ตัดกิเลส
ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น มิได้แสดงว่าจะต้องเวียนเกิดแก่ตายอยู่ดังนี้ตลอดไป แต่แสดงว่า เมื่อยังมีกิเลสก็ต้องเวียนเกิดแก่ตายอยู่ดังนี้
เมื่อสิ้นกิเลสเป็นขีณาสวะ คือมีอาสวะสิ้นแล้ว ก็สิ้นชาติคือความเกิด เมื่อสิ้นชาติคือความเกิด ก็สิ้นแก่สิ้นตาย เป็นอันตัดวัฏฏะ หรือวัฏฏะสังสาระหรือวัฏสงสาร
โดยความก็คือตัดกิเลสอันเป็นตัวเหตุสำคัญก่อน และเมื่อตัดกิเลสได้ก็ตัดชาติคือความเกิดได้ เพราะว่าเมื่อตัดกิเลสได้ก็ตัดกรรม จึงไม่มีกรรมที่จะเป็นชนกกรรมเกิดอีกต่อไป ดังนี้เรียกว่าเป็นการตัดวัฏฏะ ซึ่งเป็นผลสูงสุดแห่งการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เรียกว่า วิมุตตินิพพาน
การตัดวัฏฏะสิ้นความวนเวียนเกิดแก่ตายดังกล่าวนี้ จะเป็นผลหรือจุดมุ่งหมายที่พึงปรารถนาอยากได้ หรือไม่ปรารถนาอยากได้เพียงไรนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะว่าการบรรลุถึงผลอันนี้มิได้เกิดจากความปรารถนาต้องการ แม้มีความปรารถนาต้องการจะได้จะถึง เมื่อไม่ปฏิบัติให้บรรลุถึงขีดขั้นที่จะพึงถึง ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึง แต่ว่าแม้ไม่ปรารถนาต้องการ เมื่อปฏิบัติไปในทางที่มีองค์แปดประการอันย่นลงในศีล สมาธิ ปัญญา ถึงจะไม่ปรารถนา ก็ได้ก็ถึง
แต่ว่าเมื่อกล่าวตามหลักธรรมอันแท้จริงแล้ว ต้องได้ถึงด้วยความไม่ปรารถนา เมื่อยังมีความปรารถนาอยู่ก็หาได้หาถึงไม่ เพราะความปรารถนานั้นยังเป็นตัณหาคือความอยากได้ต้องการ
เหมือนอย่างพระอานนท์เถระที่แสดงว่า ในราตรีที่วันรุ่งขึ้นจะทำปฐมสังคยานานั้น ท่านยังเป็นพระเสขบุคคล คือเป็นพระโสดาบัน ยังไม่บรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ว่าพระเถระที่ถูกเลือกเข้าประชุมทำปฐมสังคายนานั้นล้วนเป็นพระอรหันตขีณาสพทั้งหมด ยังแต่ท่านพระอานนท์องค์เดียวเท่านั้น
ฉะนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ จึงได้เตือนท่านให้ปรารภความเพียรให้เต็มที่ ในราตรีก่อนที่จะถึงวันเริ่มประชุมทำปฐมสังคายนา ท่านจึงปรารภความเพียรเต็มที่แต่ก็ไม่บรรลุ จนถึงเวลาที่ท่านคิดว่าจะพัก จึงได้เอนกายลงเพื่อที่จะพัก แต่ยังไม่ทันที่จะเอนกายลงในอิริยาบถนอนเต็มที่ เรียกว่า ในระหว่างที่อยู่ในอิริยาบถทั้งสี่ ก็ได้บรรลุอรหัตตผลเป็นอรหันตขีณาสพในขณะนั้น
พิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า ท่านได้บำเพ็ญความเพียรมาเต็มที่แล้ว มรรคแปดท่านบำเพ็ญมาก็เรียกว่าบริบูรณ์ แต่ว่ายังมีความต้องการอันเป็นตัณหาอยู่ที่จะได้จะถึง จึงไม่ได้ไม่ถึงจนได้
แต่ในขณะที่คิดว่าจะพักเอนกายลง ก็คือว่าวางตัณหาความต้องการ พอวางตัณหาเสียเท่านั้น ความบรรลุความสำเร็จก็บังเกิดขึ้นทันที
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตัณหานั้นเองเป็นอุปสรรคกีดกั้นอยู่ไม่ให้ได้ไม่ให้ถึง วางตัณหาเสียได้ก็ได้ก็ถึงก็สำเร็จทันที ดังนี้
เพราะฉะนั้น การบรรลุถึงมรรคผลนิพพานดังนี้ จึงมิใช่บรรลุด้วยความปรารถนาหรือไม่ปรารถนา แม้จะปรารถนาเต็มที่ก็บรรลุไม่ได้เพราะเป็นตัณหา วางความปรารถนาลงเมื่อใด เมื่อมรรคปฏิบัติสมบูรณ์อยู่แล้วก็บรรลุได้เมื่อนั้น ดังนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติแม้ว่าจะยังมองไม่เห็นว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานจะมีประโยชน์อะไร จะมีสุขอย่างไร แม้จะยังพอใจอยู่ในความเวียนว่ายตายเกิด แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ เมื่อถึงขีดขั้นแล้ว การบรรลุก็จะเกิดขึ้นเอง
และเมื่อกลับพิจารณาย้อนดูก็ย่อมจะรู้สึกว่า ความคิดความเห็นเป็นต้นแต่เดิมมานั้นก็มีถูกบ้างผิดบ้าง บางทีก็มีถูกมากผิดน้อย หรือถูกน้อยผิดมาก แต่ว่าอันความที่จะบรรลุถึงความสิ้นทุกข์อย่างแท้จริงนั้นจะต้องตัดการเวียนว่ายตายเกิดคือสังสารวัฏนี้ได้โดยสิ้นเชิง
เมื่อยังมีความเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็ยังต้องทุกข์ ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ว่า “เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์” และยังมีทุกข์อื่นๆ อีกเป็นอันมาก
และบรรดาทุกข์อื่นๆ นั้นก็มาจากชาติทุกข์ ทุกข์คือความเกิดนั้นเป็นเบื้องต้นสำหรับในชีวิตหนึ่งๆ เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติศึกษาธรรมก็อาจจะเห็นแต่ว่าแก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นว่าเกิดเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าตายเป็นอวมงคล แต่เมื่อได้ปฏิบัติธรรมแล้วก็เหมือนกัน ถ้าตายเป็นอวมงคล เกิดก็เป็นอวมงคลเหมือนกัน หรือถ้าเป็นมงคลก็เป็นมงคลด้วยกัน และเมื่อเทียบกันแล้ว เกิดย่อมเป็นต้นเหตุของชีวิตอันนี้ แล้วก็ต้องมีแก่มีตายไม่พ้นไปได้
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น มิได้แสดงว่าจะต้องเวียนเกิดแก่ตายอยู่ดังนี้ตลอดไป แต่แสดงว่า เมื่อยังมีกิเลสก็ต้องเวียนเกิดแก่ตายอยู่ดังนี้
เมื่อสิ้นกิเลสเป็นขีณาสวะ คือมีอาสวะสิ้นแล้ว ก็สิ้นชาติคือความเกิด เมื่อสิ้นชาติคือความเกิด ก็สิ้นแก่สิ้นตาย เป็นอันตัดวัฏฏะ หรือวัฏฏะสังสาระหรือวัฏสงสาร
โดยความก็คือตัดกิเลสอันเป็นตัวเหตุสำคัญก่อน และเมื่อตัดกิเลสได้ก็ตัดชาติคือความเกิดได้ เพราะว่าเมื่อตัดกิเลสได้ก็ตัดกรรม จึงไม่มีกรรมที่จะเป็นชนกกรรมเกิดอีกต่อไป ดังนี้เรียกว่าเป็นการตัดวัฏฏะ ซึ่งเป็นผลสูงสุดแห่งการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เรียกว่า วิมุตตินิพพาน
การตัดวัฏฏะสิ้นความวนเวียนเกิดแก่ตายดังกล่าวนี้ จะเป็นผลหรือจุดมุ่งหมายที่พึงปรารถนาอยากได้ หรือไม่ปรารถนาอยากได้เพียงไรนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะว่าการบรรลุถึงผลอันนี้มิได้เกิดจากความปรารถนาต้องการ แม้มีความปรารถนาต้องการจะได้จะถึง เมื่อไม่ปฏิบัติให้บรรลุถึงขีดขั้นที่จะพึงถึง ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึง แต่ว่าแม้ไม่ปรารถนาต้องการ เมื่อปฏิบัติไปในทางที่มีองค์แปดประการอันย่นลงในศีล สมาธิ ปัญญา ถึงจะไม่ปรารถนา ก็ได้ก็ถึง
แต่ว่าเมื่อกล่าวตามหลักธรรมอันแท้จริงแล้ว ต้องได้ถึงด้วยความไม่ปรารถนา เมื่อยังมีความปรารถนาอยู่ก็หาได้หาถึงไม่ เพราะความปรารถนานั้นยังเป็นตัณหาคือความอยากได้ต้องการ
เหมือนอย่างพระอานนท์เถระที่แสดงว่า ในราตรีที่วันรุ่งขึ้นจะทำปฐมสังคยานานั้น ท่านยังเป็นพระเสขบุคคล คือเป็นพระโสดาบัน ยังไม่บรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ว่าพระเถระที่ถูกเลือกเข้าประชุมทำปฐมสังคายนานั้นล้วนเป็นพระอรหันตขีณาสพทั้งหมด ยังแต่ท่านพระอานนท์องค์เดียวเท่านั้น
ฉะนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ จึงได้เตือนท่านให้ปรารภความเพียรให้เต็มที่ ในราตรีก่อนที่จะถึงวันเริ่มประชุมทำปฐมสังคายนา ท่านจึงปรารภความเพียรเต็มที่แต่ก็ไม่บรรลุ จนถึงเวลาที่ท่านคิดว่าจะพัก จึงได้เอนกายลงเพื่อที่จะพัก แต่ยังไม่ทันที่จะเอนกายลงในอิริยาบถนอนเต็มที่ เรียกว่า ในระหว่างที่อยู่ในอิริยาบถทั้งสี่ ก็ได้บรรลุอรหัตตผลเป็นอรหันตขีณาสพในขณะนั้น
พิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า ท่านได้บำเพ็ญความเพียรมาเต็มที่แล้ว มรรคแปดท่านบำเพ็ญมาก็เรียกว่าบริบูรณ์ แต่ว่ายังมีความต้องการอันเป็นตัณหาอยู่ที่จะได้จะถึง จึงไม่ได้ไม่ถึงจนได้
แต่ในขณะที่คิดว่าจะพักเอนกายลง ก็คือว่าวางตัณหาความต้องการ พอวางตัณหาเสียเท่านั้น ความบรรลุความสำเร็จก็บังเกิดขึ้นทันที
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตัณหานั้นเองเป็นอุปสรรคกีดกั้นอยู่ไม่ให้ได้ไม่ให้ถึง วางตัณหาเสียได้ก็ได้ก็ถึงก็สำเร็จทันที ดังนี้
เพราะฉะนั้น การบรรลุถึงมรรคผลนิพพานดังนี้ จึงมิใช่บรรลุด้วยความปรารถนาหรือไม่ปรารถนา แม้จะปรารถนาเต็มที่ก็บรรลุไม่ได้เพราะเป็นตัณหา วางความปรารถนาลงเมื่อใด เมื่อมรรคปฏิบัติสมบูรณ์อยู่แล้วก็บรรลุได้เมื่อนั้น ดังนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติแม้ว่าจะยังมองไม่เห็นว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานจะมีประโยชน์อะไร จะมีสุขอย่างไร แม้จะยังพอใจอยู่ในความเวียนว่ายตายเกิด แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ เมื่อถึงขีดขั้นแล้ว การบรรลุก็จะเกิดขึ้นเอง
และเมื่อกลับพิจารณาย้อนดูก็ย่อมจะรู้สึกว่า ความคิดความเห็นเป็นต้นแต่เดิมมานั้นก็มีถูกบ้างผิดบ้าง บางทีก็มีถูกมากผิดน้อย หรือถูกน้อยผิดมาก แต่ว่าอันความที่จะบรรลุถึงความสิ้นทุกข์อย่างแท้จริงนั้นจะต้องตัดการเวียนว่ายตายเกิดคือสังสารวัฏนี้ได้โดยสิ้นเชิง
เมื่อยังมีความเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็ยังต้องทุกข์ ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ว่า “เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์” และยังมีทุกข์อื่นๆ อีกเป็นอันมาก
และบรรดาทุกข์อื่นๆ นั้นก็มาจากชาติทุกข์ ทุกข์คือความเกิดนั้นเป็นเบื้องต้นสำหรับในชีวิตหนึ่งๆ เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติศึกษาธรรมก็อาจจะเห็นแต่ว่าแก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นว่าเกิดเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าตายเป็นอวมงคล แต่เมื่อได้ปฏิบัติธรรมแล้วก็เหมือนกัน ถ้าตายเป็นอวมงคล เกิดก็เป็นอวมงคลเหมือนกัน หรือถ้าเป็นมงคลก็เป็นมงคลด้วยกัน และเมื่อเทียบกันแล้ว เกิดย่อมเป็นต้นเหตุของชีวิตอันนี้ แล้วก็ต้องมีแก่มีตายไม่พ้นไปได้
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)