้ง จำกัด บริษัท อีสท์ วินด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัท แกรนท์ ธอนตัน คอนซัลติ้ง จำกัด บริษัท หาดท้องสน วิลล่า จำกัด บริษัท อีราลดา อินดัสทรี่ส์ จำกัด บริษัท ไอเท็กซ์ เอเชีย จำกัด บริษัท เฟิร์สท โดเซ่น จำกัด บริษัท เซคคันด์ โดเซ่น จำกัด บริษัท เคพีแอล โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัท ซันซีคเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาเธ่ย์ แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด