xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัดวัฏฏะ

ก่อนอื่นก็ขอเชิญชวนทุกๆท่านให้ทำสติระลึกถึงธรรม เป็นที่สงบระงับ อันเป็นอุปสมานุสสติ ได้แสดงอุปสมะหรือสันติคือความสงบระงับ หรือธรรมเป็นที่สงบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และที่เป็นวิมุตติมาหลายครั้ง

ในวันนี้จะได้แสดงลักษณะของความสงบระงับที่เป็นวิมุตติ คือความหลุดพ้น ตามลักษณะที่แสดงไว้ว่า

“วัฏฏฺปจฺเฉโท เป็นที่เข้าไปตัดวัฏฏะ”

พึงเข้าใจว่า ที่ชื่อว่าอุปสมะหรือสันติคือความสงบระงับนั้นย่อมมีอยู่สองอย่าง คือที่เป็นผลและที่เป็นเหตุ

ความสงบระงับเป็นผล แต่ว่าก่อนที่จะพบความสงบที่เป็นผลนี้ ก็จะต้องกล่าวว่า สงบจากอะไร คืออะไรทำให้ไม่สงบก็สงบจากสิ่งนั้น ความสงบจากสิ่งที่ทำให้ไม่สงบนั้นเป็นส่วนเหตุ

ฉะนั้น เมื่อกล่าวว่าความสงบระงับ จึงต้องหมายถึงความสงบระงับที่เป็นส่วนเหตุ คือ ความสงบจากอะไร อันทำให้ไม่สงบระงับนั้นก่อนด้วยแล้ว ความสงบระงับที่เป็นผลจึงจะบังเกิดขึ้น

แต่การแสดงลักษณะของความสงบระงับที่บังเกิดขึ้นแม้ที่เป็นส่วนผลนั้น เพื่อส่องความให้ชัดก็ต้องเอาส่วนเหตุมาประกอบไว้ด้วย อย่างคำว่า “เข้าไปตัดวัฏฏะ” นี้เป็นส่วนเหตุ

เพราะว่าเมื่อยังมีวัฏฏะก็ต้องมีความไม่สงบระงับ เมื่อตัดวัฏฏะเสียได้จึงจะเกิดความสงบระงับ

ฉะนั้น เพื่อที่จะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ จึงนำคำว่าตัดวัฏฏะเข้ามาแสดงในความสงบระงับที่เป็นส่วนผลด้วย เพื่อชี้ให้เข้าใจไปถึงเหตุว่า เกิดจากการตัดวัฏฏะเสียได้

สังสารวัฏ

“วัฏฏะ” นั้นแปลว่า “วน” ใช้คำเดียวว่า “วัฏฏะ” ก็มี ใช้คู่กับคำว่าสังสาระ คือสังสารวัฏ หรือวัฏสงสาร คำว่าสังสาระหรือสงสารนั้น แปลว่าการท่องเที่ยวไป

สังสารวัฏหรือวัฏสงสารก็คือการท่องเที่ยวไปด้วยอาการที่วน
คือวนเวียน อันการท่องเที่ยวไปโดยอาการที่วนนี้ ถ้านึกดูถึงภาพแห่งการเดินวนหรือว่าวิ่งวนก็ย่อมจะเห็นว่า เป็นการที่เวียนอยู่เป็นวงกลม หรือว่าเวียนกลับ มาสู่ที่เก่านั้นเอง ไม่ออกไปข้างไหน

ลักษณะที่เป็นการท่องเที่ยวโดยอาการที่วนเวียน คือกลับมาสู่ที่เก่า แล้วก็เวียนมาสู่ที่เก่า ดังนี้คือสังสารวัฏหรือวัฏสงสาร อธิบายตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมากก็คือการท่องเที่ยวเวียนเกิดตาย อันหมายความว่า เกิด แก่ ตาย แล้วก็เกิดอีก แล้วก็แก่ ตาย แล้วก็เกิดอีก เวียนเกิดเวียนตายอยู่ดังนี้ในชาติทั้งหลายเป็นอเนกคือเป็นอันมาก

ก็แหละการท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายในชาติทั้งหลายเป็นอันมาก เป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพบ้าง เป็นพรหมบ้าง หรือว่าตกอบายคือเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เป็น เปรต เป็นอสุรกาย คือพวกผีต่างๆบ้าง ตามหลักพระพุทธศาสนา แสดงว่าเป็นไปตามกรรมคือการงานที่กระทำ

กระทำดีก็เป็นชนกกรรมให้เกิดในชาติที่ดี เป็นมนุษย์ เป็นเทพเป็นพรหม ตามควรแก่กรรมดีที่กระทำ

กระทำชั่วก็เป็นชนกกรรมให้เกิดในอบาย เป็นสัตว์นรกสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น

และผู้ที่ยังไม่บรรลุมรรคผลแม้ในชั้นต้น คือยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล เรียกว่ายังเป็นปุถุชนอยู่ ก็เป็นอนิยตคือมีคติที่ไม่แน่ เพราะยังมีกิเลสหนาแน่น อาศัยความไม่ประมาทในบางครั้งก็กระทำกรรมดี อาศัยความประมาทในบางคราวก็กระทำกรรมชั่ว เพราะฉะนั้นจึงอาจจะท่องเที่ยวไปเวียนวนอยู่ในสุคติก็ได้ในทุคติก็ได้ แต่ว่าจะไปเกิดในชาติภพใดก็ตามก็ต้องเกิดแก่ตายทั้งนั้น ต่างกันแต่เร็วหรือช้าเท่านั้น

ก็ตกว่าต้องท่องเที่ยววนเวียนไปเกิดแก่ตายในชาติภพทั้งหลายตามกรรมที่กระทำไว้ นี้แหละคือสังสารวัฏหรือวัฏสงสาร

สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งบุคคลและสัตว์เดรัจฉานหรือแม้โอปปาติกะ สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นทั้งหลายจะเป็นเทพก็ตาม เป็นเปรต อสุรกายสัตว์นรกประเภทต่างๆ ก็ตาม ก็อยู่ในสังสารวัฏหรือวัฏสงสารทั้งนั้น

สรุปลงแล้วก็เวียนเกิดเวียนแก่เวียนตายอยู่โดยไม่รู้จบ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 129 สิงหาคม 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น