“เอแบคโพลล์” เผยผลสำรวจคอร์รัปชันพบ 74.4% พร้อมแจ้งฟันแกนนำชุมชนโกง แต่พวกพร้อมแฉตัวเองหากโกงมีแค่ 38.1% เผย 64.5% รับได้รัฐโกงแล้วชาติพัฒนา เยาวชนต่ำ 20 ปีนำโด่ง 71% พบนักศึกษาพรึ่บ ข้าราชการกว่าครึ่งก็เห็นพ้อง ส่วนพวกต้านโกงมีแค่ 35.5% ส่วนใหญ่พวกวัยใกล้เกษียณ ข้าราชการ จี้เพิ่มโทษยึดทรัพย์คนโกงและเครือญาติ
วันนี้ (20 ก.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ ในการสร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง จากประชาชนใน 17 จังหวัด จำนวน 2,559 ตัวอย่าง พบว่า เมื่อถามถึงความอยากจะแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดคนที่ทุจริตคอร์รัปชันเมื่อเปรียบเทียบกับระยะห่างทางสังคมกับคนที่มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 74.4 จะแจ้งความเอาผิด ถ้าพบเห็นแกนนำชุมชนของตน ทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมาคือ ร้อยละ 72.9 จะแจ้งความเอาผิด ข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 72.2 ระบุจะแจ้งความเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 71.7 จะแจ้งความเอาผิด รัฐมนตรีที่ทุจริตคอร์รัปชัน และร้อยละ 70.8 จะแจ้งความเอาผิดคนที่พักอาศัยในชุมชนเดียวกันที่ทุจริตคอร์รัปชันร้อยละ 61.0 จะแจ้งความเอาผิดเพื่อนบ้านสนิทที่ทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 51.0 จะแจ้งความเอาผิดญาติตนเองที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ร้อยละ 43.0 จะแจ้งความเอาผิด พ่อ แม่ หรือลูกของตนเอง ขณะที่ร้อยละ 38.1 จะให้ดำเนินการเอาผิดตนเอง หากพลาดไปทุจริตคอร์รัปชัน
นายนพดลกล่าวว่า ส่วนที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนร้อยละ 64.5 ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย ในขณะที่ร้อยละ 35.5 ยอมรับไม่ได้ และเมื่อจำแนกกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกพบว่า ส่วนใหญ่ของทุกเพศ ทุกวัย ระดับรายได้ ทุกสาขาอาชีพ และการศึกษา ต่างก็ยอมรับได้ และที่น่าเป็นห่วงไปอีกคือ ร้อยละ 71.0 ของกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นอกจากนี้ คนยิ่งมีรายได้สูงกลับมีสัดส่วนของจำนวนผู้ยอมรับได้ โดยร้อยละ 71.0 ของผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ยอมรับได้ เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก เมื่อพบว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 72.3 ยอมรับได้ รองลงมาคือ พ่อค้า กลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนตัว ร้อยละ 67.0 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 64.9 กลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 56.4 และที่น่าสนใจพิจารณาคือ กลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครึ่งต่อครึ่ง คือร้อยละ 50.9 ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย และเมื่อจำแนกระดับการศึกษาก็ยังพบว่า ร้อยละ 66.7 ของผู้สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 58.4 ของผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปยอมรับได้
นายนพดลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แนวคิดของกลุ่มที่ยอมรับไม่ได้พบว่า กลุ่มคนที่ยอมรับไม่ได้มากที่สุด ร้อยละ 38.3 เป็นคนอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 36 มาจากประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 5 พันบาท ร้อยละ 49.1 เป็นข้าราชการ และร้อยละ 41.6 มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่ความต้องการของประชาชนที่ปฏิเสธการคอรัปชั่นนั้น ร้อยละ 87.5 ระบุให้เพิ่มโทษ ยึดทรัพย์ นักการเมือง ข้าราชการ และของเครือญาติที่รู้เห็นเป็นใจทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมาคือร้อยละ 87.0 ระบุให้ลงโทษทั้งผู้ให้และผู้รับ ร้อยละ 85.6 เสนอยกเลิกการ “อภัยโทษ” ต่อนักการเมืองและข้าราชการที่ต้องโทษทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 84.2 ระบุไม่ต้องให้โอกาสนักการเมือง และข้าราชการที่ถูกตัดสินลงโทษกลับเข้ามีอำนาจอีก ร้อยละ 73.3 ให้ประกาศบัญชีการใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐต่อสาธารณชนผ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 67.5 ตั้งคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์อิสระภายนอก กระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐ (ไม่ให้ตรวจสอบกันเองภายในเท่านั้น) ร้อยละ 62.7 ระบุต้องปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นผลร้ายของการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 61.8 เปิดเผยที่มาที่ไปของการใช้ เงินค่าปรับต่างๆ ให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ และร้อยละ 45.3 ระบุอื่นๆ เช่น ให้สื่อมวลชน ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ มีระบบฐานข้อมูลปัญหาคอรัปชั่น เพิ่มงบประมาณปราบปรามคอรัปชั่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.8 เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมาะสมเป็นประธานรณรงค์สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง อย่างจริงจังต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ระบุว่าไม่เหมาะสม
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยและนี่คือสัญญาณเตือนภัยว่า คนไทยที่ถูกศึกษามีทัศนคติอันตรายมากอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และสะท้อนให้เห็นถึง “ความเห็นแก่ตัว” หรือผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องต้องมาก่อนผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยมองแต่เฉพาะสิ่งที่ตนเองจะได้เฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะถ้าพบเห็นคนอื่นทุจริตคอร์รัปชันก็จะเอาเรื่องเอาผิดถึงขั้นแจ้งความร้องเรียนดำเนินคดี แต่กับคนใกล้ชิดที่สนิทสนมด้วยก็จะปล่อยปละละเลยมองข้ามไป และเห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ อนาคตของสังคมไทยจะตกอยู่ในสภาวะวิกฤตได้โดยง่าย เมื่อกลุ่มเยาวชน นักเรียนนักศึกษาเองกลายเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันแล้วพวกเขาได้รับผลประโยชน์ด้วย โดยมีกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการและแม้แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยอมรับเช่นนั้น นอกจากนี้ คนยิ่งรวยขึ้นยิ่งมีทัศนคติยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันแล้วพวกเขาได้ผลประโยชน์ตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หลายๆ หน่วยงานได้ออกมาขับเคลื่อนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ซึ่งได้เริ่มต้นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
“ข้อมูลชุดนี้คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้คนในสังคมไทยต้องช่วยกันคิด กลุ่มต่อต้านคอรัปชั่นในทุกกรณีต้องช่วยกันหาคำตอบและทางแก้ไข” ดร.นพดลกล่าว