ประชุม กมธ.สิทธิมนุษยชน วุฒิฯ ชี้ ดีเอสไอรับลูกสอบกระบวนการสรรหา กสทช. เป็นคดีพิเศษ มีพิรุธ ส่อนัยยะไม่นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ตั้งทีม กม.เสนอความเห็น ปธ.วุฒิฯ เผยผลสอบสวนอาจชี้นำความผิด ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ ด้าน “ตวง” แฉ อาจมีกระบวนการยื้อทูลเกล้าฯ
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ก่อนเข้าวาระประชุม นายสมชาย ได้แจ้งเรื่องที่กรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เห็นชอบให้ดำเนินคดีกรณีกรรมการสรรหากรรมการกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ให้เป็นคดีพิเศษ ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ นายสัก กอแสงเรือง ประธานที่ปรึกษาด้านสิทธิเสรีภาพ ของ กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ทำเรื่องเสนอไปยัง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายประธานวุฒิฯ มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว เพื่อสร้างความชัดเจนต่อการทำหน้าที่ ส.ว.รวมถึงมีมูลเหตุใดหรือไม่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไม่นำรายชื่อ 11 ว่าที่ กสทช.ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเตรียมยื่นให้ประธานวุฒิภายในสัปดาห์หนี้
ด้าน นายสัก กล่าวว่า ตนมองว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ผิดปกติ คือ มีการชี้แนะ ชี้นำกลุ่มอื่น ไปดำเนินการยื่นเรื่องต่อกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสทช., ประธานวุฒิสภา, กรรมาธิการ, เลขาธิการวุฒิสภาให้สอบสวนหรือพิจารณาหาข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานสอบสวน อีกทั้งได้มีการชี้นำมาสู่ในขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีความพยายามหยุดการทำหน้าที่ของวุฒิสภา
นายสัก กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ โดยหลักของการกฎหมายคดีพิเศษ ระบุว่า สอบสวนต้องไม่เปิดเผยข้อมูลซึ่งกระทบและสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น ซึ่งหากเปิดเผยแล้วถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมา พบว่า พนักงานสอบสวนได้เปิดเผยถึงกรรมการสรรหา กสทช. ซึ่งโดยสาธารณะทราบดีว่า กรรมการสรรหา กสทช.ประกอบด้วยใครบ้าง และที่สำคัญชั้นพนักงานสอบสวนไม่สามารถเปิดเผยสำนวนได้ และไม่มีสิทธิ์ให้ข่าวชี้ว่าใครผิด
ขณะที่ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ฐานะรองประธาน กมธ.สิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.กสทช.กำหนดเป็นข้อบังคับชัดเจนว่า เมื่อสำนักงานเลขาธิการ กสทช.ส่งรายชื่อ กสทช.ให้ ครม.พิจารณาแล้ว นายกฯ ต้องส่งรายชื่อ 11 กสทช.ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ในกฎหมายไม่ได้ระบุว่าภายใต้เงื่อนไขเวลาเท่าใด ดังนั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการยื้อเวลาได้ ส่วนในทางคดีนั้น เมื่อผลชี้ว่ากรรมการ กสทช.มาโดยไม่ชอบ จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อ ส.ว.เพราะเป็นคนละกระบวนการ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ระบุถึงสาระสำคัญหลักที่ ก.พ.ค.เห็นชอบให้ดำเนินคดีอาญากับกรรมการสรรหา กสทช.ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.มีข้อมูลน่าเชื่อว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้พุ่งเป้าไปในส่วนของกรรมการสรรหาที่กำหนดให้เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2.กระบวนการของการสรรหาบัญชี 2 เป็นกระบวนการที่มีพยานหลักฐาน และน่าเชื่อได้ว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ได้ปรากฏชื่อของ พล.อ.อ.ธเนศ ปุณศรี,พ.อ.นที ศุกลรัตน์, นายสุทธิพล ทวีชัยการ, น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ และ นพ.ประสิทธิ์ ลี่สถาพรวงศา โดยระบุเบื้องต้นว่า เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการทุจริต
ด้าน น.ส.นรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ทางวุฒิสภาได้ดำเนินการสรรหา กสทช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเรื่องสรรหา กสทช.โดยมิชอบเข้าเป็นคดีพิเศษนั้น ก็สุดแล้วแต่ว่าจะมีผลการพิจารณาออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งตนคาดว่าในหน่วยงานต่างๆ ก็คงพิจารณาอยู่เช่นกัน ส่วนกรมสอบสอนคดีพิเศษจะมีอำนาจในการพิจารณามากน้อยแค่ไหนก็ต้องเป็นตามกฎหมาย จริงๆ แล้วศาลปกครองก็กำลังพิจาณาอยู่เช่นกัน ก็ต้องรอผลสรุปทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม การเลือกประธาน และรองประธาน กสทช.ในวันที่ 12 กันยายน นั้นก็เป็นหน้าที่ของกรรมการกสทช.ทั้ง 11 คนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นกระบวนการเลือกกันเอง หลังจากที่เลือกประธาน และรองประธานกสทช.ได้ ก็ต้องทำเรื่องส่งไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำทูลเกล้าฯต่อไป