xs
xsm
sm
md
lg

มติสภา 273 เสียงเลือกเปิดประชุมวันพุธ 13.00 น.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาเปิดประชุมโหวตเวลาประชุมสภา ก่อนมติ 273 เสียง เลือกประชุมวันพุธบ่ายโมงถึงสามทุ่ม พฤหัสฯ สิบโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ส.ส.เพื่อไทยแห่หนุนเปิดสภาวันพุธบ่ายโมง ยันไม่ได้ขี้เกียจ กลัวการตรวจสอบ “นิพนธ์” หวั่นเย็นๆ ส.ส.โดดหายจ้อย


วันนี้ (17 ส.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยเป็นการเปิดให้สมาชิกได้หารือถึงปัญหาของประชาชนในเรื่องต่างๆ โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอหารือในที่ประชุมว่า จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะได้ไปเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ซึ่งประชาชนได้ฝากให้มาบอกกับรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องการเงินช่วยเหลือ 2,098 บาท เหมือนตอนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เคยให้กับทุกคน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลใหม่อนุมัติเงินก้อนนี้ให้ชาวนาด้วย นอกจากนี้ ประชาชนยังเคยได้เงินส่วนต่างประกันรายได้ มาตอนนี้เมื่อโดนน้ำท่วมก็ไม่มีข้าวไปเข้าโครงการจำนำ จึงอยากให้เอาเงินส่วนต่างรายได้ไปช่วยน้ำท่วมนาด้วย ส่วนกรณีเงินชดเชยจากน้ำท่วมบ้านนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็เคยให้ 5,000 บาท จึงอยากฝากให้รัฐบาลใหม่ทำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ต่อไปด้วย

จากนั้นเป็นวาระหารือเรื่องการกำหนดวันและเวลาการประชุมสภาฯ ที่ต่อเนื่องมาจากการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.สัปดาห์ก่อน ที่มีมติสรุปร่วมกันว่าให้มีการประชุมสภาฯ ในวันพุธและวันพฤหัสบดี

โดยนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เสนอว่า จากเดิมตนเสนอญัตติให้มีการประชุมในวันพุธ โดยเริ่มประชุมในเวลา 13.30 น. ไม่มีกำหนดเวลาปิดประชุม และวันพฤหัสบดีเริ่มเวลา 10.00 น. ส่วนเวลาปิดประชุมก็เป็นดุลพินิจของประธาน ทั้งนี้ ตนขอถอนญัตติประชุมวันพุธเวลา 13.30 น. ส่วนวันพฤหัสฯ ยังเป็นญัตติเดิมคือ เริ่มประชุมเวลา 10.00 น. โดยไม่กำหนดเวลาเลิกประชุม

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนขอเสนอญัตติให้วันพุธเริ่มประชุมเวลา 13.00-21.00 น. วันพฤหัสบดีเริ่มประชุมเวลา 10.00-18.00 น. การที่ตนเสนอเวลาปิดด้วย ทั้งที่ไม่ควรเสนอเพราะเป็นอำนาจของประธานนั้น แต่ที่ตนจำเป็นต้องเสนอเพื่อเป็ฯการสแดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจากการที่ประชาชนมอบอำนาจหน้าที่ให้เรา การกำหนดระยะเวลาเป็นนัยสื่อถึงประชาชนว่าการประชุมแต่ละวันสภาฯ ก็ไม่ได้ทำงานไม่น้อยกว่าภาคราชการที่ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ตนจึงได้เสนอเวลาปิดประชุมเอาไว้ นอกจากนี้ ให้ใช้วันอังคารและวันศุกร์ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ประธาน กมธ.แต่ละคณะจะนัดประชุมวันไหน

จากนั้นประธานได้สรุปว่า ขณะนี้มีทั้งหมด 4 ญัตติ ซึ่งรวมจากข้อเสนอเดิมในที่ประชุมระหว่างประธานสภาฯ และคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ของทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) คือ นายไพจิตเสนอให้ประชุมวันพฤหัสบดีเวลา 10.00 น. โดยไม่กำหนดเวลาเลิกประชุม ญัตติของ นพ.ชลน่าน เสนอให้ประชุมวันพุธเวลา 13.00-21.00 น. ส่วนวันพฤหัสบดีประชุมเวลา 10.00-18.00 น. นพ.วรงค์เสนอญัตติให้เริ่มประชุมเวลา 09.00 น.ทั้ง 2 วันโดยให้เลิกประชุมหลัง 17.00 น.เป็นต้นไป และญัตติของนายบุญจง วงไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ที่เสนอให้เริ่มประชุมเวลา 09.00 น.ทั้ง 2 วัน แต่วันพุธขอให้เลิกประชุมเวลา 19.00 น. ส่วนวันพฤหัสเลิกประชุมเวลา 17.00 น.

จากนั้นประธานได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย เช่น นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี นายปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ ต่างอภิปรายสนับสนุนญัตติของ นพ.ชลน่าน ที่เสนอให้ประชุมวันพุธเวลา 13.00-21.00 น. ส่วนวันพฤหัสบดีประชุมเวลา 10.00-18.00 น. โดยอ้างว่าการประชุมตอนบ่ายไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ส.ส.ขี้เกียจหรือขยัน แต่การทำหน้าที่ต่างหากจะเป็นการแสดงให้ประชาชนเห็นเอง นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ และยืนยันว่าการประชุมบ่ายไม่ได้เป็นไปตามข้อครหาว่าฝ่ายรัฐบาลกลัวการตรวจสอบจากฝ่ายค้านแต่อย่างใด

ขณะที่ นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขอเสนอให้อยู่ระหว่างกลางของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ให้เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.30 น. และไม่เสนอเวลาปิดประชุม ตนไม่อยากให้มีภาพในการโหวตตั้งแต่การประชุมสภาฯ วันแรก ถ้าบ่ายโมงก็กลัวว่าพอตกเย็นสมาชิกจะเริ่มหายหมด แรกอาจจะครบองค์ประชุมไม่มีปัญหา แต่หากนานเข้าก็ไม่แน่ ตนอยากให้พึงสังวรว่าระยะเวลาการเป็น ส.ส.เราสม่ำเสมอในการทำงานอยากให้สมาชิกพึงตระหนัก ทั้งนี้ อาจจะเลิกประชุมสภาฯ โดยประมาณ 18.00 น.หรือ 19.00 น.ก็ได้

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครักประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้มีการลงมติโหวตเลย เราจะได้เดินหน้าได้แล้ว เราอภิปรายกันอย่างกว้างขวางพอแล้ว เพราะเราเถียงกันมาหลายวันแล้ว ซึ่งตนขอเสนอให้มีการปิดอภิปรายและลงมติเลย

จากนั้นประธานได้ให้ที่ประชุมกดบัตรแสดงตนก่อนจะโหวตลงมติกำหนดวันและเวลาการประชุมสภาฯ ซึ่งมีผู้เข้าประชุมทั้งหมด 427 ถือว่าครบองค์ประชุม จากนั้นที่ประชุมได้โหวตลงมติ โดยประธานได้เสนอว่าหากใครเห็นด้วยในญัตติของ นพ.ชลน่าน กดหมายเลข 2 หากเห็นด้วยญัตติของ นพ.วรงค์ กดเลข 3 และเห็นด้วยกับนายบุญจง กดหมายเลข 4 ผลการลงคะแนนปรากฏว่า มีสมาชิกเห็นด้วยกับญัตติของ นพ.ชลน่านมากที่สุด คือ 273 เสียง ให้วันพุธเริ่มประชุมเวลา 13.00-21.00 น. ส่วนวันพฤหัสบดีประชุมเวลา 10.00-18.00 น.

จากนั้นเข้าสู่วาระการกำหนดวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ โดยนายไพจิตได้เสนอเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 21 ธ.ค. 2554 - 18 เม.ย. 2555 โดยไม่มีใครคัดค้าน ที่ประชุมจึงสรุปให้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นสมัยประชุมนิติบัญญัติ จากนั้นประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุมไปเวลา 11.45 น.ทันที











กำลังโหลดความคิดเห็น