ศาลปกครองกลางนั่งพิจารณาคดีตุ๊ด ฟ้องขอกลาโหมแก้ถ้อยคำในใบ ส.ด.43, ส.ด.5, ส.ด.9 หลังเขียนเป็น “โรคจิตถาวร” ตุลาการผู้แถลงคดี ชี้ พวกยังไม่แปลงเพศยังไม่เป็นโรคจิต แค่เปลี่ยนสภาพชั่วคราว ชี้ ต้องเปลี่ยนคำเป็น “กะเทย” แทน ศาลนัดฟังคำพิพากษา 13 ก.ย.เจ้าทุกข์สุดดี๊ด๊า หวังเปลี่ยนกฎกระทรวงด้วย
วันนี้ (30 ส.ค) ที่ศาลปกครอง องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง ที่มี นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ได้ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่ นายสามารถ มีเจริญ และพวก ซึ่งเป็นสาวประเภทสอง ฟ้องขอให้ศาลปกครองสั่งให้ รมว.กลาโหม แก้ไขถ้อยคำในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (ส.ด.43) และใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (ส.ด.5) และใบสำคัญให้รับราชการทหาร (ส.ด.9) ของสาวประเภทสองที่เข้ารับการตรวจเลือกเมื่อปี 2548 ที่มีการระบุว่า เป็นบุคคลที่จัดอยู่ในประเภทกลุ่มคนทุพพลภาพ “เป็นโรคจิตถาวร” ไม่สามารถจะรับราชการได้
โดยคณะตุลาการได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีแถลงเพิ่มเติมเป็นเอกสาร และให้ นายกฤตยชญ์ ศิริเขต ตุลาการผู้แถลงคดีที่อยู่นอกองค์คณะได้ แถลงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ผูกพันต่อการวินิจฉัยขององค์คณะ ซึ่งเห็นว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะมีคำวินิจฉัย และเห็นว่ารมว.กลาโหม มีอำนาจในการแก้ไขข้อความใน ส.ด.43 ได้ ซึ่งคดีดังกล่าวเห็นว่า องค์การอนามัยโลก และทางการแพทย์ไทย มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนสภาพอวัยวะ ไม่ถือว่าเป็นโรคจิตถาวร ซึ่งรวมไปถึงผู้กินฮอร์โมนเพื่อทำให้มีสภาพร่างกายมีหน้าอกคล้ายเพศหญิงนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายชั่วคราว ยังสามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่หากผู้ที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายก็จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นโรคจิตถาวร
โดยในกรณีของ นายสามารถ และพวกนั้นยังไม่ได้มีการเปลี่ยนสภาพร่างกายไปเป็นหญิงจึงไม่ถือว่าเป็นโรคจิตถาวรตามความเห็นของแพทย์ ดังนั้น การลงความเห็นของ รมว.กลาโหม ในใบ ส.ด.43 ของ นายสามารถ เมื่อเข้ารับการคัดเลือกทหารกองเกินปี 2548 ว่า นายสามารถ จัดอยู่ในประเภทกลุ่มคนทุพพลภาพ เป็นโรคจิตถาวร จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะ นายสามารถ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกาย จึงมีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้รมว.กลาโหม แก้ไขจากคำว่า “โรคจิตถาวร” เป็นคำว่า “กะเทย” โดยให้มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อความภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จากนั้นตุลาการเจ้าของสำนวนได้นัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ก.ย.ในเวลา 10.00 น.
ด้าน นายสามารถ กล่าวหลังฟังคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีว่า ส่วนตัวรู้สึกดีใจ แต่ขอรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ก.ย.ก่อน หากเหมือนกับตุลาการผู้แถลงคดีก็น่าจะมีผลต่อการผลักดันเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง ที่มีการดำเนินการกันตั้งแต่ปี 2549 จนถึงขณะนี้ และทราบว่าจะมีการใช้คำว่า “สภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” แทน แต่ยังไม่ได้ส่งเรื่องไปยังครม.เพื่อให้มีการแก้ไข ทั้งนี้การการเข้ารับฟังการพิจารณาคดีวันนี้ก็ได้มีการเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจำนวน ประมาณ 20 คน มาให้กำลังใจโดยได้มีการกางร่ม 7 สีหลายคัน ที่เป็นสัญลักษณ์ขององค์กรสีรุ้งด้วย