ผ่าประเด็นร้อน
ไม่น่าเชื่อว่ายิ่งใกล้ถึงวันเลือกตั้งเข้ามาเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เห็นกระแส “โหวตโน” หรือ “ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร” แรงมากขึ้น พิสูจน์ได้จากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ระบุออกมาว่าในระบบเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต โหวตโนเกินร้อยละ 5 ขณะที่ในระบบบัญชีรายชื่อหรือวิธีการเลือกพรรคก็ออกมาในแนวทางเดียวกันคือเกือบร้อยละ 5 ถือว่าเป็นกระแสที่พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ
ที่ต้องบอกอย่างนั้นก็เพราะว่าเป็นความประสงค์ของชาวบ้านทั่วประเทศที่เกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในภาคเหนือและภาคอีสาน กระแสโหวตโนก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 จากเดิมแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าแนวโน้มจะต้องเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเริ่มมีเสียงการันตีออกมาว่าการโหวตโนมีผลทางกฎหมาย ทำให้มีหนทางสกัดกั้นระบบการเมือง “น้ำเน่า” ลงได้ อย่างน้อยก็สามารถเพิ่มพลังต่อรองให้กับประชาชนต่อบรรดานักเลือกตั้ง นักธุรกิจการเมืองได้มากขึ้น จนกลายเป็นพลังต่อรองให้เกิดการปฏิรูปการเมืองในภายหลังได้ง่ายขึ้น
การออกมาให้แง่มุมทางกฎหมายของ อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ผ่านทางบทความเรื่อง “ ผลทางนิตินัยของบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน (โหวตโน) ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในทางการเมืองเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะนี่คือการอ้างอิงกฎหมายได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญยังเป็นคำตอบให้เห็นว่า เมื่อโหวตโนแล้วจะ “ไม่เสียของ” หรือ “สูญเปล่า” อย่างที่มีการวิตกกันไปก่อนหน้านี้ จนทำให้มีจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกลังเล
ในทางตรงกันข้าม การโหวตโนในครั้งนี้ยังเป็นการ “หยุดวิกฤต” ให้กับบ้านเมืองอย่างได้ผลที่สุดอีกด้วย เพราะหลายคนมองเห็นตรงกันแล้วว่าไม่ว่าพรรคการเมืองขั้วไหนชนะเลือกตั้ง หรือได้เป็นรัฐบาลก็จะมีแต่ความวุ่นวาย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เริ่มจากพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาก่อน เพราะเมื่อดูจากผลสำรวจที่ออกมาทุกสำนักตรงออกมาตรงกันว่าจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรมลบล้างความผิดให้กับเจ้าของพรรคคือ ทักษิณ และคนอื่นๆ รวมไปถึงอานิสงส์ให้กับบรรดาหัวโจกคนเสื้อแดงที่กำลังถูกดำเนินคดีในข้อหา “ก่อการร้าย” คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คนพวกนี้ก็จะออกมาเดินลอยนวลอย่างแน่นอน นอกเหนือจากพวกที่เป็น ส.ส.ก็ยังได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองยังไม่ต้องถูกดำเนินคดีเสียอีก
เหตุการณ์ทำนองดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว มีวิธีการในการดำเนินการให้แนบเนียนได้มากที่สุดขนาดไหน แค่นั้นเอง เพราะเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการใช้การเลือกตั้งมา “ฟอกความผิด” ให้กับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีทางเห็นด้วยก็จะออกมาต่อต้าน
ขณะที่อีกฟากหนึ่ง หากพรรคประชาธิปัตย์แม้ว่าจะไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่สามารถรวบรวมพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยมี “พรรคสีเขียว” หรือมี “พลังอำนาจแฝง” เข้ามาช่วยบริหารจัดการให้ คราวนี้รับรองว่าจะต้องเกิดรายการ “เผาเมือง” ซึ่งขึ้นมาอีก เพราะกลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยถูกกลั่นแกล้ง เป็นเกมการเมืองเพื่อขัดขวาง ทักษิณ ชินวัตร ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับคนเสื้อแดง คราวนี้จะต้องเกิดการเผาเมืองกันขนานใหญ่ และมีแนวโน้มจะหนักกว่าทุกครั้งกว่าที่ผ่านมา เพราะภาพที่เห็นทำให้มองออกมาแบบนั้น
นอกจากนี้ หากเกิดความวุ่นวายจะด้วยเป็นไปตามสถานการณ์ไม่ว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทย หรือว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก็จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งจะเป็นด้วยสาเหตุด้วยเรื่องความกังวลในเรื่องสถานะและอนาคตของระดับผู้นำในกองทัพบางคนหรือไม่ก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นจริงโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์บานปลายลุกลามออกไปจนคุมไม่อยู่ และระยะหลังเริ่มมีคนพูดกันถึง “สงครามกลางเมือง” กันมากขึ้นแล้ว ซึ่งมันก็มีโอกาสเป็นไปได้ไม่น้อยเหมือนกัน
นั่นคือวิกฤตการเมืองที่รออยู่ข้างหน้า ไม่ขั้วใดขั้วหนึ่งมาเป็นรัฐบาล!!
อย่างไรก็ดี เมื่อมีคำยืนยันออกมาว่าการโหวตโน มีผลทางกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อเป็นคำยืนยันออกมาจากปากของคนที่เป็นถึง เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา อย่าง อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ซึ่งในความเป็นจริงถือว่า “ตรงตัว” ที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคดีของนักการเมืองโดยตรง
หากพิจารณาในด้านกฎหมายที่นำมาอ้างอิงก็ต้องยอมรับว่า “เห็นคล้อยตาม” โดยเฉพาะการการหยิบยกเอา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว.ปี 2550 มาตรา ในมาตรา 89 ภายใต้บังคับมาตรา 88 ระบุอย่างชัดเจนในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ว่าผู้สมัครที่ได้เป็น ส.ส.ต้องได้รับคะแนนเสียง “มากที่สุด” ในเขตนั้น ดังนั้นถ้าคนที่ได้คะแนนมากที่สุด แต่ไปแพ้คะแนนโหวตโน หรือน้อยกว่าคะแนนโหวตโนรวมกับคะแนนที่ไปโหวตให้คนอื่นที่ได้คะแนนรองลงมา หากเป็นแบบนี้มันก็ไม่ถือว่าเป็นตัวแทน พูดง่ายๆก็คือมีคนที่ “ตั้งใจไม่เลือก” มากกว่าคนที่เลือก นอกจากมีผลทางกฎหมายแล้ว ยังถือว่า “ไม่ชอบธรรม” อีกด้วย
นอกจากนี้ใน รธน.มาตรา 93 วรรคท้าย ที่ระบุเอาไว้ว่า หากมีเหตุทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ครบ 500 แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดให้ถือว่ามีจำนวนสมาชิกประกอบเป็นสภาผู้แทนฯ นั่นหมายความว่าถ้ามี ส.ส.ไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ก็เปิดสภาไม่ได้ ดังนั้นถ้ามีเสียงโหวตโนชนะใน 26 เขตเลือกตั้งขึ้นไปซึ่งก็คือทำให้ ส.ส.ในสภามีจำนวนไม่ครบร้อยละ 95 ก็จะเปิดสภาไม่ได้ด้วยเหตุผลทางกฎหมายดังกล่าว
คำยืนยันที่ออกมาข้างต้นน่าจะทำให้หลายคนที่ยังลังเลเกิดความมั่นใจว่าการออกไปโหวตโนในวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้จะเป็นการรวมพลังกันเพื่อกดดันบรรดานักเลือกตั้ง นักธุรกิจกินเมือง หยุดวงจรอุบาทว์ รวมไปถึงหยุดการความวุ่นวายนองเลือดที่จะเกิดขึ้นอีก ขณะเดียวกันยังผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างขนานใหญ่ทุกระดับ โดยพลังของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นยิ่งมีคะแนนเสียงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีพลังเป็นทวีคูณ และที่สำคัญยังเป็นทางออกให้กับคนที่กลัวว่า “ระบอบทักษิณ” กำลังจะกลับมาจะได้ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะนี่คือหนทางเดียวเท่านั้น!!