คอป.เผยชดเชยเยียวยาต้องมีหลักเกณฑ์เท่าเทียมทุกฝ่าย มองประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ก้าวข้ามความขัดแย้ง กก.สิทธิฯ แนะรัฐบาลเร่งนำข้อมูลสู่การปฏิบัติเพื่อการปรองดอง
กรณีมีการเสนอค่าเยียวยาให้ผู้เสียชีวิต 92 รายในเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุมคนเสื้อแดง รายละสิบล้านบาท รศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานคณะอนุกรรมการเยียวยาฟื้นฟูฯ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า การจะเยียวยาชดเชยต้องเริ่มที่มีหลักเกณฑ์ก่อน สำหรับกรณีล่าสุดในเบื้องต้นทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ชดเชยไปรวมแล้ว 102 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ในการชดเชย ผู้ที่เสียชีวิต 92 ราย ได้รับชดเชยรายละ 4 แสนบาท ส่วนทุพพลภาพ หรือบาดเจ็บ ก็ได้ชดเชยลดหลั่นกันไป
ในเชิงกฎหมายกาจะเยียวยาชดเชย จะต้องมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ต้องเท่าเทียมกันมาก่อน ส่วนการให้เพิ่มเติมที่แตกต่างกัน ต้องพิจารณาลงไปในรายละเอียดตามความจริงของผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นของแต่ละราย และการชดเชยเยียวยาจะต้องมองทุกกลุ่ม ต้องมองย้อนหลังกลับไป ให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย นอกจากผู้ชุมนุม ก็ยังมีกลุ่มแม่ค้า มีชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย มีโรงเรียนบางแห่งถูกใช้เป็นพื้นที่ในการปฏิบัติการที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งมีผู้ถูกกระทบหลายฝ่าย
“อย่างคนตายบางคนที่ได้รับชดเชยต้องดู บางคนเป็นคนหลักของครอบครัว เมื่อเสียชีวิตไปคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบก็มีหลายคน”
นพ.รณชัยกล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงเรื่องตัวเลข 10 ล้านบาท อยากให้พูดถึงประเด็นเหล่านี้ก่อน ประเด็นแรกคือต้องมีการรวบรวมข้อเท็จจริง ว่าจะมีกลุ่มใดบ้างที่จะได้รับการเยียวยา ประการที่สอง ผลกระทบมีด้านใดบ้าง ต้องมีทีมวิเคราะห์เหตุการณ์ความจริง และผลกระทบ ทาง คอป.ได้สรุปข้อเสนอ 8 ข้อ หนึ่งในข้อเสนอ คือ ขอให้ตั้งทีมประเมินเฉพาะกิจขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ ทั้งนี้ ทาง คอป.จะสรุปรายงานให้รัฐบาล ทุกๆ 6 เดือน ครั้งนี้ก็จะครบรอบหนึ่งปี ก็จะทำรายงานข้อเสนอให้รัฐบาล
นพ.รณชัยกล่าวตอนท้ายว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับผลกระทบควรได้รับเยียวยา ได้รับความช่วยเหลือ เพื่อให้มีความสบายใจขึ้น ไม่ควรพูดว่าใครให้กับใคร แต่ต้องให้ทุกฝ่าย ใครถูกกระทบด้วยปัญหาอะไร ได้รับความเสียหายอย่างไร โดยไม่อยากให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อยากให้ทุกฝ่ายมองประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ต้องก้าวข้ามแล้วร่วมกันก้าวต่อไป ร่วมกันสร้างสรรค์ ก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้ง เพื่อนำมาสู่ความปรองดอง ควรจะมีการประสานความร่วมมือององค์กรต่างๆ ของรัฐ รวมถึงเอ็นจีโอ ร่วมกันทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง ใช้ความเข้าใจ นำไปสู่การป้องกันปัญหาในอนาคต
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การเยียวยาชดเชยต้องดูลักษณะความเสียหายของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ต้องดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของรัฐ จะมองเสื้อแดงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองทั้งหมด ทั้งทหารที่เสียชีวิต กลุ่มพันธมิตร ต้องคิดทั้งระบบ เพราะเป็นผลมาจากมาตรการของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ค้าขายก็เคยมีการเรียกร้องขอการชดเชย
การเยียวยาเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การปรองดอง ต้องกำหนดโดยรัฐบาล ที่จะเอาข้อเท็จจริงไปสู่การปฏิบัติ ต้องมีการตั้งคณะทำงานที่เป็นกลางมองรอบด้านในทุกสีทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติ ต้องให้การชดเชยเยียวยาอย่างเสมอภาคทุกฝ่าย อยู่ในกรอบที่เป็นธรรม ซึ่งต้องมองย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาด้วย อย่างเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 บางคนยังไม่ได้รับการชดเชย ต้องมีคณะทำงานที่เป็นกลาง ให้ได้รับการยอมรับ ไม่เข้าข้างสีไหน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมาเปิดเผยตัวโดยไม่ต้องห่วงว่าจะต้องตกเป็นผู้ต้องหา แต่ที่ผ่านมาเป็นเรื่องการเมือง การช่วงชิงอำนาจ นี่เป็นก้าวแรกต้องทำให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงทำให้เกิดความสูญเสีย ตนมีความเป็นห่วงเรื่องที่ยังไม่ยอมกัน ยังแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ก็หวังว่ารัฐบาลจะดำเนินแนวทางปรองดองไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป