การประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 5 กันยายนนี้ มีวาระสำคัญเรื่องหนึ่งคือ จะมีการลงมติลับเลือก 11 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
โฉมหน้าทั้ง 11 คนจะมีใครบ้างที่เข้าไปทำหน้าที่เป็น กสทช. ที่มีภารกิจหลักๆ ก็คือการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เช่น การออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม และการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์
โผว่าที่ กสทช.ที่มีการกะเก็งกันในหมู่ ส.ว.และคนที่สนใจติดตามเรื่องนี้ ยังเป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น เพราะจะไปกะเก็งกันให้ถูกหมดทั้ง 11 รายชื่อ มันเป็นไปไม่ได้แน่นอน
ต้องรอดูว่า ส.ว.ทั้ง 150 คนจะลงมติเลือกใครมาเป็น กสทช. แม้จะมีข่าวว่าหลายคนมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะติดโผ อาทิเช่น
สายผู้มีผลงานหรือมีความรู้และความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในสาขาด้านกิจการกระจายเสียงที่หลายคนคาดกันว่าบางชื่อน่าจะมีลุ้น อาทิ
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม อดีตบิ๊กทัพฟ้า ที่มีพรรคพวกมากมายในหมู่ส.ว.สายสรรหา ทั้งทหาร-ตำรวจ
หรือสายผู้ที่มีผลงาน หรือมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านกิจการโทรคมนาคม ที่หลายคนเก็งชื่อ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รักษาการกรรมการ กสทช.อยู่ในตอนนี้
ขณะที่สายเอ็นจีโอ เป็นอีกสายหนึ่งที่ข่าวว่า ผู้ติดโผอาจต้องตัดคะแนนกันเองเช่นในสายผู้ที่มีผลงาน หรือมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริภาคอันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงฯ ที่มีชื่อ อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร อย่าง จอน อึ๊งภากรณ์ พี่ชาย ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่หนีคดีหมิ่นสถาบันฯ อยู่ในต่างประเทศ รองประธานมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และอดีต ส.ว. กรุงเทพมหานคร รวมอยู่ด้วย และอาจต้องชิงกันเองกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ แต่ก็ยังไม่แน่
เพราะอาจมีตัวสอดแทรกอื่นๆ มาก็ได้ในสาขานี้อย่าง นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เหตุที่บอกว่ายากต่อการฟันธงว่าใครในจำนวน 44 รายชื่อที่ส.ว.จะต้องเลือกให้เหลือ 11 คนก็เพราะปัจจุบันพบว่า ส.ว.ชุดนี้ไม่ได้มีการเกาะกลุ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่เหมือนในอดีต เพราะแยกย้ายกันเกาะกลุ่มเล็กๆ ที่ตอนนี้มีอย่างกลุ่ม ส.ว.อีสาน, ส.ว.ที่แนบชิดกับเพื่อไทย, ส.ว.สรรหา, กลุ่มอดีต 40 ส.ว.เดิม
ดังนั้น การเช็กเสียง ส.ว.ในเบื้องต้นว่าใครจะเข้าวิน 11 คน จึงประเมินได้ค่อนข้างยาก
ทุกอย่างจะรอทีเดียวตอนลง“มติลับ”เลย
ทั้งนี้ กระบวนการเลือก กสทช.จะเป็นไปดังนี้ คือ เมื่อเริ่มประชุมวุฒิสภา ทางคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับการรับเลือกเป็น กสทช.ของวุฒิสภา ก็จะเสนอ “ข้อมูลลับ” ทุกอย่างของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 44 คน ในเอกสารลับที่แจกเฉพาะในห้องประชุม ที่จะมีประวัติโดยละเอียดของทั้ง 44 คน
เช่น เคยรับราชการที่ไหนบ้าง เคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัยหรือไม่ มีประวัติเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหนหรือไม่ เคยทำงานในบริษัทเอกชนที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสารมวลชนหรือกิจการโทรคมนาคมหรือไม่
เพราะแม้กฎหมายจะบัญญัติข้อห้ามไว้ว่าผู้จะเป็นกสทช. ต้องไม่เป็น หรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม แต่กฎหมายก็ห้ามเอาไว้แค่หนึ่งปีก่อนได้รับการเสนอชื่อเท่านั้น
จึงอาจมีผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคนเคยทำงานในกิจการเอกชน ที่ทำธุรกิจด้านนี้มาก่อนหลายปีที่อาจจะไปเกื้อหนุนกันภายหลังก็ได้ ตรงส่วนนี้ก็คาดว่า ส.ว.คงมีการถามกันเยอะพอสมควรในประเด็นนี้ว่า กมธ.ได้ตรวจสอบละเอียดหรือไม่?
รวมถึงการซักถามในเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของทั้ง 44 คน เช่น เคยถูกฟ้องร้องหรือถูกดำเนินคดีอาญาอะไรหรือไม่ ประวัติคนในครอบครัวของทั้ง 44 คน มีใครบ้างที่ทำงานอยู่กับบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านกิจการสื่อสารมวลชน หรือกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น
ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ คือข้อมูลลับที่จะคุยกันในห้องประชุมเท่านั้น และกรรมาธิการตรวจสอบประวัติจะต้องพร้อมในการตอบข้อซักถาม และข้อสงสัยของ ส.ว.ทุกคนที่อาจลุกขึ้นถามกรรมาธิการฯ อย่างละเอียดถึงผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 44 คน ซึ่งเป็นสาเหตุที่การประชุมจะใช้เวลานาน ก็เพราะจะกินเวลาในส่วนนี้ค่อนข้างนานมาก
หลังจากซักถามกันละเอียดแล้ว ส.ว.แต่ละคนจะได้รับบัตรลงคะแนนที่แยกรายชื่อออกเป็นแต่ละสาขาแล้วก็ต้องเลือกให้เหลือตัวแทนแต่ละด้านตามที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ จะไปเลือกผิดหลักเกณฑ์ไม่ได้ หากลงผิดก็กลายเป็นบัตรเสียไป
หลังจากนั้นก็เข้าสู่การนับคะแนน ซึ่งคนที่จะได้รับเลือกเป็น กสทช.ในแต่ละสาขา กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ
เมื่อได้รายชื่อทั้ง 11 คนแล้ว วุฒิสภาก็ต้องแจ้งให้ผู้ได้รับการเลือกทราบ แล้วก็ให้ว่าที่ กสทช.ทั้งหมดนัดประชุมร่วมกันภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือก เพื่อโหวตเลือกประธาน กสทช.และรองประธาน อีกสองคน
จากนั้นก็แจ้งผลให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
11 อรหันต์ กสทช.จะมีใครบ้าง ก็รอเฝ้าติดตามกันไป น่าจะรู้กันแน่ในวันนี้