ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ แค่เวลาทำงานยังสรุปไม่ได้ เหตุเพื่อไทยหลังยาวขอประชุมบ่ายโมง อ้างช่วงเช้าขอประชุม กมธ. ขณะที่ ปชป.เสนอให้ประชุม 09.30 น.เพื่อให้ทำงานได้มาก สุดท้าย “สมศักดิ์” โยนให้ไปโหวตในสภาฯ ส่วน “รองฯ เจริญ” นัดแบ่งโควตา กมธ.พรุ่งนี้ รับหากรัฐบาลยึดงานที่ตรงกับกระทรวงของพรรคตัวเองเกิดปัญหาแน่ ขู่หากฝ่ายบริหารไม่ให้ความร่วมมือ กมธ.เจอโทษหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (16 ส.ค.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมตัวแทนพรรคการเมือง โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วม เช่น นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน จากพรรคเพื่อไทย นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก จากพรรคประชาธิปัตย์ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ร.ต.ประพาส ลิมปพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครักประเทศไทย เป็นต้น เพื่อหารือถึงกำหนดวันเวลาในการประชุมสภาฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเวลาในการประชุมว่าจะเริ่มเวลาใด โดยนายวิทยา ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังยืนยันที่จะให้เริ่มประชุมเวลา 09.30 น.จะได้ทำงานให้ได้มากที่สุด ขณะที่นายไพจิตเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีมติแล้วว่าควรจะเริ่มประชุม 13.30 น.เพราะช่วงเช้าควรให้ ส.ส.มีเวลาประชุมกรรมาธิการสามัญและกรรมาธิการวิสามัญได้อย่างเต็มที่
ด้าน นายภราดรกล่าวว่า จากการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมาก็พบปัญหามากมายในเรื่ององค์ประชุมในการติดตามตัว ส.ส.มาร่วมประชุมให้ครบองค์ประชุม การประชุมช่วงเช้าทุกคนก็รู้ดีว่าเป็นอย่างไร ทั้งการจราจรติดขัด ดังนั้น ขอให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกัน พบกันคนละครึ่งทาง อาจจะขยับเวลาการประชุมมาเป็น 11.00 น.หรือ 12.00 น.ก็ได้ เพราะไม่อยากให้เปิดประชุมสภามาแล้วมาโหวตกันเรื่องเวลา ซึ่งไม่เป็นสาระ อยากถามว่าไม่อายสังคมบ้างหรือ ทั้งที่ควรจะนำเวลาไปทำงานด้านอื่นมากกว่า
ภาพหลังจากถกเถียงกันกว่า 30 นาที ที่ประชุมก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะ 2 พรรคใหญ่ต่างก็ยืนยันในจุดยืนเดิม สุดท้ายประธานในที่ประชุมสรุปว่าให้ลงมติในการประชุมสภาฯในวันที่ 17 ส.ค. จากนั้นนายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ความเห็นต่างกันเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นสีสัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ต้องโหวตกันในสภาฯก็ไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมสภาที่ผ่านมาก็เริ่มประชุมกันเวลา 13.30 น.อยู่แล้ว เพิ่งมาเปลี่ยนช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา
นายสมศักดิ์ยังได้กล่าวถึงกรณีการแถลงนโยบายรัฐบาลว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานมา แต่หากส่งเรื่องก็จะเร่งบรรจุวาระการประชุมทันที ส่วนวันเวลาที่เคยปฏิบัติกันมาก็มีทั้ง 2-3 วัน เพราะฉะนั้นจะมีการอภิปรายกี่วันขึ้นอยู่กับการหารือวิป 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ส.ค.) ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เข้าประชุมเพื่อหารือถึงตำแหน่งสัดส่วนประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาฯ ทั้ง 35 คณะ โดยกรอบการพิจารณายังคงยึดตามประเพณีเดิม คือ ไม่จำเป็นที่ประธาน กมธ.ที่เกี่ยวกับกระทรวงภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลจะต้องมาจาก ส.ส.รัฐบาล โดยขอให้เป็นความเห็นร่วมกันของที่ประชุมกันเองเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพราะถ้า ส.ส.ไปเอา กมธ.ที่เป็นงานของรัฐบาลทั้งหมดอาจทำให้เกิดปัญหาได้
“ต้องการให้การจัดสรรคณะ กมธ.เสร็จสิ้นภายในเดือน ส.ค.นี้เพื่อให้การทำงานของสภาฯ เดินหน้าได้ทันทีภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล ส่วนการรวมเสียงของพรรคเล็กเพื่อต่อรองขอตำแหน่งประธาน กมธ.คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของตัวแทนพรรคการเมืองว่าจะมีความเห็นร่วมกันว่าอย่างไร ถ้าที่ประชุมเห็นด้วยส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหา” นายเจริญกล่าว
รองประธานสภาฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้เตรียมการที่จะประชุมกับทุกพรรคการเมืองด้วยถึงแนวทางในการทำงานของ กมธ.และการให้ความร่วมมือกับ กมธ.ด้วย โดยเฉพาะบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากตอนนี้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ. 2554 แล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีสภาพบังคับให้บุคคลต้องเข้ามาให้ข้อมูลต่อ กมธ.ตามที่ กมธ.มีหนังสือเรียกไป ถ้าไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่สมควรแก่เหตุจะมีบทลงโทษตามกฎหมายได้ กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมาในกรณีที่ฝ่ายบริหารไม่ให้ความร่วมมือกับการทำงานของ กมธ. ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีการประกาศใช้กฎหมายจึงมีความจำเป็นที่ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน