ผ่าประเด็นร้อน
นาทีนี้หากสังเกตให้ดียังไม่พบว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการกับการตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก ของสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าเจรจาฝ่ายไทยระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีส เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน เพราะไม่มีการแถลงท่าทีอย่างเป็นทางการ
กลายเป็นว่า “ไม่ชัดเจน” มีเพียงโฆษกรัฐบาล ปณิธาน วัฒนายากร ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า มีรัฐมนตรีหลายคนที่สนับสนุนเท่านั้น
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แม้จะให้สัมภาษณ์หลายคำถาม แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า เขาไม่ได้ย้ำให้เห็นชัดเจนเลยว่าสนับสนุนการตัดสินใจของสุวิทย์หรือไม่ มีแต่พูดอ้อมไปอ้อมมา และมีการนำจดหมายของผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกที่ยืนยันว่าในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนั้นไม่มีวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการของกัมพูชาที่ผนวกเอาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นพื้นที่ของไทยเข้าสู่การพิจารณาแต่อย่างใด และขอให้ทบทวนการตัดสินใจใหม่ ซึ่งเขาก็ยังมีท่าที “กำกวม” บอกว่ามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงวัฒนธรรมไปพิจารณาว่าสมควรกลับเข้ามาร่วมเป็นภาคีมรดกโลกอีกครั้งหรือไม่ โดยให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลหน้า จากนั้นก็กลบเกลื่อนไปพูดนอกประเด็น เช่น เยาะเย้ย “ฮุนเซน” ผู้นำกัมพูชาว่าต้องเสียหน้า เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมจากคนไทยบางกลุ่มเสียอีก
เท่าที่จับอาการเห็นท่าทีชัดเจนของ อภิสิทธิ์ แค่ว่าสนับสนุนให้ “เลื่อน” การพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการของกัมพูชาออกไปเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องการถอนตัวพ้นกรรมการมรดกโลกแต่อย่างใด นั่นก็หมายความว่าหากเดินตามแนวทางนี้เราต้องเข้าร่วมประชุมและเมื่อถึงเวลาโหวตเราก็แพ้กลายเป็นเสียงข้างน้อย เสร็จเขมร เสร็จฝรั่งเศสทันที แต่โชคดีที่ สุวิทย์ ตัดสินใจถอนตัวเดินออกมาเสียก่อน ทำให้สะดุดกันไป “ชั่วคราว” ที่บอกว่าชั่วคราวนั้นเป็นเพราะหากพิจารณาในอนุสัญญาฯมาตรา 35 การถอนตัวจะมีผลในอีก 1 ปีข้างหน้า นั่นคือยังมีความเสี่ยงจากรัฐบาลใหม่ เพราะถ้าจะให้เด็ดขาดก็ต้องสั่งให้ถอนตัวตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อให้มีผลในปีนี้ แต่ที่ผ่านมามีแต่สั่งให้รับรองข้อผูกพันและให้เลื่อนการประชุมออกไปอย่างเดียวดังกล่าว
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนหน้านี้ท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศที่นำโดย กษิต ภิรมย์ แนบแน่นกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์มาตลอด คราวนี้ก็ส่งตัวแทนร่วมคณะไปสองคนคือ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต และอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนจากกรมสนธิสัญญา ซึ่งต่อมามีการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ อ้างเป็น “แหล่งข่าว” จากกรมสนธิสัญญาตำหนิสุวิทย์ที่ตัดสินใจถอนตัว โดยระบุว่า “เสียมารยาท” ทางการทูตเสียด้วยซ้ำ แล้วอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร แม้ว่าต่อมา ชวนนท์จะออกมาปฏิเสธและย้ำว่าเขาไม่ได้คัดค้านและเห็นด้วยกับท่าทีของสุวิทย์ก็ตาม แต่นั่นก็ไม่เคลียร์อยู่ดี เพราะที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศมักเห็นเป็นตรงกันข้ามตลอดเวลา และคราวนี้ หากบอกว่าฝ่ายที่ “เสียหน้า” น่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศมากกว่า เพราะกลายเป็นว่าบทบาทนำในการเจรจาจนนำไปสู่การถอนตัวคือ สุวิทย์ ที่เป็นหัวหน้าคณะจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จนนำไปสู่การให้สัมภาษณ์ขัดขา ดิสเครดิตกันหรือเปล่า
วกกลับมาที่ท่าทีของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอีกครั้ง หากพิจารณากันมาตั้งแต่ต้น ก็จะเห็นว่าเขาไม่เคยมีท่าทีชัดเจนสักเรื่องเดียวต่อกรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา หรือยืนยันอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหาโดยขณะที่เป็นผู้นำรัฐบาลกว่าสองปีกลับมีท่าทีตรงกันข้ามกับสมัยที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านอย่างสิ้นเชิง เช่น ก่อนหน้านี้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ที่ต้องควบเอาพื้นที่โดยรอบ ในตอนนั้นยืนยันว่าเป็นของไทย แต่ผ่านมากลับเปลี่ยนท่าทีใหม่ ยืนยันอย่างเดียวคือให้เลื่อนออกไปเท่านั้น มิหนำซ้ำยังย้ำถึงผลดีของข้อตกลงว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา (เอ็มโอยู 43) ที่ยอมรับแผนที่กัมพูชามาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ทำให้เราเสียเปรียบมาตลอด
นอกจากนี้ หากยังจำกันได้ก่อนที่จะเริ่มกลับมาชุมนุมใหญ่ที่สะพานมัฆวานฯ เพียงหนึ่งวัน เขาก็ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ชี้แจงกรณีกัมพูชาจับกุม 7 คนไทยก็พูดวกไปวนมาหาทำเรื่องเข้าใจง่ายกลายเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่สรุปว่า “คนไทยผิด” แล้วให้ไปขออภัยโทษจากกัมพูชา ทั้งที่ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะต้องมีท่าทีแข็งกร้าวยืนยันในอธิปไตยของไทย เพราะสิ่งที่คนเหล่านั้นทำอยู่ไม่ใช่เป็นเรื่องการลักขโมยควายของกัมพูชาตามแนวชายแดน แต่เป็นการเข้าไปพิสูจน์ดินแดน ทำด้วยความรักชาติ แต่รัฐบาลก็ไม่เคยปกป้อง ตรงกันข้ามเหมือนกับจงใจเสือกใสให้ไปติดคุกเสียอีก
มาถึงวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นว่าการถอนตัวของสุวิทย์ คุณกิตติ ได้รับกระแสชื่นชมจากคนไทยจำนวนมาก มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้การสนับสนุน ทำให้ตัวเองต้องออกมาโหนกระแส ชิงตัดตอนนำมาหาเสียงหน้าตาเฉย ขณะที่ปากก็ยังไม่เคยชื่นชมสนับสนุน สุวิทย์ ออกมาสักคำ
ดังนั้น หากพิจารณาทุกกรณีภายใต้การบริหารของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีแต่ความวุ่นวาย เสี่ยงต่อการเสียดินแดน ทำให้ประเทศเสียศักดิ์ศรีถูกผู้นำประเทศเพื่อนบ้านย่ำยีอยู่ทุกวัน เป็นเพราะเรามีผู้นำที่โลเล อ่อนแอไม่อาจพึ่งพาได้ทั้งในสถานการณ์ปกติและในยามวิกฤติ และที่เจ็บปวดก็คือชอบ “ตีกิน” โหนกระแส แอบอ้างความสำเร็จจากผลงานของคนอื่นอยู่ร่ำไป!!