xs
xsm
sm
md
lg

เหตุโศกนาฏกรรม ฮ.ตก 3 ครั้ง สะท้อนการจัดซื้อในกองทัพ!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวลาเพียงไม่กี่วันประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 3 ครั้งซ้อน จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เหยื่อลำแรกเป็น ฮ.รุ่น ยูเอช-1 เอช (ฮิวอี้) มาถึงแบล็กฮอว์ก และล่าสุดกับ ฮ.เบลล์ 212 ที่ทำให้เสียชีวิตทั้งหมด 17 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย สร้างความสูญเสียความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ครอบครัวญาติสนิทมิตรสหายและประชาชนชาวไทยที่ติดตามข่าวเป็นอย่างมาก

ในความโศกเศร้าก็ระคนไปกับสงสัยว่า อะไรทำให้เกิด “โศกนาฏกรรม” เฮลิคอปเตอร์โหม่งโลกทั้งสามครั้งติดต่อกัน เกิดจากธรรมชาติเป็นเหตุ นักบินสมรรถภาพต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ หรือว่าเป็นเพราะระบบการจัดซื้อในกองทัพมีปัญหา?

แต่ก่อนอื่นต้องยกย่องความกล้าหาญเสียสละของบรรดา “รั้วของชาติ” ที่ต้องสละชีพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะผู้นำในปฏิบัติหารครั้งนี้ พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (ผบ.พล.ร.9) กองกำลังสุรสีห์ ฉก.ทัพพระยาเสือ จ.กาญจนบุรี ที่นำกำลังทหาร 7 นาย พร้อม ศรชัย คงตันนิกูล ช่างภาพจาก ททบ.5 ร่วมปฏิบัติการเพื่อไปรับศพทหาร 5 นายที่เสียชีวิตจาก ฮ.ฮิ้วอี้ ที่ประสบอุบัติเหตุเป็นลำแรก

ถือเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า พล.ต.ตะวัน นั้นถือว่ามีความเป็นชายชาติทหารอย่างแท้จริง มีบุคลิกรักลูกน้อง เห็นได้จากคำพูดสุดท้ายของ พล.ต.ตะวัน ที่ว่า “จะเดินทางไปด้วยตัวเองเพื่อนำน้องๆทั้ง 5 กลับมาให้ได้ เพราะญาติๆ ของพวกเขารออยู่”

ทั้งที่รู้ว่าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทัศนวิสัยไม่ดี และภูมิประเทศก็เป็นป่าที่มีหุบเขาลึกยากสำหรับการปฏิบัติหรือแม้แต่เดินทางเข้าไปให้ถึงจุดเกิดเหตุ ซึ่ง พล.ต.ตะวันทราบเป็นอย่างดี แต่ก็เลือกที่จะเป็นผู้นำทีมด้วยตนเอง ทั้งกำชับทุกฝ่ายปฏิบัติงานเต็มกำลังความสามารถ จนเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นในที่สุด

ขอสดุดีในวรีกรรม พล.ต.ตะวัน และผู้ที่ร่วมสละชีพทุกชีวิตด้วยความคารวะยิ่งมา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจาก “อุบัติเหตุ” เป็นเรื่องสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดเดาหรือคาดการณ์ได้ แต่ก็มีคำถามตามมาถึงมาตรการป้องกันเหตุ เพราะก่อนหน้าที่ ฮ.แบล็กฮอว์กจะตก ก็มีตัวอย่างจากเหตุการณ์ ฮ.ฮิวอี้ตกให้เห็นกันก่อนหน้าไม่กี่วัน ดังนั้นมาตรการป้องกันระวังภัยก็ควรที่รัดกุมมากขึ้นเป็นเท่าตัวกว่ายามปกติ

นอกจาก “อุบัติเหตุ” ที่อาจเป็นผลของสภาพอากาศที่แปรปรวนแล้วนั้น ยังมีข้อสงสัยถึง “สมรรถนะ” ของเครื่องเฮลิคอปเตอร์ ว่าเหตุใดพาหนะ ฮ.แบล็กฮอว์ก ที่ขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดของกองทัพกลับต้องมาประสบชะตากรรมเช่นนี้

ซ้ำร้ายยังมาเกิดเหตุ ฮ.เบลล์ 121 ที่ว่ากันว่าเป็น ฮ.ระบบขนส่งที่ดีสุดของกองทัพ ตกในบริเวณไม่ห่างจากค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพียง 5 กม. ทั้งยังมีรายงานยืนยันว่าสภาพอากาศเปิด ไม่มีเมฆฝน สาเหตุจึงหนีไม่พ้นเรื่อง “สมรรถนะ” ของตัวเครื่อง

ซึ่งหลังเกิดเหตุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ก็ออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า “สาเหตุการตกของ ฮ.ลำล่าสุดนั้นไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากเครื่องยนต์ขัดข้อง แต่ก็ต้องรอการตรวจสอบสาเหตุที่แน่นอนต่อไป”

“อุบัติเหตุ” ทั้ง 3 ครั้งนี้ถือว่าเป็น “โศกนาฏกรรม” ที่รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปีเลยทีเดียว เพราะได้สูญเสียนายทหารจำนวนมาก ที่สำคัญยังมีนายทหารสูงระดับผู้บัญชาการกองพลเลยทีเดียว จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการตรวจสอบกองทัพอย่างเอาจริงเองจังเสียที เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพ

แม้ว่า “กองทัพไทย” ที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับความเข้มแข็งทางการทหารจากเว็บไซต์ Globalfirepower.com ว่ามีความเข้มแข็งใน “อันดับ 19 ของโลก” สูงขึ้นจากปี 53 ที่อยู่อันดับ 28 ของโลก สอดคล้องกับ “งบประมาณ” ที่รัฐจัดสรรให้กองทัพในแต่ละปี โดยเฉพาะในส่วนของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจุดหนึ่งที่ถูกสังคมตั้งคำถามในลักษณะ “ดักคอ” มาโดยตลอด ว่า

มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคง หรือเพื่อสร้างโอกาส “กินนอกกินใน” ในรูปแบบ “คอมมิชชั่น” ของคนในระดับสั่งการ

อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมายังประจักษ์หลักฐานตำตาว่า ยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการจัดซื้อของกองทัพไทย เมื่อนำมาใช้งานจริงก็มีสภาพไม่ต่างกับ “เศษเหล็ก” หรือเป็นของเก่ามือ 2 ที่ล้าสมัยจนโลกลืมไปแล้ว ไม่ต้องย้อนไปไกล แค่กรณี “ไม้ล้างป่าช้า” เครื่องจีที 200 หรือ “บอลลูนเหี่ยว” เรือเหาะตรวจการณ์มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่ถูกแฉว่าไร้ประสิทธิภาพ และไม่สามารถใช้งานได้จริง ที่จนวันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ฟังได้ออกมาจากกองทัพเลย

เช่นเดียวกับงบในการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์พาหนะสำคัญทั้งหลาย ที่หมดไป โดยที่ยากต่อการตรวจสอบว่ามีการจัดซ่อมจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงพิธีการตั้งเรื่องขึ้นมาให้เกิดรายจ่าย แล้วนำเพียง “ใบเสร็จ” มาเบิกเงิน ส่วนเงินที่ได้ไปก็เป็นการแบ่งกันอย่างสมประโยชน์ระหว่างเอกชนที่รับงาน และ “คนใน” ที่รู้เห็น

ไม่ต่างจากการทุจริตจัดงานอีเว้นท์ต่างๆที่เป็นที่นิยมของภาครัฐ เพราะนอกจากสามารถตีปิ๊บสร้างภาพการทำงานได้แล้ว การงุบงิบตอดกินงบประมาณ ก็ทำได้ง่ายเช่นกัน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจมูลค่าที่แท้จริงของการจัดงาน ไม่ได้ตรวจสอบต้นทุนงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในการจัดงาน จำนวนสินค้าหรือของชำร่วยที่ผลิตว่าตรงตามที่ตกลงกันหรือไม่ เพราะที่สุดแล้วของต่างๆเหล่านี้ก็มักหายไปกับฝูงชนที่ร่วมงาน

สุดท้ายเอกชนคนรับงานก็นำใบเสร็จมา “วางบิล” ที่อาจมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงเป็นสิบๆเท่า

เมื่อมองตรงนี้ก็พบว่าความง่ายดายของการบริหารจัดการงบประมาณเข้ากระเป๋าตัวเองอยู่ในระดับที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่หากเปรียบเทียบถึงความสูญเสียที่ตามมาต่างกันอย่างลิบลับมากมายทีเดียว เพราะอุบัติเหตุจากพาหนะ และอาวุธของกองทัพที่ด้อยประสิทธิภาพ ที่อาจทำเงินมหาศาลสร้างความร่ำรวยให้กันคนในระดับ “สั่งการ” แต่ความซวยมาบังเกิดกับระดับ “ปฏิบัติการ” ส่งผลไปถึงบรรดาทหารหาญต้องมาสังเวยชีวิตลงอย่างไม่สมควร แทนที่จะได้ทำหน้าที่ “รั้วของชาติ” พลีชีพปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น