xs
xsm
sm
md
lg

พธม.แถลงการณ์ยุติชุมนุมคืนนี้!! ชูโหวตโนจี้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ นายประพันธ์ คูณมี และ พ.ต.จำลอง ศรีเมือง
“ปานเทพ” เผยพันธมิตรฯ รณรงค์โค้งสุดท้ายที่สีลม พร้อมอ่านแถลงการณ์ยุติชุมนุมสองทุ่มคืนนี้ ชี้เอกสาร “มีชัย” ชัดโหวตโนมีผลทางกฎหมาย ชูลงคะแนนเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง “ประพันธ์” ซัด กกต.เอียงเข้าข้างรัฐต้านโหวตโน แฉอธิการบดีธรรมศาสตร์ที่ปรึกษา “มาร์ค” ยันเคยพิจารณากฎหมายสมัยเป็น สนช.


วันนี้ (1 ก.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ และนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงการยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯ และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำเครื่องหมายลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน โดยนายปานเทพกล่าวว่า ในการชุมนุมวันสุดท้ายของพันธมิตรฯ จะมีการเดินรณรงค์ครั้งสุดท้ายที่ถนนสีลม เวลาประมาณ 11.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งเข้าใจว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในสีลมจะปิดทำการ เพราะว่าเป็นวันหยุดครึ่งปีของธนาคารในการปิดงบดุล แต่จะใช้พื้นที่ที่การจราจรไม่ติดขัดมากนัก ในการเดินครั้งสุดท้ายจากถนนสีลม และอาจจะต้องเดินมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ นอกจากนี้ ในเวลา 20.00 น.หลังจากการจบช่วงเวทีเสวนาแล้วก็จะมีการอ่านแถลงการณ์สรุปผลงาน รวมทั้งการประกาศเจตนารมณ์ในช่วงสุดท้าย ในขณะที่ทุกพรรคการเมืองปราศรัยในโค้งสุดท้ายเช่นเดียวกัน เพื่อเชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน

ส่วนเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 88 และ 89 นั้น นายปานเทพกล่าวว่า ในที่สุดก็ได้ปรากฏพบเอกสารของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้ปรากฏเป็นข้อความ 2 ครั้ง คือ ในขณะที่นายมีชัยก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ได้ตอบคำถามไว้ในเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ ดอตคอม วันที่ 2 พ.ค. 2549 ในเวลาตอนนั้น การกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนยังไม่มีผลทางกฎหมาย ทำให้นายมีชัยเสนอความคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่หากจะมีการแก้ไขรัฐรรมนูญในวันข้างหน้าให้คะแนนโหวตโนมีผลทางกฎหมายขึ้น เช่น กำหนดว่าคนที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนมากกว่าคะแนนโหวตโน ทั้งนี้ โดยถือว่าถ้าคะแนนโหวตโนมีมากกว่าคนที่ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นการแสดงเจตนาของประชาชนว่าไม่ต้องการผู้สมัครทุกคนที่สมัครในเขตนั้น และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยห้ามผู้สมัครเดิมลงสมัครใหม่ เพราะประชาชนได้ปฏิเสธไปแล้ว ต้องเว้นวรรคไปสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นเสียก่อน จึงค่อยมาสมัครในคราวเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ด้วยวิธีนี้คะแนนโหวตโนก็จะมีความหมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นมาตรการหรือเป็นดุลถ่วงพรรคการเมืองที่จะมั่วในการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งยังจะทำให้ประชาชนมีบทบาทในทางการเมืองเพื่อต่อต้านพรรคการเมืองที่ไม่ดีได้

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ต่อมาในปี 2550 นายมีชัยเป็นประธาน สนช. และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ขณะนั้น น.ต.ประสงค์ได้ยกร่างนี้ ซึ่งขณะที่ยกร่างก็ได้มีการเสวนาและสัมมนาของ สนช. ในปี 2550 ก็ได้ปรากฏชัดเจนว่านายมีชัยได้นำความคิดของตนเองเสนอเข้าที่การสัมมนาก่อนที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรา 88 และ 89 นายมีชัยได้ยืนยันชัดเจนว่าควรมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดฐานเสียงของคะแนน ส.ส.เพื่อให้คะแนนโหวตโน หรือโนโหวตที่ใช้ในขณะนั้นมีผลทางกฎหมาย เพราะช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีสูงมาก และไม่มีผลทางกฎหมาย กลายเป็นแค่บัตรเสียเท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าให้แก้กกฎหมาย ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งสูงกว่าคะแนนโหวตโน หากไม่ผ่านต้องมีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้ตัวแทนที่ประชาชนยอมรับมากที่สุด

“ในขณะเดียวกัน ปรากฏว่ามีการอภิปรายซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบและเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 89 โดยเขียนข้อความเพิ่มเติมจากที่ไม่เคยปรากฏในกฎหมายเลือกตั้งปี 2540 ด้วยคำว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 88” ซึ่งมาตรา 88 ใช้กับคนคนเดียว ต้องใช้เกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ และต้องชนะคะแนนโหวตโนด้วย แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างตั้งแต่ตอนต้นต้องการที่จะแก้ไขให้คะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนมีผลทางกฎหมาย ทำให้ภาคประชาชนซึ่งได้เห็นข้อความดังกล่าว และเจตนารมณ์ก่อนที่จะมีกฎหมายดังกล่าว มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นมีผลทางกฎหมาย และคะแนนโหวตโนมีผลทางกฎหมายในลักษณะที่เป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่าง” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การรณรงค์โหวตโนครั้งนี้ พันธมิตรฯ ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่แต่เพียงประการเดียว แต่สนใจเจตนารมณ์ของประชาชนต้องการแสดงสัญลักษณ์ในเชิงการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีจำนวนมากจะยิ่งเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ประชาชนมากขึ้น โดยที่ประชาชนจะเป็นฝ่ายควบคุมดูแลนักการเมืองที่ไม่ให้เสียงข้างมากลากไป และไม่ให้เสียงข้างน้อยกลายเป็นผู้แพ้และยอมจำนนในระบบรัฐสภาตลอด 4 ปี เสียงที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นเสียงที่ให้นักการเมืองจะต้องตระหนักว่าถ้าเขาไม่ฟัง หรือลุแก่อำนาจก็อาจจะต้องเผชิญหน้ากับการชุมนุมได้ในอนาคต ถ้ายิ่งมีจำนวนมากโอกาสชุมนุมก็จะมีน้อยลง เพราะนักการเมืองจะตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น

ด้าน นายประพันธ์กล่าวว่า ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเคยประสบความสำเร็จด้วยวิธีการใส่ร้ายผู้อื่น และบิดเบือนข้อเท็จจริง ตีหัวเข้าบ้าน และสร้างข้อมูลหรือชุดความคิดอันเป็นเท็จให้ประชาชนเข้าใจผิด โดยหวังผลชนะในการเลือกตั้งหรือคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไม่ชอบธรรม ไม่มีจริยธรรมหรือคุณธรรม ซึ่งทำเช่นนี้มาโดยตลอด ในคราวนี้ก็เช่นเดียวกัน มีความพยายามโจมตีให้ร้ายหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในการที่ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิไม่ประสงค์ลงคะแนน โดยมีการให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวของ กกต.บางคนซึ่งมีความโน้มเอียง ซึ่งในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยมีชุดของ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ มีพฤติกรรมโน้มเอียง พอมาในยุคปัจจุบัน กกต.ชุดนี้ก็จะโน้มเอียงฝ่ายผู้มีอำนาจ และใช้ความเห็นส่วนตัวออกมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนต่อประชาชน นอกจากนี้ยังมีความพยายามใช้นักวิชาการที่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของตัวเอง ซึ่งนายสมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษากฎหมายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยคำสั่งแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี เป็นคณะทำงานกลั่นกรองด้านกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งตนก็ไม่เคยพูดเพราะถือว่าเป็นความเห็นในฐานะนักวิชาการ ใช้หลักการวิชาชีพและกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา แต่มาในวันสองวันที่ไปให้ความเห็นผ่านทางรายการข่าวข้นคนข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ส่อเจตนาที่จะปกปิดสถานะของตัวเอง ทำให้ประชาชนสับสน หวังจะใช้การอธิบายหลักกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้สังคมเข้าใจผิดและโน้มนำคะแนนให้หันกลับไปสนับสนุนตัวเอง

“พรรคการเมืองดังกล่าวไม่ได้พิจารณาว่าการจะได้รับชัยชนะ นักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ดีควรจะสร้างศรัทธา และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนด้วยการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ด้วยผลงาน ความรู้ ความสามารถของตัวเอง แก้ไขปัญหาประเทศชาติให้เห็นเป็นรูปธรรม หรือเสนอนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาชาติ นำพาบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าได้ แต่พรรคการเมืองเหล่านั้นก็ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้ กลับใช้วิธีหาเสียงแบบสกปรก หรือใส่ร้ายป้ายสีบิดเบือนข้อเท็จจริง อันเป็นความจัดเจนหรือเป็นบทเรียน หรือความสำเร็จที่เคยได้รับมาแบบเก่าๆ เดิมๆ แต่มาวันนี้เมื่อโลกกว้างไกล และเรามีข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ทำให้การบิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นผล” นายประพันธ์กล่าว

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกฎหมายดังกล่าว เจตนารมณ์ทางกฎหมายย่อมเหนือกว่าลายลักษณ์อักษรที่จะตีความตามคำพูดของนักกฎหมายตามอำเภอใจไม่ได้ เมื่อถึงเวลาจะวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย ศาลจำต้องยึดถือเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมาย ยืนยันว่าการที่ สนช.ในชุดที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ด้วยได้พิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์ ถือว่าทุกคะแนนเสียงเป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชน จำต้องพิจารณาความสำคัญ มิฉะนั้นก็จะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงตอกย้ำในโค้งสุดท้ายว่า การรณรงค์ของประชาชนชอบด้วยกฎหมาย การใช้สิทธิ์ไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองโดยชอบ และมีผลทางกฎหมายรองรับชัดเจน จึงไม่เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองจะบิดเบือนให้ประชาชนสับสน

ส่วน พล.ต.จำลองกล่าวว่า วันนี้เป็นการชุมนุมวันสุดท้ายของพันธมิตรฯ เป็นวันที่ 158 นับจากวันที่ 25 ม.ค.เป็นต้นมา บังเอิญใกล้กับวันเลือกตั้งเพียง 2 วัน ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามข่าวมาก่อนอาจจะเข้าใจผิดว่าเราหยุดการชุมนุมเพราะจะมีการลงคะแนนเลือกตั้ง จึงขอยืนยันว่าพอประกาศยุบสภาเราก็ออกมาบอกว่าเราชุมนุมไม่ใช่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา แต่เรามีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องดินแดน และมีเรื่องที่จะต้องทำต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง คือรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เพราะนักการเมืองทั้งสภาไม่ได้พูดถึงเรื่องการปกป้องดินแดน ซึ่งคืนนี้ก็จะยุติการชุมนุม และยุติถ่ายทอดสดการออกอากาศบนเวที ส่วนวันที่สองจะเป็นกิจกรรมบันเทิงแก่ผู้ชุมนุมระหว่างการเก็บสิ่งของออกจากที่ชุมนุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งเวทีปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หากมีประเด็นพาดพิงมาถึงพันธมิตรฯ จะมีการรับมืออย่างไร นายปานเทพกล่าวว่า ระหว่างการปราศรัยอาจจะไม่ได้ยินทั้งหมด เพราะคนปราศรัยคงไม่ได้ยินนายอภิสิทธิ์ หรือพรรคประชาธิปัตย์พูด แต่ถ้ามีประเด็นใดที่มีการรายงานมา เราก็คงจะพูดบนเวทีเช่นเดียวกัน ซึ่งอันที่จริงไม่ควรจะสิ้นเปลืองแบบนี้โดยที่มาใกล้เวทีพันธมิตรฯ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่กรณีนี้จงใจที่จะใช้พื้นที่ที่ใกล้เคียงพันธมิตรฯ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่ามีระยะห่างเพียงแค่หนึ่งบล็อกถนนเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ประชาชนจะตัดสินใจเข้าร่วมปิดเวทีชุมนุมจำนวนมากอยู่แล้ว แต่เมื่อมาแล้วก็ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่จะต้องดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนทั้งสองกลุ่ม หากเกิดเหตุอะไรรัฐบาลเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบ ส่วนประชาชนก็จะอยู่พื้นที่เดิมให้มากที่สุด ถ้ามีข้อใดที่พาดพิงหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็จะโต้แย้งทันทีบนเวที เสมือนเป็นการโต้วาทีผ่านเวทีนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น