โฆษก ปชป.เย้ยกรุงเทพโพลล์ขาดความน่าเชื่อถือ เหตุสำรวจปี 50 ผิดพลาด ย้ำการเลือกตั้งครั้งนี้ ตัวผู้นำจะเป็นผู้ชี้ขาดผลการเลือกตั้ง มั่นใจท่าที ปชช.เริ่มชัดเจนช่วง 3 สัปดาห์สุดท้าย จนถึงวันเลือกตั้ง อวด “มาร์ค” บินอินโดฯ อวดผลงานในวทีโลก อ้างตลาดทุนหวั่นวิกฤตหนัก หาก “ยิ่งลักษณ์” จัดตั้งรัฐบาล
วันนี้ (13 มิ.ย.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ที่ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังตามหลังพรรคเพื่อไทยอยู่ว่า การดูโพลนั้นก็ต้องดูว่าเป็นโพลชนิดใด เพราะนักวิชาการก็ออกมาบอกแล้วว่าโพลมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโพลวิชาการ โพลชี้นำ โพลรับจ้าง หรือโพลที่สร้างความเข้าใจ ซึ่งเราจะต้องดูประกอบกัน และโพลของสำนักเดียวกันนี้ในปี 50 ก็เป็นโพลเดียวที่ออกมายืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะชนะเลือกตั้ง ซี่งเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็เป็นตรงกันข้าม ไม่ทราบว่าคราวนี้จะเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ แต่เชื่อการเลือกตั้งคราวนี้สิ่งที่จะกำหนดสำคัญที่สุดคือการเลือกผู้นำ ระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 พรรคเพื่อไทยซึ่งผลสำรวจเรื่องความเป็นผู้นำนั้นเห็นได้ชัดว่านายอภิสิทธิ์ยังได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวุฒิภาวะ ความเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ จริยธรรม ความซื้อสัตย์สุจริต และความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศ ซึ่งก็ต้องดูประกอบกัน ขณะเดียวกัน สิ่งที่เหมือนกันของโพล คือ ผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้พรรคประชาธิปัตย์จะลดต่ำลงมาบ้างก็พียงจาก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสัดส่วนนี้จะเป็นส่วนกำหนดเผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้
นพ.บุรณัชย์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าความแตกต่างนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นที่ประชาชนจะตัดสินใจ ในช่วงประมาณเกือบ 3 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พรรคประชาธิปัตย์พบขณะนี้คือ การลงพื้นที่แล้วเจอกับขบวนการจัดตั้งกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เริ่มใช้วิธีค่อนข้างหยาบคายขัดขวางการหาเสียง ซึ่งทำให้คนไทยเห็นภาพของความขัดแย้งและสร้างความหวาดกลัวโดยขบวนการข่มขู่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ และผู้ที่รับผิดชอบและต้องแก้ปัญหานี้ก็คือพรรคเพื่อไทย
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า การเดินทางไปร่วมการประชุมเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม ที่ประเทศอินโดนีเซียของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นการเข้าร่วมทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้เข้าร่วมการประชุมนี้ตั้งแต่เป็นผู้นำฝ่ายค้านก่อนที่จะเป็นหัวหน้าพรรค โดยเวทีนี้เป็นการรวบรวมผู้นำด้านธุรกิจและภาคการเมืองทั้งหมด ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้คือการรักษาระดับความเชื่อมั่นที่ประเทศไทยได้กลับคืนมาในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สาระสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นนี้จะมีการยืนยันความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 10 ด้าน อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุด ความมั่นคงในทุนสำรองระหว่างประเทศที่มั่นคงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 รายได้จากการส่งออกเติบโต 28% หนี้สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งบริษัทใหม่โดยจดทะเบียนนิติบุคคลและเพิ่มทุนของบริษัทต่างๆ สูงสุดในรอบ 99 ปี การแก้ไขปัญหาการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1% เป็นอัตราต่ำในรอบ 10 ปี การรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อ การลดต้นทุนลอจิสติกส์ ตลาดหุ้นมีการเพิ่มมูลค่าจาก 3ล้านล้านบาทมาเป็น 8 ล้านล้านบาท การฟื้นคืนของรักท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้เป็นการยืนยันของเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ได้ทำต่อเนื่องใน 2 ปีที่ผ่านมา
นพ.บุรณัชย์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนในคือสถานการณ์การเมือง จากการติดตามกระแสดังกล่าวของนักลงทุนต่างประเทศพบว่าสิ่งที่วิตกกังวลมากที่สุด คือ เรื่องของรัฐบาลที่จะสร้างความขัดแย้งหากมีการซ้ำรอยรั่ฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นักลงทุนก็เห็นว่าเกิดความวุ่นวายและมีความเสี่ยงที่อาจจะสูงกว่ารัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย เพราะขณะนั้นยังไม่มีชายชุดดำปรากฏตัวออกมาและสิ่งที่สะท้อนโดยตลาดทุนนั้น ภายหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนั้นต่างชาติวิเคราะห์ด้วยว่า มีความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นที่มีการถอนหุ้นออกมาส่งผลให้ดัชนีลดลงกว่า 50 จุดหรือ 5% มูลค่ากว่า 4.4 แสนล้านบาท
“วันนี้นึกไม่ออกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ จะอธิบายต่อประชาคมโลก และจะสร้างความมั่นใจในภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้อย่างไร เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีภาพชัดเจนในการร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้ง จึงยากที่จะปฏิเสธว่าตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นต้นเหตุของความวิตกกังวลของนักลงทุนในขณะนี้ ดังนั้น ทางเลือกระหว่างเบอร์ 1 กับเบอร์ 10 มีความแตกต่างกันมาก เกี่ยวกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าความปรองดองควรจะเกิดขึ้นโดยกลไกที่เป็นธรรมต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง และอาจรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และจากคดียุบพรรค หากคณะกรรมการที่เป็นอิสระมีข้อเสนอในการสร้างความปรองดอง หรืออาจจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่พรรคยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดในฐานะทุจริตคอร์รัปชันของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ระบุหลายครั้งว่าสาระสำคัญของผู้ที่จะได้รับอานิสงส์จากการสร้างความปรองดองจะต้องรวมไปถึงคดี พ.ต.ท.ทักษิณด้วย ดังนั้น พรรคเพื่อไทยต้องให้ความชัดเจนถึงวิธีการและขั้นตอนในการล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณจะทำอย่างไร” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว