พันธมิตรฯ ชี้ รัฐบาลใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ดิสเครดิตกระแสโหวตโนอย่างหนักในช่วงโค้งสุดท้าย สับ กกต.ทำตัวไม่เป็นกลาง แถมบิดเบือนข้อเท็จจริง กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนไม่มีผลทางกฎหมาย ด้าน “ปานเทพ” ท้า กกต.ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 หรือไม่ ขณะที่ “ประพันธ์” ยัน ศาลไม่เคยเอาความคิดเห็นนักวิชาการเป็นบรรทัดฐาน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ พลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ และนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยร่วมกันแถลงข่าว โดย นายปานเทพ กล่าวว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายมีขบวนการทำลายกระแสโหวตโนอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้สื่อของรัฐเชิญนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการโหวตโน ไม่ว่าจะเป็นกรณีรายการของช่อง 9 อสมท เมื่อวานนี้เชิญเฉพาะผู้ที่เห็นข้อกฎหมายแตกต่างกับการโหวตโนมีโอกาสพูดฝ่ายเดียวเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าสื่อของรัฐในขณะนี้ถูกชี้นำในลักษณะการฝักใฝ่ทางการเมืองหรือการวางตัวไม่เป็นกลางจริง ถือเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่รณรงค์โหวตโน ที่มีโอกาสนำเสนอข้อเท็จจริงหรือโต้แย้งผ่านสื่อของรัฐเลย
นอกจากนี้ ท่าทีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็แสดงความคลุมเครือออกมาในเรื่องการรณรงค์โหวตโน เหมือนกับกรณีในช่วงที่ผ่านมา ป้ายอย่าปล่อยสัตว์เข้าสภาถูกแถลงข่าวทั้งๆ ที่ไม่มีมติ กกต.สุดท้ายเมื่อพรรคเพื่อฟ้าดินไปขอดูมติ กกต.พบว่า ไม่มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย จะสังเกตเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้มีเจตนาให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐไปจัดการทำลายป้ายของพรรคเพื่อฟ้าดิน ล่าสุดพยายามให้ความเห็นว่า กกต.มีความเห็นว่าการกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนไม่มีผลทางกฎหมาย ทั้งๆ ที่เป็นคำสัมภาษณ์เท่านั้น ยังไม่มีการลงมติอีกเช่นกัน เนื่องจากไม่มีวาระข้อถกเถียงหรือเกิดข้อพิพาทแล้วจริงในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ ทางพันธมิตรฯ รณรงค์การกาลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน มิได้มีเจตนาในเรื่องของกฎหมายเป็นตัวเบื้องต้นตั้งแต่ตอนแรก แต่ต้องการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่ประชาชนต้องการให้คะแนนของประชาชนไม่ไปทำร้าย หรือทำบาปให้กับประเทศชาติ ที่จะให้ฝ่ายชนะไปทุจริตคอรัปชั่น ทำลายบ้านเมือง หรือฝ่ายค้านไปยอมจำนนเป็นผู้แพ้ต่อผู้ชนะที่ไปทุจริตคอรัปชั่นในสภา ดังนั้นมาตรการโหวตโนจึงเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับประชาชน ยิ่งมีมากยิ่งไม่ต้องมีการชุมนุมก็ได้ ยิ่งมีอำนาจต่อรองมาก ยิ่งนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองก็ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมีนักกฎหมายมาให้ความรู้และชี้แนะในระดับปรมาจารย์ทางด้านวงการกฎหมาย มาให้ความเห็นว่ากฎหมายเลือกตั้งมาตรา 88 และ 89 นั้น ชี้ชัดว่าโหวตโนมีผลทางกฎหมาย ได้แก่นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้ความเห็นตรงกัน หรือ ศ.นพ.วิทูรย์ อึ้งประพันธ์ นักกฎหมายที่ทำงานในกฤษฎีกา แม้กระทั่ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ต้องการให้โหวตโนมีผลทางกฎหมายแน่นอน
ดังนั้น เมื่อความคิดเห็นทางกฎหมายมีความแตกต่างกัน สุดท้ายคนที่วินิจฉัยไม่ใช่คนให้ความเห็นในทางสาธารณะ จะต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล และ กกต.เรื่องนี้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นแล้วว่า เมื่อปี 2540 หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 89 หมายถึงผู้สมัครหลายคน มิได้มีข้อความว่าภายใต้บังคับมาตรา 88 ซึ่งก็คือกฎเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องชนะไม่ประสงค์จะลงคะแนน ซึ่งใช้สำหรับคนเดียว ไม่มีข้อความนี้ แต่ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ปรากฏว่า มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 89 ด้วย โดยเพิ่มข้อความว่า ภายใต้บังคับมาตรา 88 ซึ่งขอย้ำว่า มาตรา 88 เป็นมาตราสำหรับผู้สมัครคนเดียว จึงต้องชนะโหวตโนเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ แต่มาตรา 89 ซึ่งเป็นผู้สมัครหลายคน ผู้ร่างรู้ว่าจะไปบังคับตามมาตรา 88 เป็นผู้สมัครคนเดียวเป็นไปไม่ได้ เหลือกรณีเดียวต้องใช้กฎเกณฑ์เดียวกันเท่านั้น จึงได้ตราบังคับมาตรา 88 เอาไว้
เพื่อให้เกิดความชัดเจน นางยินดี จึงได้ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า การตีความกฎหมายเลือกตั้งนั้นจะต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า กฎหมายอื่นใดจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้นศักดิ์และสิทธิ์ที่บัญญชัติไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิ์กากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน มีสิทธิ์ทัดเทียมกับผู้จะลงคะแนนเลือกตั้ง และผู้สมัครคนใด แต่ กกต.ไม่เคยให้ความกระจ่างในการรณรงค์ มีแต่พูดว่าให้เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ แต่ไม่เคยพูดว่าถ้าไม่มีคนที่รักและพรรคที่ชอบให้ทำอย่างไร ไม่อยู่ในการประชาสัมพันธ์ของ กกต.เลย ถือว่า กกต.มีเจตนาวางตัวไม่เป็นกลางตั้งแต่ตอนต้น
ในท้ายที่สุดเพื่อพิสูจน์เรื่องกฎหมายเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 88 และ 89 จะเห็นได้ว่าถ้าเกิดกรณีไม่ประสงค์จะลงคะแนนมากกว่าคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพบว่าคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งมีคะแนนลำดับที่หนึ่งเพียงแค่ร้อยละ 20 แม้จะมีผู้สมัครเกินหนึ่งคน หากประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตยของตัวเองในการกาลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนมากเป็นลำดับที่หนึ่ง หากคนที่ได้คะแนนเพียงร้อยละ 20 เป็น ส.ส.เจตนารมณ์ของคำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่เลือกใคร ดังนั้นถ้ากฎหมายถูกตีความว่าต้องเป็นคนที่ได้คะแนนเพียงร้อยละ 20 ก็แสดงว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ใช้ไม่ได้ ซึ่งมีอยู่สองกรณี คือ การตีความผิดกฎหมาย หรือกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวด้วยว่า หากมีเขตหนึ่งเขตใดมีคะแนนโหวตโนชนะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทนายพันธมิตรฯ จะยื่นให้ กกต.ไม่รับรองในเขตนั้น ถึงตอนนั้นจะเป็นมติ กกต.ที่แท้จริง ถ้า กกต.มีความเห็นว่าไม่รับรองด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 88 และ 89 ถือว่าบรรลุข้อกฎหมายดังกล่าว แต่หาก กกต.เห็นว่า รับรองก็แสดงว่าใช้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะให้ กกต.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 หรือไม่ แต่น่าเป็นห่วงว่าวันนี้สื่อมวลชนกลับเสนอข้อมูลทางวิชาการด้านเดียว สื่อของรัฐในองคาพยพทั้งหมดนำเสนอมุมเดียวอย่างไม่เป็นธรรม เสมือนว่าฝักใฝ่ทางการเมือง และ กกต.ไม่สนับสนุนแต่กลับพูดลดทอนการกาลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่มติ กกต.หลายครั้ง
ระหว่างการแถลงข่าว นายปานเทพ ได้เปิดหลักฐานล่าสุด เป็นป้ายโครงการไทยเข้มแข็งที่มีภาพ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าที่ กกต.ซึ่งทำงานอยู่ที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ มีป้ายโฆษณาโครงการไทยเข้มแข็งซึ่งใช้งบประมาณของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และมีรูปนายอภิสิทธิ์ อยู่ในอาคารศูนย์ราชการฯ ชี้ให้เห็นว่า กกต.ทำงานอยู่ในอาคารนี้แต่กลับปล่อยให้ป้ายโฆษณานายอภิสิทธิ์ในโครงการไทยเข้มแข็งด้วยงบประมาณของรัฐ อยู่ในอาคารที่ใกล้กับบริเวณ กกต. เอง แต่กลับไม่ทำอะไร แสดงให้เห็นว่า กกต.มีการกระทำที่มีลักษณะเข้าข้าง ไม่เป็นกลาง บั่นทอนคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นหลัก และไม่รณรงค์ให้ประชาชนรู้ว่ายังมีช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนด้วย ต่างกรรมต่างวาระ
“ในวันนี้ กกต.มีแต่การให้สัมภาษณ์บั่นทอนการกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ทุจริตการเลือกตั้งเกลื่อนเมือง มีการจ่ายเงินซื้อสิทธิขายเสียงจำนวนมาก มีการใช้อิทธิพล นักเลง ใช้อาวุธปืนมาข่มขู่พี่น้องประชาชนและผู้รณรงค์จำนวนมาก ที่โคราชก็มีการทุบขว้างหินใส่ศูนย์ประสานงานช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน โดยที่ กกต.ทำอะไรไม่ได้เลย ถือว่า กกต.ล้มเหลวที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้” นายปานเทพ กล่าว
ด้าน นายประพันธ์ กล่าวว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลได้ใช้สื่อของรัฐทุกช่อง พยายามที่จะให้นักวิชาการ นักกฎหมาย หรือแม้กระทั่ง กกต.ออกมาพูดในลักษณะต่อต้านหรือทำลายการรณรงค์โหวตโน ความจริงแล้วในช่วงที่พันธมิตรฯ รณรงค์โหวตโน ประเด็นหลักที่สุดคือปัญหาเรื่องการเมือง ต้องการให้ประชาชนแสดงออกซึ่งสิทธิ์และเสรีภาพในทางการเมือง ซึ่งไม่มีใครที่จะบังคับ ขัดขวาง หรือจำกัดสิทธิของเราได้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยทุกประการ
ส่วนนักกฎหมายที่ออกมาโต้แย้งการโหวตโนโดยหลักการนั้น รัฐบาลเดิมทีอาจจะไม่ได้สนใจการรณรงค์โหวตโน นึกว่าประชาชนไม่น่าจะทำให้เกิดกระแสใหญ่โตได้ถึงขนาดนี้ เริ่มแรกมีเพียง นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส.เพียงคนเดียวที่ออกมาโต้แย้ง แต่ก็ไม่สามารถหักล้างเหตุผลได้ มาถึงโค้งสุดท้ายกระแสโหวตโนมาแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจึงใช้วิธีให้ กกต. มาให้ความคิดเห็น ทั้งๆ ที่ความจริง กกต.ไม่มีหน้าที่มาให้ความเห็นในทางกฎหมาย ต้องไปลงมติกรณีมีข้อพิพาทหรือมีเรื่องร้องเรียนที่ต้องพิจารณาตามอำนาจของ กกต.ที่มีอยู่เท่านั้น ถือว่าทำผิดหน้าที่และมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง จงใจในลักษณะที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ นายสมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปออกรายการให้ความเห็นในเชิงลักษณะแตกต่างไปจากที่นักกฎหมายเคยให้ความเห็นว่าการโหวตโนมีผลทางกฎหมาย ทำนองว่า มาตรา 88 ไม่นำมาใช้เลือกตั้งคราวนี้ ไม่มีผลทางกฎหมาย นายประพันธ์กล่าวว่านายสมคิดเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกฎหมายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยได้รับการเชื้อเชิญผ่านนายสุรพล นิติไกรพจน์ ที่ได้รับการสนับสนุนให้ไปเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ไม่ว่ากรณีถอดเครื่องราชย์ ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบว่านายสมคิดไปเป็นที่ปรึกษาให้กับนายอภิสิทธิ์
ทั้งนี้ ที่ นายสมคิด ออกมาในโค้งสุดท้าย เพราะไม่มีใครที่จะมีเครดิตพอที่จะมาโต้แย้งกับความเห็นทางกฎหมายกับพันธมิตรฯ ได้ แม้นายสมคิดจะเคยเป็นเลขานุการคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่นาวาตรีประสงค์ออกมาให้ความเห็นแล้ว นายอภิสิทธิ์คงอยากจะให้มีคนมาแย้ง เพราะแนวโน้มคนเข้าใจในเรื่องของข้อกฎหมายตรงกันแล้วว่ามีผลทางกฎหมาย แต่นายสมคิดก็เป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่ง ซึ่งในทางกฎหมายศาลไม่เคยเอาความคิดเห็นนักวิชาการเป็นบรรทัดฐาน เช่นคดีซุกหุ้นหรือคดียุบพรรค นักวิชาการบางคนก็มีความคิดเห็นไปอีกทางหนึ่ง ความเห็นทางวิชาการจะไม่ได้ยึดถือเป็นข้อยุติ เพราะมักจะคิดในหลายแง่มุม แต่ฝ่ายที่จะยึดถือและเป็นข้อยุติคือศาล การใช้กฎหมายจะเป็นอำนาจของตุลาการและเป็นอันยุติ การออกมาโต้แย้งในขณะนี้เพียงเพื่อจะทำลายคะแนนที่ประชาชนจะไปโหวตโน และบีบบังคับประชาชนให้หันกลับไปเลือกพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์จากการรณรงค์โหวตโน
ส่วน พลตรี จำลอง กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่มีการรณรงค์โหวตโนอย่างกว้างขวาง จึงมีการโต้แย้งมากขึ้น ยิ่งมีการโต้แย้งยิ่งเป็นการกระพือโหมให้ประชาชนสนใจมากขึ้น การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ อันเนื่องมาจากการรณรงค์โหวตโนของพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม กกต.น่าจะขอบคุณพวกเราที่ทำให้การเลือกตั้งคึกคักขึ้น มิฉะนั้นการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างหงอยเหงาเหมือนคราวที่ผ่านมา การรณรงค์โหวตโนเมื่อได้ผลอย่างมากมายก็ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มไหวหวั่น บางพรรคมีป้ายออกมาเพื่อต่อต้านการรณรงค์โหวตโน
ทั้งนี้ ประชาชนให้การสนับสนุนการรณรงค์โหวตโน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่เป็นจำนวนมาก เห็นได้จากการที่พรรคเพื่อฟ้าดินตั้งเวทีหาเสียง และมีพรรคการเมืองพรรคใหญ่ตั้งเวทีหาเสียงใกล้กัน ปรากฏว่ามีหลายแห่งเวทีปราศรัยของพรรคการเมืองพรรคใหญ่เลิกการปราศรัยก่อนเวลา เพราะมีคนฟังเวทีรณรงค์โหวตโนมากกว่า ซึ่งเรื่องโหวตโนเป็นเรื่องใหม่ที่สามารถชี้แจงต่อประชาชนได้ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ดี และคิดว่า ไม่น่าจะต้องหาทางหักล้างหรือทำลายกันในเรื่องนี้ ย้ำว่าการลงคะแนนโหวตโนทำเพื่อประเทศชาติและบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่ทำเพื่อพรรคใดหรือคนใดคนหนึ่ง และไม่ได้คำนึงถึงตัวเองหรือพรรคของตัวเอง ไม่คิดว่าจะทำได้ถึงขนาดนี้