xs
xsm
sm
md
lg

สับรัฐอัปยศ ส่อกลับลำ ร่วมมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ปานเทพ" อัด "มาร์ค" ต้องรับผิดชอบที่ยังยืนกรานใช้เอ็มโอยู 43 จี้ไทยยืนหยัดค้านขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ชี้"สุวิทย์" พูดชัด"มาร์ค"ไม่หนุนให้ลาออก แนะอย่ากลับเข้าไปอีก เหตุกรรมการมรดกโลกกระทำขัดเจตนาตัวเอง ด้าน"ประพันธ์" ซัดรัฐส่ออัปยศ คิดทบทวนกลับลำเข้าภาคีอีก เตือนเข้าข่ายรัฐบาลขายชาติชัดเจน

วานนี้ (28 มิ.ย.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วย นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีที่ไทยถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก

**ยูเนสโกล็อบบี้ไทยกลับเป็นสมาชิก

นายปานเทพ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นพบ ยูเนสโก แจ้งว่าฝ่ายไทยได้ใช้อาศัยกฎอนุสัญญามรดกโลก ข้อ 35 ซึ่งฝ่ายไทยจะทำการบอกเลิกอย่างเป็นทางการ เพื่อประกาศไม่ยอมรับการพิจารณาใดๆ ของภาคีอนุสัญญามรดกโลก หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 12 เดือนถึงจะมีการถอนตัวจริง

ในระหว่างนี้ ฝ่ายไทยจะต้องยืนหยัด คัดค้านแม้กระทั่งการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และพื้นที่รอบๆ และขอบปราสาทเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ตอนเป็นฝ่ายค้าน

ล่าสุดเราได้เอกสารมาจาก นางอีรีนา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ซึ่งได้ออกแถลงการณ์แก้ตัวกับฝ่ายไทยว่าไม่ได้มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงแค่พิจารณาในการที่จะออกมาตรการป้องกัน และอนุรักษ์ทรัพย์สินปราสาทพระวิหาร และพื้นที่โดยรอบ หลังจากที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ถอนตัวเรียบร้อยแล้ว โดยเรียกร้องให้ไทย และกัมพูชาได้อาศัยเวทีในเรื่องของมรดกโลกในการเจรจาพูดคุยกันต่อไป

นายปานเทพ กล่าวถึง กรณีที่ นายปณิธาน วัฒนายากร ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในที่ประชุมครม. ฝ่ายไทยอาจจะทบทวนการถอนตัวออกจากมรดกโลก เมื่อท่าทีดีขึ้น ว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าการถอนตัวออกจากมรดกโลก ผ่านการตัดสินใจโดยนายสุวิทย์ครั้งนี้ ปรากฏชัดเจนจากคำสัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ ว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เห็นด้วยเลย แต่อาศัยว่า นายสุวิทย์ มีมติครม. ที่ให้อำนาจเต็มในการตัดสินใจไปแล้ว

** ชี้ชัดเอ็มโอยู43 ไม่เป็นคุณกับไทย

"ดูเหมือนรัฐบาลพยายามที่จะเดินหน้ามรดกโลกต่อ โดยที่อาศัยว่า สิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ก็คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจ และจัดทำหลักเขตทางบกแดนไทย-กัมพูชา ปี 2543 หรือ เอ็มโอยู 2543 มันล้มเหลวในการขัดขวางในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก ไม่มีชาติไหนเขาเชื่อถือเอ็มโอยู 2543 ของฝ่ายไทย ไม่มีใครเขาฟัง แสดงว่าอำนาจต่อรองเกิดขึ้นเพียงเพราะว่า ไทยถอนตัวออกจากมรดกโลกเป็นสาเหตุสำคัญ นายอภิสิทธิ์ไม่มีสิทธิ์จะอ้างเรื่องเอ็มโอยู 2543 อีกต่อไปแล้ว เป็นสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ จะต้องรับผิดชอบกับการยืนยันที่จะใช้เอ็มโอยู 2543 แล้วล้มเหลวในเวทีมรดกโลก โดยต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรการ โดยที่นายสุวิทย์ ต้องถอนตัวออกจากมรดกโลกโดยทันที" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า เมื่อทางยูเนสโกได้ส่งหนังสือมา ตนเห็นว่าฝ่ายไทยไม่ควรจะกลับเข้าไปอีก สืบเนื่องมาจากเมื่อรัฐบาลมาจากรัฐบาลที่ตอนที่เป็นฝ่ายค้าน ได้คัดค้านแม้กระทั่งการขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหาร ก็จะต้องยืนยัน ไม่ใช่ไปเดินหน้ารับรับรองการอนุรักษ์การจัดการ ทั้งที่การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และพื้นที่ขอบๆ ไปด้วยยังคงอยู่เหมือนเดิม มีการฝ่าฝืนต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญของไทย ว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชานั้นเป็นแถลงการณ์ร่วมที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ที่สำคัญ ยูเนสโกโดยเฉพาะคณะกรรมการมรดกโลก ได้ฝ่าฝืนมติของตัวเอง ว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายไทยด้วย

** ชี้ขึ้นทะเบียนฯ ขัดแย้งหลักการ

ด้านนายประพันธ์ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการขัดแย้งกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลก มาตราที่ 11 อย่างชัดแจ้งมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งมาตรา 11 ข้อ 3 ระบุว่า ในการพิจารณาบรรจุทรัพย์สมบัติ หรือทรัพย์สินที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติ ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกโลก จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ทรัพย์สมบัติ หรือทรัพย์สินที่จะพิจารณาบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อมรดกโลก มีที่ตั้งอยู่ในอาณาเขต หรืออำนาจอธิปไตย หรือเขตอำนาจศาลมากกว่า 1 รัฐ จะต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดการโต้แย้ง จากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้อ้าง เอ็มโอยู 2543 ซึ่งใครไปอ่านทั่วโลกก็เป็นที่ยอมรับว่า รัฐบาลที่ไปทำเอ็มโอยู 2543 ไปยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ให้กัมพูชานำมาอ้างในการที่จะกำหนดการสำรวจและปักปันเขตแดนขึ้นมาใหม่ โดยฝ่ายไทยอ้างสนธิสัญญา ฝ่ายกัมพูชาอ้างแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ทั้งสองฝ่ายทำหลักฐานทั้งสองไปทำงานร่วมกัน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการสำรวจ ปักปันเขตแดน เมื่อเป็นเช่นนี้กัมพูชา จึงต้องอ้างเอ็มโอยู 2543 ว่าพื้นที่ปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบถ้าพิจารณาตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตามเอ็มโอยูแล้ว จะอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไทยก็ยังโต้แย้งว่าตามสนธิสัญญานี้ไม่ใช่ เป็นพื้นที่ของไทย และการสำรวจปักปันเขตแดนได้จบสิ้นไปแล้ว แสดงว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในกรณีนี้ มีข้อโต้แย้งเรื่องปัญหาดินแดน เอกราช อธิปไตยมาตั้งแต่ต้น และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการมรดกโลกจะสามารถยอมรับให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้

**ต้องเคลียร์ปัญหาเขตแดนก่อน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านายสุวิทย์ได้ทำหน้าที่ในการที่จะยืนยันเรื่องนี้ว่า ถ้าหากจะมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะต้องมีการตกลง และพูดคุยกันเรื่องปัญหาเส้นเขตแดนให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แต่กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ พยายามจะทำเรื่องนี้ให้เป็นลักษณะสมประโยชน์กับฝ่ายกัมพูชามาโดยตลอด แม้กระทั่งวันนี้ ที่นายสุวิทย์ ได้ยื่นหนังสือเพื่อลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังมีความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้กลับคืนไปสู่สถานะเดิม คือกลับคืนไปสู่วาระการพิจารณา เพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา ให้เดินหน้าต่อไป

โดยมาตรา 35 ของกฎอนุสัญญามรดกโลก ที่นายสุวิทย์ ยื่นหนังสือลาออกนั้น ประเทศรัฐภาคีมีสิทธิ์จะบอกเลิกการเป็นสมาชิกในอนุสัญญานี้ได้ ประการต่อมา เหตุผลที่เรามีสิทธิ์ และเหตุผลที่เราเลิกก็อย่างที่นายสุวิทย์ แถลงไปแล้ว และการบอกเลิกต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร เสนอต่อผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก วันนี้ยื่นไปแล้ว แล้วยูเนสโก พยายามมาล็อบบี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ให้กลับเข้าไปใหม่ และครม.ก็มีการประชุม เพื่อทบทวนเรื่องนี้

**หาก"มาร์ค"กลับลำถือว่าขายชาติ

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นความอัปยศ และเป็นเรื่องที่ควรประณามนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลอย่างยิ่ง ในขณะที่ประชาชนไทย และนายสุวิทย์ ทำหน้าที่เพื่อปกป้องเอกราช อธิปไตย และถอนเรื่องนี้เพราะเห็นว่า ถ้าหากเดินหน้าต่อไป เราเสียดินแดนและถูกผนวกพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการ ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาแน่ และเรื่องนี้มีบรรจุอยู่ในวาระการประชุม และที่ประชุมก็ดึงดันจะนำเข้าที่ประชุม โดยไม่ฟังเสัยงคัดค้านของนายสุวิทย์ และคณะผู้แทนไทย นายสุวิทย์ และนายเทพมนตรี ลิมปพยอม ในฐานะผู้สังเกตการณ์ไปร่วมประชุม ก็ยืนยันในเรื่องนี้

" ทำไมนายอภิสิทธิ์ ถึงพยายามที่จะทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องที่กลับคืนไปสู่
สถานะเดิม คือจะทบทวนการถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก ผมถือว่าการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะมาทบทวนเรื่องนี้ ด้วยการที่ยูเนสโกมาล็อบบี้นั้น เท่ากับเป็นการกลืนน้ำลาย กลับลำ และเป็นการทรยศต่อประเทศชาติ และประชาชน เท่ากับเป็นการไปยอมรับดำเนินกระบวนการที่จะนำไปสู่การขายชาติขายแผ่นดิน ที่คนอย่างนายอภิสิทธิ์ ไม่สมควรที่จะกระทำเรื่องนี้" นายประพันธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การออกจากภาคีมรดกโลกนั้น จะมีผลในอีก 12 เดือนข้างหน้าก็จริง ในระหว่างนี้ อาจจะทำให้รัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือมีการกลับเข้าไปในจังหวะเวลานี้ ย่อมเป็นการที่ไม่เหมาะสม เพราะเราเพิ่งประกาศถอนตัวออกมา และทางฝ่ายกัมพูชา ยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก ยังไมีมีท่าทีที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไปในทิศทางที่จะเป็นไปตามข้อเรียกร้องของประเทศไทยเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น