ผ่าประเด็นร้อน
หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าการขับเคี่ยวกันระหว่างสองพรรคใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยเพื่อชิงอำนาจในโค้งสุดท้ายดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อดูจากแนวทางการเคลื่อนไหวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และลิ่วล้อ ต่างก็พยายามเน้นย้ำชี้ให้เห็นถึงความ “เห็นแก่ตัว” ทำตัวเป็นเทวดาของ ทักษิณ ชินวัตร ว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อขอนิรโทษกรรมลบล้างความผิดให้กับพี่ชาย และต้องหาทางทวงเงินที่ถูกยึดไป 4.6 หมื่นล้านบาทกลับคืนมาให้ได้ ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะเป็นจริงอย่างนั้นเสียด้วย
แม้ว่าคำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทีมงานปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จะพยายามเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาในประเด็นดังกล่าวอาจไม่มีผลสั่นสะเทือนมากนัก เพราะเชื่อว่าคนจำนวนมากได้ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยกันไปล่วงหน้าแล้ว ตามที่ผลสำรวจออกมาหลายสำนักตรงกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ตามหลังแบบไม่เห็นฝุ่น
อย่างไรก็ดี การออกมาเน้นย้ำในเรื่อง “อภิสิทธิชน” เอาเปรียบคนอื่น โดยเฉพาะในกรณีการนิรโทษกรรม การทำลายระบบนิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะหาทางเอาเงินที่ถูกริบคืนไปกลับมาให้ได้ ซึ่งหลายคนก็อ่านออกว่าจะต้องดำเนินการแน่ๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการเปิดเผยท่าทีออกมาอย่างชัดเจนจากหลายคนในพรรคเพื่อไทย ไม่เว้นแม้แต่ “โคลนนิ่ง” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังเคยพูดเอาไว้ตั้งแต่แรก เมื่อครั้งที่ตอนเปิดตัวเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง แต่เมื่อมีการรณรงค์หาเสียงกันจริงๆกลับถูกโจมตีตอบโต้กลับมา กลายเป็นพลังตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้นทุกที
และนับวันยิ่งมีแนวโน้มขยายวงกว้าง เพราะสังคมเริ่มทนไม่ได้กับการเอาเปรียบ การทำลายระบบนิติรัฐเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว มิหนำซ้ำคนคนนั้นยังเป็นคนที่ทุจริตคอรัปชั่นเสียด้วย อีกทั้งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีทุจริตถือว่าไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อน เนื่องจากคดีแบบนี้ถือว่าไม่ใช่เป็นคดีการเมืองอย่างที่พยายามบิดเบือนกันอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้มีเครือข่ายต่อต้านการนิรโทษกรรมคอร์รัปชันทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึงการดำเนินคดีต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีให้ “ข้อมูลเท็จ” ต่อเนื่องจากคดีซุกหุ้นของพี่ชาย โดยคนกลุ่มนี้ได้แจ้งความดำเนินคดีดักหน้าเอาไว้เรียบร้อยแล้ว หากวันหน้ายิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ ก็ไม่อาจผลักดันแก้ไขกฎหมายที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย ตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรม หรือในเรื่องการแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องให้ ทักษิณ และตัวเองได้ประโยชน์
นอกจากนี้สิ่งที่น่าจับตากันอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การ “แก้แค้น” ฝ่ายตรงข้าม โดยในตอนแรกคงมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยคงจะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ อหังการ์ไม่เห็นใครอยู่ในสายตา จึงเป็นที่มาของการประกาศ “ย้ายล้างบาง” ข้าราชการที่เห็นว่าเป็นคนของขั้วอำนาจเก่า หรือเป็นคนของ “อำมาตย์” เป็นต้น
ที่ผ่านมามีการหมายหัวข้าราชการหลายคนที่อยู่ในข่ายจะต้องถูกโยกย้ายออกไปเป็นอันดับแรกๆ หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เช่น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ธาริต เพ็งดิษฐ์ ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดทั้งในภาคเหนือและอีสาน รวมไปถึงข้าราชการตำรวจหลายนาย ระดับอธิบดีของกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญหลายตำแหน่งที่คาดว่าจะตกเป็นเป้าหมายของการ “แก้แค้น” เช็กบิล เพราะเคยมีการประกาศว่าจะต้องย้ายแน่นอน ถึงขั้นขู่ไว้ล่วงหน้าว่าให้เตรียม “เก็บกระเป๋า” ไว้ได้เลย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ด้วยธรรมชาติของการเอาตัวรอด ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อเห็นภัยรออยู่ข้างหน้า เห็นกันชัดๆ อยู่แล้ว บางครั้งมันก็เกิดแรงต้าน รวมหัวกันอย่างขนานใหญ่เตรียมต่อสู้เหมือนกัน และด้วยความรู้สึกแบบนี้นี่เองทำให้ล่าสุดทำให้พรรคเพื่อไทยต้องปรับท่าที เปลี่ยนวิธีพูดกันใหม่ ซึ่งนาทีนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่
เป็นเพราะคะแนนความนิยมไม่ได้ทิ้งขาดอย่างที่ พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมายืนยัน ทำให้เห็นว่าผลสำรวจที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นการ “ปั่นกระแส” หวังผลทางจิตวิทยา หรือที่เรียกว่า “โพลรับจ้าง” นั่นเอง หรืออาจเป็นเพราะต้องการ “สรุปบทเรียน” ในอดีตที่แม้จะชนะเลือกตั้งได้อำนาจรัฐบาล แต่บริหารไม่ได้มันก็ไม่มีประโยชน์ ต้องขาดทุนป่นปี้
อีกทางหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามตายใจ ไม่ให้ระวังตัว แต่เชือดทีเดียวก็ได้ผลทันที ซึ่งที่ผ่านมาในยุคที่ระบอบทักษิณ ครองอำนาจก็ใช้แผนปฏิบัติการแบบฉับพลันไม่ให้ตั้งตัวติด และมักทำแบบนี้ทุกครั้ง
เพื่อการันตีความเชื่อมั่นจากภายนอกให้แน่นอนอีกครั้ง ระดับ “เจ้าของ” อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็จำเป็นต้องออกโรงเองอีกรอบ โดยเฉพาะการใช้สื่อต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกลับเข้าสู่สังคมภายนอก โดยเฉพาะการส่งสัญญาณกลับมายังประเทศไทย
การให้สัมภาษณ์กับสื่ออาหรับแห่งหนึ่งล่าสุดของ ทักษิณ ชินวัตร มีประเด็นที่ต้องจับเป็นอาการออกมาในเรื่อง การ “ไม่แก้แค้น” เน้นย้ำกันอยู่สองสามครั้ง มันก็ต้องมีอะไรผิดสังเกตแน่นอน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อหันไปมองย้อนถึงอารมณ์ นิสัยใจคอของเขาในอดีตไล่เรียงกันมาทำให้พบความจริงอย่างหนึ่งว่าถ้าเขาพูดอย่างไรให้มองในสิ่ง “ตรงกันข้าม” เสมอ เหมือนกับที่บอกว่า “ไม่แก้แค้น” หากนำไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมเก่าๆ ก็คือ “แก้แค้น” แน่นอน เพียงแต่ว่ากำลังอยู่ในช่วงที่ตัวเองยังไม่ได้ยึดกุมอำนาจรัฐมาอยู่ในมือก็ยังไม่สมควรที่จะแตกหักกับใคร
นอกจากนี้ยังเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ที่สำคัญยังไม่ชัวร์ว่าจะชนะการเลือกตั้งเข้ามาเท่าไหร่ เพราะแม้ว่าผลสำรวจ (โพล) จากหลายสำนัก จะออกมาตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยของเขาจะได้รับชัยชนะก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีใครฟันธงว่าชนะแบบถล่มทลาย ยังต้องพึ่งพาพรรคการเมืองอื่นมาร่วมเป็นรัฐบาลผสม อีกทั้งยังเป็นการหา “แนวร่วม” กันในทางการเมืองสำหรับพ่วงเข้าไปในกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อป้องกันครหาในเรื่องความน่าเกลียดหากเสนอเข้าไปเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว เพราะเสี่ยงต่อแรงต่อต้านเหลือเกิน
ดังนั้น สิ่งที่เป็นคำตอบล่วงหน้าสำหรับ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมในอดีตมาประกอบก็คือ หากพูดในสิ่งใดก็ตามผลที่ทำก็คือจะทำในสิ่งตรงข้ามเสมอ เหมือนกับคำที่บอกว่า “ไม่แก้แค้น” ความหมายในใจก็คือ “แก้แค้น” ฝ่ายตรงข้ามเตรียมตั้งรับให้ดีก็แล้วกัน!!