xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ไม่ไว้ใจรัฐบาล “ปู” หวั่นเข้าข้างเขมรเอื้อประโยชน์พี่ชาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ลั่นไม่ไว้ใจรัฐบาล “ปู” แก้ปัญหาไทย-กัมพูชา เนื่องจากผลประโยชน์ใหญ่อยู่ที่อ่าวไทย ซึ่ง “แม้ว” มีชื่อรับสัมปทานอยู่ด้วย มิหนำซ้ำรายงาน ป.ป.ช.ชี้ชัด “รัฐบาลสมัคร” เคยให้เขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงแค่ต้องการเอาใจ “ฮุนเซน” ด้าน “สุวันชัย” ชี้ต้องระวังองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกที่มีชาวฝรั่งเศสถึง 3 คน หวั่นตัดสินเอนเอียงเพื่อรักษาหน้าประเทศตัวเอง เพราะเป็นตัวต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว”  

เมื่อเวลา 20.30 น. รายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ได้เชิญ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาร่วมวิเคราะห์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวปราสาทพระวิหาร

ดร.สุวันชัยกล่าวว่า ขอพูดถึงองค์คณะในการพิจารณาคดีของศาลโลก โดยมีทั้งหมด 16 คน ประธานเป็นชาวญี่ปุ่น ใน 16 คน มี 2 คนเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจที่ไทย-กัมพูชาเลือกไปประเทศละ 1 คน ไทยเลือกนายฌอง ปิแอร์ คอต เป็นชาวฝรั่งเศส เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และการพัฒนาของฝรั่งเศส ฉะนั้นจะมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลฝรั่งเศส อันนี้ต้องระวังไว้

ส่วนกัมพูชาก็เลือกชาวฝรั่งเช่นกัน คนนี้มีคุณวุฒิมากเป็นอดีตประธานศาลโลก ต้องระวังเหมือนกัน เพราะมีในแง่มีความรู้ความสามารถ และนอกเหนือจากผู้พิพากษาพิเศษ 2 คนแล้ว ใน 16 คน ยังมีองค์คณะผู้พิพากษาเป็นชาวฝรั่งเศสอีก 1 คน รวมทั้งหมดมี 3 คน คนนี้เคยทำงานเป็นผู้อำนวยการที่กระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส ดูแล้วมีความเกี่ยวพันธ์กับฝรั่งเศสอย่างมาก

ที่พูดกรณีนี้ก็เนื่องจากปัญหาของเขาพระวิหาร เมื่อมองย้อนไปสิ่งที่ทำให้มันเกิดก็คือการที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคม มากดดันให้ไทยยกดินแดนให้ และเป็นผู้ที่ทำแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ในการสู้คดีในที่สุดก็ต้องย้อนกลับไปว่าเกิดเหตุเพราะอะไร ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะหากต้องกล่าวถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องของฝรั่งเศส ผู้พิพากษา 3 คน จะสามารถดำรงความเป็นกลาง จะไม่เอนเอียงได้หรือเปล่า เพราะเขาก็ต้องรักษาเกียรติภูมิของประเทศตัวเอง ประเด็นนี้ก็สำคัญ

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ภายใต้รัฐบาลใหม่ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกัมพูชา ผลของเรื่องปราสาทพระวิหารจะออกมาจะเป็นอย่างไร

ดร.สุวันชัยกล่าวว่า รัฐบาลใหม่มีโอกาส ถ้ารัฐบาลใหม่ทำได้ดีมันก็อาจเกิดสิ่งที่ดีกับสองประเทศขึ้นได้ นี่ตนมองในแง่ดี

นายปานเทพกล่าวว่า ตนก็ยังมองในแง่ดี ตราบที่เขายังไม่เข้าสู่การบริหารประเทศ ก็ยังต้องถือว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์เข้ามาความสัมพันธ์กับกัมพูชาไม่ดี แม้อ้างว่าไม่ดีเพราะไม่ยอมกัมพูชาก็ไม่จริง เพราะก็ปล่อยให้เขารุกล้ำแถมความสัมพันธ์ก็ไม่ดีด้วย ตนคิดว่ารัฐบาลชุดใหม่มีโอกาส และมีความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน การมีความสัมพันธ์ส่วนตัวทำให้เราไว้ใจไม่ได้ว่าเขาจะเอื้อประโยชน์ส่วนตน เหนือผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ และการเอื้อประโยชน์ส่วนตนอาจเอื้อทางฝ่ายกัมพูชาด้วย ซึ่งภาคประชาชนต้องจับตา และอาจต้องจับตาจากทางบกมุ่งไปยังผลประโยชน์ทางทะเลด้วย

แต่ว่าโอกาสก็จะมีในบางเรื่อง เช่นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอาจนำไปสู่มาตรการบางอย่างที่ทำให้ดูเป็นมิตรขึ้น เช่นการปล่อย นายวีระ-น.ส.ราตรี กลับไทย ก็เพื่อจะได้หน้าทั้ง 2 ฝ่าย และท่ามกลางสถานการณ์ศาลโลกที่น่ากลัว ก็ไม่แน่ถ้าเพื่อไทยเปลี่ยนความคิด ต้องการเจรจากับกัมพูชาและขอให้ถอนคดีนี้ออกจากศาลโลก ก็มีโอกาสที่จะเป็นทางออก

ถือว่าเวลานี้โอกาสและความเสี่ยงอยู่ในมือพรรคเพื่อไทย ถ้าเลือกใช้โอกาสที่ดีก็มีโอกาสเป็นผู้แก้ปัญหาเขตแดนได้ โดยเอาผลประโยชน์ส่วนตนออกไปก่อน แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ปัญหาก็ซ้ำอยู่ที่เดิม และอาจเลวร้ายกว่าเดิม ทั้งสองอย่างนี้ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจในอนาคต

ด.ร.สุวันชัยกล่าวว่า เป็นห่วงมากในการสู้คดี เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามอบให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการเพียงผู้เดียว ตนคิดว่ารัฐบาลใหม่ควรให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วม การปล่อยให้กระทรวงต่างประเทศทำฝ่ายเดียว แม้กระทั่งไม่เอาเรื่องที่ไทยไม่ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลโลกไปสู้ จนถูกคนท้วงติงจำนวนมาก รัฐบาลใหม่จึงควรให้ภาคส่วนอื่นเข้ามาร่วม เป็นไปได้ตั้งเป็นคณะกรรมการกลางเลยก็จะดี และยังอาจเป็นการตอบคำถามเรื่องความสัมพันธ์แนบแน่นกับกัมพูชาที่มีคนท้วง ติงได้อีกด้วย

ส่วนอีกอันคืออยากให้กระทรวงต่างประเทศแปลคำสั่งศาลโลกทั้งหมด เหมือนตอนปี 2505 ที่ดร.สมปอง แปลภายในคืนเดียวแจกให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน ไม่อย่างนั้นคนหนึ่งคิดอย่างอีกคนคิดอย่าง ก็เกิดความขัดแย้ง ควรเร่งทำอย่างยิ่ง แต่วันนี้ดูแล้วไม่เห็นวี่แววเลย

นายปานเทพกล่าวว่า อยากให้ประเทศไทยมีเอกภาพและก็หาคำตอบร่วมกัน ระดมความเห็นที่มีความหลากหลายไม่ใช่จำกัดแค่กระทรวงต่างประเทศ เอาประการแรกก่อนว่าตกลงเราทำได้หรือไม่ในการรับหรือไม่รับอำนาจศาลโลก เรามีสิทธิหรือไม่ที่ไม่รับอำนาจศาลโลก โดยอยู่ในเวทีโลกต่อไป อันนี้ต้องชัดเจนก่อน ถ้าทำได้มันก็เป็นทางออกหนึ่ง ถ้าทำไม่ได้ก็ตัดประเด็นนี้ไป และเดินหน้าทำทางอื่น จุดนี่เป็นจุดสำคัญสุด

ตนคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ถ้าเราไม่เป็นเอกภาพ ก็มัวแต่มองกันว่าเราจะสู้กันอย่างไรดี ทั้งๆที่คำตัดสินศาลโลกปี 2505 ทำเราเสียเปรียบ และมองในอนาคตก็ไม่ได้ได้เปรียบเลยมีแต่จะเสียเท่าเดิมหรือเสียมากกว่าเดิม เราต้องกำหนดเป็นเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ไม่ใช่บอกแต่ว่าเราเป็นสากลต้องรับอำนาจศาลโลก ทั้งๆที่บางเรื่องหลายประเทศก็ไม่รับ อย่างมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ไม่เคยมีประเทศไหนยอมทำตาม สรุปคือเราต้องมีเอกภาพให้ชัดเจนก่อน ไม่อย่างนั้นก็สู้อย่างสะเปะสะปะแบบทุกวันนี้

นายปานเทพกล่าวอีกว่า เรียนตามตรงเลยไม่ค่อยไว้ใจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้เห็นโอกาสแต่หลายปีที่ผ่านมาเห็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ใหญ่มันอยู่ที่อ่าวไทย หากย้อนไปอ่านรายงานของปปช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตอนปี 2541 จะรู้ว่ารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ยอมลงนามให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียว เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของนายฮุนเซน ไม่มีเหตุผลอื่นเลย เนื่องจากกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งเลยเอาใจเขา ที่นายนพดล ปัทมะ ออกมาบอกว่ายอมให้ขึ้นทะเบียนเพราะฉลาดปราดเปรื่องไม่อยากเอาเรื่องขึ้นศาลโลก ไม่ใช่เลย

เวลาเดียวกันอาจเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ได้หน้าทางการเมือง แต่สุดท้ายผลประโยชน์อยู่ที่อ่าวไทย ต้องจับตาเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีผลประโยชน์ เป็นผู้ที่มีชื่อในสัมปทานเกาะกง และผลประโยชน์ที่เขาแอบตกลงกันอีกมาก เป็นคนริเริ่ม MOU 44 ด้วย เป้าหมายหลักในอนาคตที่ภาคประชาชนต้องจับตาคือผลประโยชน์ทางทะเล

ดร.สุวันชัยกล่าวเสริมว่า สามารถดูเจตนาเบื้องต้นได้จากประเด็น MOU 44 เพราะ ครม.สมัยนายอภิสิทธิ์ได้มอบให้กระทรวงการต่างประเทศไปยกเลิก ต้องดูท่าทีว่าเพื่อไทยจะดำเนินการต่อหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น