xs
xsm
sm
md
lg

แก้แค้น ไม่แก้ไข คิวต่อไป ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ไม่ต้องรอถึง 30 วันตามที่ตัวเองขีดเส้นไว้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล  ก็ได้คำตอบสำหรับการบ้าน 4 ข้อ ที่มอบให้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เกือบครบ  ภายในเวลาไม่ถึง 24  ชั่วโมง

เป็นคำตอบที่ชัดเจนไม่ต้องตีความ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบ้านข้อที่ 1  เรื่องเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมาตั้งกองทุนความมั่งคั่ง  และการบ้านข้อสุดท้าย ที่ให้แบงก์ชาติเลิกคุมเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 3% โดยให้ไปขยับเพดานเป้าหมายเงินเฟ้อปีหน้าให้สูงกว่า 3% สองข้อนี้  ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่ได้ตอบตรงๆ  แต่ความหมายคือไม่ ได้

เรื่องกองทุนความมั่งคั่ง นายประสารอธิบายว่า ประเทศไทยไม่ได้มีเงินสำรองฯ มากอย่างที่เข้าใจกัน  เงินสำรองฯ ส่วนใหญ่เกิดจากเงินไหลเข้าของนักลงทุนต่งาชาติที่มีการลงทุนในไทยรูปแบบต่างๆ  ซึ่งจะถอนออกไปเมื่อไรก็ไม่รู้ แบงก์ชาติต้องมีเงินทุนสำรองฯ เตรียมไว้เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่นักลงทุนถอนเงินกลับออกไป นอกจากนั้น ประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศกว่าแสนล้านบาท เวลาชำระหนี้ต้องเอาเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินสำรองนี้ไปจ่าย

ดังนั้น เงินทุนสำรองฯ ที่รัฐบาลบอกว่ามีอยู่มากนั้น จึงไม่ใช่เงินเย็นเหมือนประเทศที่ร่ำรวยจากน้ำมัน หรือการส่งออก แต่เป็นเงินที่มีภาระในอนาคต

เรื่องการตั้งกองทุนความมั่งคั่งนี้ ดูเหมือนจะเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐมนตรีคลัง โดยที่ไม่มีคำอธิบายที่จะหักล้างเหตุผลของแบงก์ชาติได้ เหตุผลของนายธีระชัยที่บอกว่า ที่ผ่านมาการบริหารเงินทุนสำรองฯ ของประเทศให้ผลตอบแทนน้อย ฟังดูนึกว่าเป็นคำพูดของนักลงทุนในตลาดหุ้น หรือวาณิชธนากรที่ชอบการลงทุนแบบ high risk high return มากกว่าจะเป็นคำพูดของรัฐมนตรีคลังที่ต้องคำนึงถึงความมั่นคง ปลอดภัยของทรัพย์สินของชาติ

เป้าหมายของการลงทุนของกองทุนความมั่งคั่ง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลไม่มีคำตอบชัดเจน นายธีระชัยไม่พูดว่าจะเอาไปลงทุนแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เหมือนทีนายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานชอบพูด เพราะจะถูกนำไปโยงกับผลประโยชน์เรื่องแหล่งน้ำมัน-ก๊าซ ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร และไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ปตท.สผ.ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ ก็มีหน้าที่แสวงหาและลงทุนในแหล่งพลังงานอยู่แล้วมิใช่หรือ

ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส  และผลประโยชน์ทับซ้อนในอดีตของผู้อยู่เบื้องหลังและกุนซือในรัฐบาลนี้ ก็เป็นอีกเริ่องหนึ่งที่อาจจะทำให้แบงก์ชาติไม่สบายใจ ไม่รู้ว่ากลัวจะเกิดเหตุการณ์เหมือนครั้งที่อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ นายวิจิตร สุพินิจ ขอให้นายนิพัทธ พุกกะณะสุต รองปลัดกระทรวงการคลัง  ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาครออมสิน สั่งให้แบงก์ออมสิน  ซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือบีบีซี เป็นเงิน 375 ล้านบาท ทั้งๆ ที่นายวิจิตรและนายนิพัทธต่างรู้อยู่แก่ใจว่าฐานะของแบงก์บีบีซีเป็นอย่างไร สุดท้ายแบงก์บีบีซีเจ๊ง ธนาคารออมสินสูญเงินลงทุนทั้งหมดไป   

บังเอิญว่า  ทั้งนายวิจิตร และนายนิพัทธ ต่างก็เป็นกุนซือของนายธีระชัย ไม่รู้ว่าความบังเอิญนี้จะทำให้แบงก์ชาติคิดมากเกินไปหรือเปล่า  

สำหรับเรื่องกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ต้องการให้แบงก์ชาติขยับให้สูงกว่า 3% ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติตอบว่า กรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันที่อยู่ระหว่าง 0.5-3% เหมาะสมแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินไม่ควรเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะจะทำให้ตลาดการเงินขาดเสถียรภาพ และนักลงทุนวางแผนยาก

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลังกับธนาคารกลางซึ่งดูแลนโยบายการเงิน เป็นเรื่องปกติ เพราะนักการเมืองชอบนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย รัฐบาลใช้จ่ายเยอะๆ ลดภาษีให้ต่ำ ดอกเบี้ยถูกๆ ปล่อยกู้มากๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ประชาชนจะได้พอใจ ส่วนธนาคารกลาง โดยวัฒนธรรมมักจะคอยดึงไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป จากนโยบายของนักการเมืองเพราะกลัวว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ และเกิดเงินเฟ้อ โดยการขึ้นดอกเบี้ย และส่งสัญญาณท้วงติงรัฐบาลเมื่อเห็นว่าชักจะใช้จ่ายเงินเกินตัวมากไปแล้ว

รัฐบาลนี้ต้องพิสูจน์ว่าเหนือกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว ในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและในทันที พร้อมๆ กับสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่า  เศรษฐกิจไทยมีปัญหา รัฐบาลต้องเข้ามากอบกู้ ซึ่งไม่จริง เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่แข็งแกร่ง มั่นคง  แต่ไม่ได้มีปัญหารุนแรงอย่างที่รัฐบาลนี้กำลังสร้างความเชื่อให้กับประชาชน การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ถูกกระตุกจากแบงก์ชาติเป็นระยะๆ ทั้งการออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยม   และการใช้เครื่องมือที่มีอยู่ คือ การขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าขัดแย้งกับนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของตน          

ความขัดแย้งเรื่องนโยบายการเงิน ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ เป็นเรื่องปกติ แต่ความขัดแย้งระหว่างนายธีระชัย กับนายประสาร เป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกีย่วข้องด้วย  เพราะนายประสาร รวมทั้ง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ ถูกรัฐบาลมองว่า คือพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องโละทิ้ง ตามนโยบาย “แก้แค้น ไม่แก้ไข”

นอกจากนั้น  หากมองถึงกุนซือ  ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังนายธีระชัย กับ ม.ร.ว.จัตุมงคล  โสณกุล  ประธานแบงก์ชาติ ความขัดแย้งนี้ก็เป็นความขัดแย้งข้ามทศวรรษ ที่มีที่มาในยุคไอเอ็มเอฟ ที่หม่อมเต่าเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เป็นความัขดแย้งจากยุค “ขายชาติ”  ที่คงอยู่ต่อเนื่องมาถึงยุค “ปล้นคลังหลวง”

พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย  พ.ศ. 2551  ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ ในกรณีที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ  โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ลงมติให้ออก แต่กฎหมายป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีคลังใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยเขียนไว้ว่า  “โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง”

การจะปลดนายประสารจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่นายธีระชัยจะไปหาเหตุผลอย่างชัดแจ้งมาอธิบายต่อสังคม เพราะหากเทียบกันแล้ว คำอธิบายของนายประสารในเรื่องนโยบายการเงิน มีความชัดแจ้งกว่านายธีระชัยมาก นายประสารเพิ่งจะได้รับการประเมินผลงานจากคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยคะแนนร้อยละ 85 มีผลงานที่ดีและน่าพอใจเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านพีอาร์องค์กร

วิธีเดียวที่จะเขี่ยนายประสารให้พ้นทางไป คือ “ขย่ม” ให้ถอดใจ แบบที่ ร.ต.อ เฉลิม อยู่บำรุง ทำกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ร.ต.อ.เฉลิม ใช้เรื่องบ่อนกดดันให้ พล.ต.อ.วิเชียร ยอมลุกจากเก้าอี้แต่โดยดี นายธีระชัยใช้วิธีตั้งโจทย์ 4 ข้อให้นายประสารตอบ ซึ่งนายประสารตอบมาแล้ว       

สุดท้ายขึ้นอยู่กับนายประสารว่าจะตัดช่องน้อยแต่พอตัวเหมือน พล.ต.อ.วิเชียรหรือไม่  และขึ้นอยู่กับพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยว่า จะกล้าปกป้ององค์กรหรือไม่

ที่สำคัญที่สุดคือ ขึ้นอยู่กับศิษยานุศิษย์ของหลวงตามหาบัว ว่ายังจำพินัยกรรมหลวงตาได้หรือไม่ และจะพร้อมใจกันปกป้องคลังหลวงอย่างไร
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น