กมธ.ต่างประเทศ วุฒิสภา หนุนถอนตัวมรดกโลก เชื่อดึงดันต่อเสียดินแดนแน่ ระบุหากปล่อยทีมบูรณะเข้ามาเสี่ยงโดนรุกพื้นที่ วอนอย่าโยงเรื่องการเมืองเพราะเกี่ยวกับอธิปไตย อย่านำเรื่องนี้มาหาเสียง แต่รัฐต้องเร่าประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริง ยันไม่กระทบความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน หากปล่อยให้มีการอนุมัติจะหนักกว่า หนุนทหารทำหน้าที่ป้องดินแดน ชี้หากเกิดสงครามเขมรเริ่มก่อนแน่
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา ร่วมกันแถลงกรณีที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกและกรรมการมรดกโลก โดยนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก ในฐานะประธาน กมธ.กล่าวว่า ขอชื่นชมตัวแทนฝ่ายไทยที่แจ้งความจำนงขอถอนตัวออกจากภาคี ซึ่ง กมธ.เห็นด้วยกับการแสดงเจตจำนงค์ในการถอนตัวครั้งนี้ เพราะหากไทยเข้าร่วมการประชุมต่อไปเท่ากับเป็นการยอมรับในประเด็นที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เนื่องจากความไม่ชัดเจนในร่างข้อมติแนวทางการปฏิบัติ (Operational Guidelines) ที่จะเสนอให้ที่ประชุม นอกจากนี้ การดำเนินการของไทยทำให้ยูเนสโกหันกลับมาให้ความสำคัญในการทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างแท้จริง
นางพิกุลแก้วกล่าวต่อว่า นอกจากนี้การแสดงเจตจำนงของคณะผู้แทนเจรจาไทยที่ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกนั้น ยังไม่มีผลผูกพันตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกตามมาตรา 35 เนื่องจากต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรในการยื่นต่อผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก และการบอกเลิกจะมีผลเมื่อครอบระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันที่มีหนังสือตอบรับการบอกเลิกจากรัฐภาคี โดยไทยจะต้องมีหนังสือทลงนามโดยนายกรัฐมนตรีหรือ รมว.ต่างประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กมธ.ขอฝากไปยังรัฐบาลเรื่องการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงผลการประชุม ให้กับสื่อมวลชนและประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจในกรณีดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใด กมธ.มองว่าร่างข้อตกลงไม่ชัดเจน เพราะในร่างดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร รวมทั้งที่ประชุมก็ยังจะไม่ได้พิจารณาลงในรายละเอียด นางพิกุลแก้วกล่าวว่า แม้ร่างข้อมติไม่ได้ระบุเรื่องพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ลงไป แต่เท่าที่ได้ฟังการชี้แจงจากผู้แทนไทย ได้แก่ ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ ได้อธิบายว่า ร่างข้อมติอาจจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. แต่คนข้างนอกโดยทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจในรายละเอียด ฉะนั้นอะไรที่ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการตัดสินใจ ก็ถอนตัวดีกว่า ซึ่ง กมธ.ก็เห็นด้วย เพราะความสุ่มเสี่ยงนั้นมีหลายข้อในร่างข้อมติ โดยข้อเสนอของกัมพูชาในร่างข้อมติข้อ 6 เรื่อง ถ้อยคำของการเข้าไปบูรณะพื้นที่จะทำอย่างไร ซึ่งของไทยยังไม่ได้เสียเปรียบอะไร แต่การที่เราตัดสินใจถอนตัวออกมา ก็ไม่ได้เสียอะไร และถือว่าดีเพราะไม่สุ่มเสี่ยง
เมื่อถามว่า กมธ.มองอย่างไรว่า กรรมการส่วนใหญ่คล้อยตามกัมพูชา และไม่ฟังคำคัดค้านของฝ่ายไทย นางพิกุลแก้วกล่าวว่า เท่าที่ทราบกรรมการของนานาชาติไม่ได้คล้อยตามกัมพูชา แต่ไม่มีใครติงในเรื่องนี้ในที่ประชุม เพียงแต่ว่า ในที่ประชุมก็จะเสนอแผนบริหารจัดการเข้ามาให้พิจารณาเลย ฝ่ายไทยจึงวอล์กเอาท์ออกมา และแจ้งเจตจำนงค์ว่าจะขอถอนตัวออกจากภาคี
เมื่อถามว่า เป็นเพราะฝ่ายไทยให้หลักฐานและเหตุผลไม่ชัดเจนหรือไม่ว่าแผนที่ที่กัมพูชาแนบไปกับการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีส่วนไหนที่รุกล้ำเขตแดนไทย นางพิกุลแก้วกล่าวว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังไม่ถึงวาระการชี้แจงในรายละเอียด เพียงแต่ฝ่ายไทยได้คัดค้านบางข้อในร่างข้อมติไปแล้วก่อนที่ที่ประชุมยืนยันจะพิจารณาเรื่องนี้ให้ได้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือน พ.ค.54 กมธ.ก็ได้ไปพบรอง ผอ.ยูเนสโก แม้เขาจะตำหนิว่าฝ่ายไทยไม่ได้ตอบข้อหารือเกี่ยวกับร่างข้อมติทันที กว่าจะตอบไป กัมพูชาก็มีหนังสือร้องเรียนฉบับที่ 2 มาแล้ว ซึ่ง กมธ.ก็บอกว่าอาจเป็นเพราะฝ่ายไทยมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ จึงประสานงานกันไม่รวดเร็ว อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในบริบทของเหตุการณ์ แม้เจตนารมณ์ของกัมพูชาระบุว่า ต้องการที่จะบูรณะตัวปราสาท แต่เมื่อฝ่ายไทยส่งข้อมูลในพื้นที่จริงไปให้ คณะกรรมการมรดโลกก็เห็นว่า มีทหารกัมพูชาอยู่ในบริเวณปราสาทด้วย ซึ่งมันผิดอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ในที่ประชุมกรรมการมรดกโลกก็ได้เห็นและทำให้ตาสว่างขึ้น และไม่ได้ฟังข้อมูลด้านเดียว แต่เราเองก็อาจจะเสียเปรียบ เพราะเรามีอิสรภาพมาตลอด ก็ไม่มีประเทศไหนที่จะมาดูแลและปกป้องประเทศเราได้
เมื่อถามว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย และนายเตช บุนนาค อดีต รมว.ต่างประเทศ และนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท้วงติงว่า การเลือกวิธีนี้เป็นการตัดสินใจรวดเร็วไป ไม่มีวุฒิภาวะ เพราะยังมีวิธีอื่นให้แสดงจุดยืนคัดค้านได้และยังสามารถอยู่ข้างในเพื่อทราบความเคลื่อนไหวและคัดค้านต่อไปได้ นางพิกุลแก้วกล่าวว่า เดิมเรื่องปราสาทพระวิหาร กมธ.เห็นว่า ควรบริหารมรดกโลกชิ้นนี้ร่วมกันของ 2 ประเทศถึงจะดูดีที่สุด สมเหตุสมผลที่สุด เพราะเป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรม แต่เมื่อเรื่องเดินมาถึงจุดนี้ นักวิชาการหรืออดีต รมว.ต่างประเทศที่ว่ามาก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การประชุมจริง ซึ่งต้องมีการตัดสินใจเลย ณ ขณะนั้น ตัวแทนที่ไปประชุมของฝ่ายไทยก็ได้ขออนุมัติกับคณะรัฐมนตรีไปแล้วว่า ถ้าเกิดกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะขออนุญาตวอล์กเอาท์ออกมา ซึ่งผู้ที่มาชี้แจงกับ กมธ.ก็ระบุว่า ที่ถอนตัวเพราะต้องการปกป้องอธิปไตยของประเทศ กมธ.ก็เห็นพ้องว่า เรื่องนี้สำคัญที่สุด และสำคัญกว่าการใช้วิจารณญาณเลือกทางอื่นๆ
เมื่อถามว่า กมธ.มองหรือไม่ว่า เป็นการตัดสินใจบทพื้นฐานปัจจัยการเมืองภายในมาเกี่ยวข้อง เพราะใกล้เลือกตั้ง นางพิกุลแก้วกล่าวว่า ไม่อยากโยงไปเรื่องการเมือง ต้องแยกออกจากกัน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับอธิปไตย ซึ่งถ้าฝ่ายไทยไม่อยู่ในภาคีแล้ว แล้วมีการพิพาทกันจนเคลื่อนขบวนทหารเกิดขึ้น เราก็สามารถปกป้องอธิปไตยของเราได้ เพราะฝ่ายไทยบอกไปแล้วว่า ถอนตัว ดังนั้น กรรมการชาติอื่นๆจึงไม่สามารถมายุ่งได้ ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุมกรรมการมรดกโลก ก็มีการบิดเบือนข้อมูลไปต่างๆ นานา จนกระทั่งฝ่ายไทยมีข้อมูลพร้อม ทำให้ที่ประชุมฟังข้อมูลของฝ่ายไทยมากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ส่งทูตไปคุยกับเลขาธิการยูเนสโกหลายครั้ง ทำให้เห็นข้อเท็จจริงชัดเจนขึ้นและเข้าใจสถานการณ์เรื่องปราสาทพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชามากขึ้น
เมื่อถามว่า การถอนตัวจากภาคีจะมีผลต่อมรดกโลกแห่งอื่นเพราะจะไม่ได้รับการดูแลทั้งเงินทุน และการเข้ามาตรวจสอบว่าได้มาตรฐาน นางพิกุลแก้วกล่าวว่า การเป็นสมาชิกภาคีมรดกโลก หลังๆ ก็เป็นการขายแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า และบางที่ที่เป็นมรดกโลก เราก็ไม่รู้ว่าเป็น เช่น วัดโพธิ์ แต่อย่างวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ไม่ได้เป็นมรดโลก ก็มีคนมาเที่ยวกันเยอะ และเงินที่ได้จากการทะนุบำรุงส่วนใหญ่ก็มาจากงบภายในประเทศ และภาษีของประชาชนในประเทศนั้นเอง ไม่ได้เอางบของเขา เพียงแต่เขาช่วยบำรุงให้และให้ขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งเราก็ปฏิบัติตามเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า การถอนตัวจากภาคีจากปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือไม่ นางพิกุลแก้วกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น ทำไมต้องเสียเพื่อนบ้าน ในเมื่อจะเป็นมรดโลกก็จะเสียเพื่อนบ้านเหมือนกัน และเขาก็ไม่ได้ทำตัวเป็นมิตร และมีกรณีพิพาทกันเนืองๆอยู่แล้ว ส่วนความกังวลของบางฝ่ายว่า เรื่องนี้จะทำให้กลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ กมธ.มองว่าไม่ใช่ เพราะสงครามระหว่างประเทศคงไม่ได้เกิดเพราะเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี มันก็มีการปะทะตามแนวชายแดนมาแล้ว แต่ไทยก็ไม่ได้เป็นผู้เริ่มแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนแนวทางแก้ไขในอนาคต ฝ่ายไทยก็ต้องปกป้องอธิปไตยของไทยตนเองต่อไป ส่วนจะปกป้องอย่างไรก็ขึ้นกับฝ่ายทหาร
เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า นางพิกุลแก้วกล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลรักษาการณ์เพราะอยู่ในช่วงเลือกตั้ง ตามมารยาทก็ต้องปล่อยให้รัฐบาลหน้าดำเนินการใดๆ และตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถอนุมัติอะไรได้ใหม่แล้ว รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไรก็แล้วแต่นโยบายของแต่ละรัฐบาล จะต้องทำตามรัฐบาลนี้หรือไม่ก็แล้วแต่
ด้าน พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา รองประธาน กมธ.คนที่ 1 กล่าวว่า ร่างมติยังไม่มีความชัดเจนว่า จะดูแลบูรณะปราสาทประวิหารอย่างไร ครอบคลุมกว้างขวางแค่ไหนในการที่จะบูรณะตามที่กัมพูชาเสนอเพื่อขอที่ประชุมเห็นชอบ ฝ่ายไทยก็พยายามขอดูความชัดเจนตรงนี้ว่า มีขอบเขตแค่ไหน เพราะรู้ว่าปราสาพระวิหารอยู่ริมผา ถ้ามีการบูรณะจะมีการเกินเลยดินแดนไทยมาแค่ไหน ก็ไม่มีใครให้ข้อมูลฝ่ายไทยได้ ฉะนั้น ผู้แทนไทยจึงเห็นว่าถ้ายังยอมจะอยู่ในการประชุมต่อไป จะกลายเป็นยอมรับในร่างข้อมติอันนี้ไปด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยก็ยังไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงเท่ากับเป็นการมัดมือชกในสิ่งที่ฝ่ายไทยไม่รู้ว่า สุ่มเสี่ยงการเสียดินแดนหรือไม่ หรือความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฉะนั้นจึงเหมาะสมแล้วที่ฝ่ายไทยแสดงเจตจำนงถอนตัว เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ที่ประชุมพยายามจะให้ฝ่ายไทยที่ส่วนรับผิดชอบ
พญ.พรพันธุ์กล่าวอีกว่า ส่วนข้อกังวลจากบางฝ่ายว่าเรื่องนี้จะทำให้กลายเป็นสงครามระหว่างประเทศนั้น การปะทะกันที่ผ่านมาทุกครั้งฝ่ายไทยไม่ได้ไปรุกรานก่อน แต่กัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มต้น ฉะนั้นฝ่ายไทยก็ต้องปกป้องอธิปไตย การที่บอกว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นชนวนความรุนแรงนั้น ไทยสามารถพูดได้เลยว่าจะต้องเป็นความรับผิดชอบของกัมพูชาที่จะมีการเริ่มต้นก่อนหรือไม่ ซึ่งถ้าเริ่มก่อน ฝ่ายไทยก็ต้องไม่อยู่เฉย ส่วนข่าวทั้งหลายที่ออกมาโจมตีว่า ไทยเป็นฝ่ายรังแกกัมพูชานั้น ข่าวดังกล่าวออกมาจากฝ่ายกัมพูชา และนักการเมืองของไทยบางคนที่ฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ความจริงก็ต้องเป็นความจริง ฝ่ายไทยได้ให้หลักฐานทั้งหมดกับคณะกรรมการมรดโลกแล้วว่า ทหารกัมพูชาอยู่เต็มบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งกัมพูชาเถียงไม่ได้เลย แล้วยังพยายามอ้างว่าเป็นการ์ดของยูเนสโก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรับฟัง ฉะนั้น รัฐบาลไทยได้พยายามชี้แจงมากแล้วว่า ไม่เคยไปรุกรานใครก่อน ไม่ใช่ทัศคติทั่วไปที่บอกว่า ประเทศใหญ่ชอบไปรุกรานประเทศเล็ก เพราะไทยสำนึกในเรื่องนี้และระวังท่าทีมาตลอดเพื่อไม่ให้นานาชาติมองไทยในแง่นั้น
ขณะที่ นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา ประธานที่ปรึกษา กมธ.กล่าวว่า การถอนตัวออกจากภาคี ฝ่ายไทยไม่เสียอะไร เพราะร่างข้อมติดังกล่าวในข้อ 6 ฝ่ายไทยไม่เห็นด้วยในเรื่องถ้อยคำบางคำ จึงเสนอถ้อยคำอีกแบบหนึ่ง แต่ทางกัมพูชาก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งสุดท้ายฝ่ายไทยก็แสดงเจตจำนงค์ขอถอนตัวออกมา ผลปรากฏว่า ที่ประชุมก็ตัดข้อนี้ออก ไม่พิจารณา แสดงว่าฝ่ายไทยไม่เสียอะไร และข้อเสนอของกัมพูชา เขาก็ไม่ได้ด้วย และทางผอ.ยูเนสโกยังรีบทำหนังสือชี้แจงมายังนายกรัฐมนตรีไทย แสดงว่ายูเนสโกก็กังวลและเข้าใจในเรื่องนี้ และการที่สมาชิกไม่คัดค้านการตัดข้อ 6 ออก แสดงว่าสมาชิกเข้าใจปัญหามากขึ้นว่ามีความสำคัญกระทบต่อไทยอย่างไร ฉะนั้น กมธ.เห็นว่า ตัวแทนฝ่ายไทยทำถูกแล้ว