xs
xsm
sm
md
lg

อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์ เชื่อแบ่งเขตบกไทย-เขมร ไม่กระทบทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

7 กมธ.วุฒิสภา เสวนา “มรดกโลกกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” ถกข้อพิพาทจากคำสั่งศาลโลก-กก.มรดกโลก “อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์” ระบุ ไทย-กัมพูชา ต่างฝ่ายต่างปล่อยสัมปทานพลังงาน เพื่ออ้างเขตแดนตัวเอง แนะฝ่ายการเมืองอย่าล้วงลูกคณะทำงาน ชี้ขั้นตอนซับซ้อนหาประโยชน์ยาก เชื่อ เขตแดนทางบกไม่กระทบในทะเล ยัน “เกาะกูด” เป็นของไทยทั้งเกาะ ด้าน “เมียปิยสวัสดิ์” อ้างรัฐ “มาร์ค” ไม่เลิกเอ็มโอยู 44 เหตุหวั่นกระทบความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน

วันนี้ (26 ส.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “มรดกโลกกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภา 7 คณะ อาทิ กมธ.การต่างประเทศ กมธ.การปกครองและ กมธ.การทหาร เป็นต้น โดย พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคทางทะเลฝ่ายไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทย-กัมพูชา ที่รัฐบาลสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนได้ พบว่า มีมากถึง 2.6 หมื่น ตร.กม.และมีแหล่งพลังงานอยู่มหาศาล เบื้องต้นเชื่อว่า แหล่งพลังงานจะอยู่ในฝั่งไทยมากกว่าฝั่งกัมพูชา เนื่องจากลักษณะสัณฐานของภูมิประเทศที่มีส่วนเว้า ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่า ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวรัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้มีการให้สัมปทานบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาขุดเจาะหาพลังงานกันแล้ว โดยรัฐบาลไทยได้ให้สัมปทานไปแล้วตั้งแต่ปี 2511 กับหลายบริษัท เช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เช่นเดียวกับรัฐบาลกัมพูชาที่ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน ตั้งปี 2540

“ในพื้นที่สัมปทานในพื้นที่กัมพูชา ยังมีปัญหาคือ หากขุดก๊าซแล้วจะไปไหนต่อ เพราะทางประเทศกัมพูชาไม่มีท่อก๊าซ และไม่มีโรงแยกก๊าซ ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาคิดว่าจะขายให้กับฝั่งไทย แต่ก็มีปัญหาด้านการเมืองก่อน แต่คิดว่าปัญหานี้น่าจะเจรจากันได้เร็วๆ นี้ ส่วนผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นประเด็นผลโยชน์ของบุคคล ผมไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เพราะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่หลายหน่วยงาน เรื่องการเจรจานี้ยังมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่ ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลคณะทำงานชุดนี้ยังทำงานอยู่ ควรปล่อยให้คณะนี้ทำงานต่อไป อย่าได้ล้วงลูก และเรื่องซุกผลประโยชน์ ผมว่าไม่มีทาง เพราะตั้งแต่โบราณกระบวนการเจรจาได้ถูกเซทไว้อย่างเป็นระบบแล้ว” พล.ร.อ.ถนอม กล่าว

ทั้งนี้ พล.ร.อ.ถนอม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการบรรยายว่า การตั้งข้อสังเกตของหลายฝ่ายที่กังวลในประเด็นแหล่งพลังงานทางอ่าวไทย ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ว่า ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศ ประกาศว่า เป็นพื้นที่ของตนเองฝ่ายเดียว ซึ่งไม่มีผลรับรอทางกฎหมาย เพราะตามกฎบัตรสหประชาชาติ ระบุว่า ในพื้นที่ทับซ้อนต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศให้ได้ข้อยุติก่อน ขณะนี้ตนเห็นว่าแนวทางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ต้องมีการเจรจากันและมีขั้นตอนอีกมา ดังนั้น เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ด้านพลังงาน จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ดังกล่าวต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทกศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทางทหาร กรมสนธิสัญญา กรมเชื้อเพลิง เป็นต้น และที่สำคัญต้องผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

พล.ร.อ.ถนอม กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องกรณีที่ศาลโลกกำลังวินิจฉัยเรื่องปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ยืนยันว่า การพิจารณาของศาลโลกจะพิจารณาเฉพาะการปักปันทางบก ถึงหลักเขตที่ 73 ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องถึงเขตแดนทางทะเล และไม่ได้ผ่ากลางเกาะกูดอย่างที่หลายฝ่ายซึ่งไม่มีความเข้าใจออกมาวิจารณ์ เพราะในอดีตมีหลักฐานที่ฝ่ายกัมพูชายอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยหลายอย่างอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไป พล.ร.อ.ถนอม กล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าวยังไม่ได้มีการยกเลิก เป็นเพียงการเห็นชอบในหลักการเท่านั้น และส่งเรื่องต่อให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งขณะนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ ดังนั้น เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องพิจารณาต่อไป ความเห็นส่วนตัวมองว่าหากมีการยกเลิกเอ็มโอยู 44 นั้นเท่ากับเป็นการล้มการเจรจาที่ผ่านมาตั้งปี 2513 ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นไม่รู้กี่ปีจะได้ใช้พลังงานในพื้นที่ดังกล่าว

ด้าน นางอานิก อัมระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ซึ่งได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายด้วย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า สาเหตุที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 อย่างเด็ดขาด โดยการนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภานั้น เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกรณีที่คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้ความเห็นชอบในหลักการเพื่อยกเลิกนั้น เป็นเพียงการแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาได้เขียนขึ้น ส่วนสาเหตุที่มาเรียกร้องในรัฐบาลชุดใหม่ เป็นเพราะต้องแสดงจุดยืนว่าเราคัดค้านและในเอ็มโอยู 44 ยังไม่มีการตกลงเรื่องการจัดสรรพลังงานที่แน่ชัด เกรงว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น