xs
xsm
sm
md
lg

ทำบุญไถ่บาป บริจาคเงินสร้างกุศล เห็นผลทันตา ต้องทำบุญกับมูลนิธิไทยคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ถูกกล่าวหาว่าให้การเท็จเพื่อเลี่ยงภาษี 546 ล้านบาท น่าจะเปลี่ยนทัศนคติของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมว่า เป็นกระบวนการยุติความเป็นธรรม และศาลไทยเป็นศาลมิกกี้เมาส์ได้อย่างสิ้นเชิง

เพราะคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อวานนี้ แสดงให้เห็นว่า ศาลให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ จึงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ที่ให้จำคุกนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน คนละ 3 ปี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน 2 ปี เป็นการลดโทษจำคุกนายบรรณพจน์เหลือ 2 ปี ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่จะได้รอการลงอาญา และเพิ่มโทษปรับ 1 แสนบาท เพื่อเป็นการลงโทษที่นายบรรณพจน์หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีให้แผ่นดิน 546 ล้านบาท

ส่วนคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา ให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ ยืนยันว่า มีการเลี่ยงภาษี 546 ล้านบาทจริง คนผิดคือนายบรรณพจน์คนเดียว แต่ได้รับการลงโทษสถานเบา ส่วนเงินภาษี 546 ล้านบาทนั้นที่นายบรรณพจน์มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แผ่นดินนั้น ไปฟ้องจากนายบรรณพจน์ไม่ได้ เพราะคดีหมดอายุความแล้ว

ในขณะที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนรวย จำเลยที่สองเป็นภรรยานายกรัฐมนตรี นอกจากจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเหมือนพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ให้สมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม แต่กลับร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆ ที่ภาษีที่ต้องเสียนั้น เทียบไมได้เลยกับเงินทองที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง

ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่า ความรับผิดทางอาญา ตามประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการเสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อถูกตรวจสอบเรื่องการรับโอนหุ้นก็ยอมรับว่าได้มาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนหรือมีชื่อเสียงเป็นผู้อิทธิพล ผู้ประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต โดยจำเลยที่ 1 เคยรับราชการมาก่อน และสร้างคุณงามความดีให้แก่สังคมด้วยการบริจาคเงินจำนวนมากให้แก่มูลนิธิไทยคม เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส จึงให้รอลงอาญา 1 ปี

ผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายจำนวนมาก คงจะด่วนสรุปด้วยสามัญสำนึกและอคติว่า คำตัดสินของศาลจะเป็นบรรทัดฐานให้คนรวยที่ทำผิดใช้เป็นแบบอย่างด้วยการบริจาคเงิน ทำการกุศลมากๆ นอกจากจะลดหย่อนภาษีเงินได้แล้ว ยังอาจใช้เป็นข้ออ้างขอให้ศาลลดโทษได้ด้วย ดังเช่นกรณีของนายบรรณพจน์ ที่นอกจากจะนำเงินที่บริจาคให้กับมูลนิธิของตระกูลชินวัตรไปลดหย่อนภาษีได้แล้วยังได้บุญทันตาเห็น สามารถใช้เป็นเหตุขอลดโทษจากการโกงภาษี 546 ล้านบาทได้ด้วย ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เหมือนกับเรื่องการทำบุญเพื่อล้างบาปหรือตัดกรรม ที่ต้องแยกกันระหว่างความดีกับความชั่ว จะเอาไปหักลบกลบล้างกันไม่ได้

ความจริงแล้ว การรอลงอาญาเพราะบริจาคเงินให้มูลนิธิไทยคมนั้น ไม่ใช่ว่าศาลจะคิดเอาเองตามใจชอบ แต่เป็นสิ่งทีกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา บอกว่าทำได้ เพราะเข้าข่าย เหตุบรรเทาโทษ คือ ผู้กระทำความผิด เป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้าย แห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน หรือให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือ เหตุอื่น ที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน

การบริจาคเงินให้มูลนิธิไทยคม ที่ได้ทั้งบุญ ได้ลดหย่อนภาษี และได้ลดโทษ คงจะเข้าข่าย “เหตุอี่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน”

จะเห็นได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาตัวบทกฎหมายอย่างกว้างขวางเพื่อให้จำเลยได้รับความยุติธรรมมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย คนที่ไม่มีเงินมากพอที่จะไปบริจาคเงินให้มูลนิธิไทยคม ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า จะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรม เพราะ “เหตุอื่น ที่ศาลเห็นว่า มีลักษณะทำนองเดียวกันนั้น” ไม่จำเป็นต้องเป็นการบริจาคเงินให้มูลนิธิไทยคมเท่านั้น จะบริจาคเลือด ตักบาตรทุกเช้า สวดมนต์ทุกเย็น หรือยืนตรงเคารพธงชาติ ทุกเช้าเย็น ก็อาจเป็นเหตุให้ได้รับการบรรเทาโทษได้ หากเข้าข่าย “คุณความดีที่มีมาก่อน”

ส่วนกรณีของคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภา ที่ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ก็เพราะศาลคล้อยตามข้ออุทธรณ์ของคุณหญิงพจมานที่ว่า ที่คุณหญิงพจมานถูกกล่าวว่า มีพฤติกรรมอำพราง ทำทีว่าขายหุ้นชินคอร์ป 4.5 ล้านหุ้นให้นายบรรณพจน์ผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีนั้น เป็นเพราะคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา เข้าใจว่า การโอนหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้บุคคลอื่นนั้น ต้องใช้วิธีซื้อขายในตลาดเท่านั้น

เหมือนกับคดีซุกหุ้นภาค 1 เมื่อปี 2544 ที่คุณหญิงพจมานอ้างว่า ที่ไม่แจ้งทรัพย์สินที่โอนให้บุคคลอื่นแทนก็เป็นเพราะความไม่รู้ว่าว่าหุ้นที่อยู่ในชื่อนอมินีต้องแจ้งด้วย ไม่ได้มีเจตนาซุกหุ้นเลย ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากก็เชื่อตามนี้

การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ก็เป็นไปตามบทบัญญัติตามกฎหมาย ที่ว่า ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษบุคคลใด พยานหลักฐานในคดีนั้นต้องมั่นคงแน่นหนาและมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากพยานหลักฐานในสำนวนมีข้อพิรุธน่าระแวงสงสัย ไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์

คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภา จึงเป็นคำตัดสินที่มีมาตรฐานตามตัวบทกฎหมายอย่างแท้จริง
รวย ซุกหุ้น โกงภาษี ให้การเท็จ ครอบครัวตัวอย่าง
รวย ซุกหุ้น โกงภาษี ให้การเท็จ ครอบครัวตัวอย่าง
คดีนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ คดีที่มีหุ้นชินคอร์ เป็นหัวใจของเรื่อง ที่ผัวและเมีย พ่อและแม่ พี่ชายและพี่สะใภ้ ปกปิด ซุกซ่อน การถือครองหุ้นที่รัฐธรรมนูญห้ามผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมืองถือหุ้นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ แต่ด้วยนิสัยที่ไม่เคารพกฎหมาย จึงเอาหุ้นไปซุกไว้กับคนใช้ คนขับรถ ไปซ่อนไว้กับลูกชาย ลูกสาว พี่ชายกับน้องสาว เมื่อถูกจับได้ ก็ช่วยกัน โกหก ให้การเท็จต่อศาลว่า เป็นหุ้นของตัวเอง แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาได้ ศาลจึงเห็นว่า โกหกจนกลายเป็นชนักติดหลังนายกรัฐมนตรีโคลนนิ่ง คนแรกของโลก อยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น