ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังไม่ทันที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย จะได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็มีเรื่องร้อนๆ เกิดขึ้นหลายเรื่อง
ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตัวจริง เป็นคนเคลื่อนไหวเปิดประเด็น เช่น การจะไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ที่ญี่ปุ่น โดยการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการประสานกับทางการญี่ปุ่น ในการขอวีซ่า เข้าประเทศ
อีกเรื่องที่ร้อนพอกันคือ กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ เตรียมพานักธุรกิจในต่างประเทศ ไปพบสมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจพลังงานปิโตรเลียม ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทย ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ชัดเจนถึงเส้นเขตแดน
แหล่งพลังงานในทะเลแห่งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเร่งที่จะดำเนินการต่อจากที่ได้เริ่มต้นไว้ เมื่อครั้งที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ สมเด็จฮุนเซน ก็เร่งที่จะกำหนดเขต เพื่อให้สัมปทานต่างชาติ เอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ หากมองด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าเป็นคนไทยคนหนึ่ง หากสามารถช่วยเหลือประเทศได้ในทางใดทางหนึ่ง และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีแนวทางที่จะพัฒนาด้านพลังงาน และพยายามผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยังเป็นภาพหลอนคนไทย คือ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และ การทุจริตเชิงนโยบาย
ดังนั้นการจะดำเนินการใดๆ ต้องมีความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส ซึ่งเรื่องนี้ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรแถลงให้ชัดเจนว่า การเจรจาเรื่องแหล่งพลังงานครั้งนี้ จะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีผลประโยชน์ของกลุ่มนักการเมือง และกลุ่มทุนใดทุนหนึ่งแอบแฝงอีก
ที่สำคัญคือ หากรัฐบาลจริงใจที่จะทำการด้วยความโปร่งใส ก็ควร เสนอให้เปิดประชุมรัฐสภา ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ เพื่อให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใส และใช้เวทีของการรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เป็นที่เคลียร์ข้อสงสัย รวมถึงชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้ไว้วางใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ เพราะพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น มีขนาดพื้นที่มาก ถึง 27,000 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งเส้นแดนทางทะเลที่ประเทศกัมพูชาขีดไว้ เป็นไปอย่างผิดธรรมชาติ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการคุยถึงรายละเอียด หากรัฐบาลตั้งใจผลักดันเรื่องพลังงานเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ควรใจกว้างที่จะรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาด้วย
อย่างุบงิบ รีบร้อน จนทำให้ประเทศชาติต้องเสียผลประโยชน์ เพราะเรื่องใหญ่เช่นนี้ หากไม่มีความโปร่งใส จะส่งผลให้รัฐบาลอายุสั้นได้