ผ่าประเด็นร้อน
ต้องยอมรับว่าหลังจากปล่อยให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กชิงพื้นที่สื่อไปได้เป็นสัปดาห์จากกรณีที่ เนวิน ชิดชอบ สวมบทโหรการเมืองฟันธงว่า ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย วืดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจะมีนายกฯ ปรองดองมาจากพรรคขนาดกลาง แม้ว่าเขาจะมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะมี ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม แต่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่มีเสียงข้างมากเด็ดขาด
และนี่แหละคือเหตุผลว่า ทำไมพรรคขนาดกลาง ซึ่งก็มี พรรคภูมิใจไทย ที่เขาสนับสนุน กับพรรค ชาติไทยพัฒนา ของ บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งจับมือผนึกกำลังร่วมมือทางการเมืองเอาไว้ล่วงหน้าจะเป็น “ตัวแปร” เป็นนายกฯ “ตาอยู่” สอดแทรกขึ้นมา โดยใช้คำว่า “ปรองดอง” นำหน้า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเรียกเสียงฮือฮากันได้พักหนึ่ง มีเสียงวิจารณ์ตามมามากมาย ซึ่งทำให้สังคมหันมามองพรรคขนาดกลางกันไม่น้อย หลังจากออกสตาร์ทอย่างเงียบฉี่และตกกระแสไปอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งกระแสก็เริ่มกลับมาที่พรรคใหญ่อีกครั้ง นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคเพื่อไทย ประกอบกับมีเสียงด่าจากสังคมรอบข้างทำนองว่า “หน้าด้าน” ไร้มารยาท มีการจับขั้วต่อรองอำนาจ แบ่งเค้กกันล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง เหมือนกับดูถูกชาวบ้าน อีกทั้งคนที่ออกมาพูด มาเสนอแนะก็ล้วนแต่เป็นคน “ไม่มีสิทธิ์” ถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ทั้ง เนวิน และบรรหาร ที่ออกมาเสนอหน้าก็พูดแต่ “เรื่องส่วนตัว” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง นิรโทษกรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 237 ที่เกี่ยวกับประเด็นยุบพรรคก็ล้วนแล้วแต่เพื่อต้องการให้ตัวเองพ้นผิดเท่านั้น โดยที่ชาวบ้านได้แต่ยืนมองกัดฟันกรอดๆ
เมื่อกระแสกลับมาที่พรรคใหญ่ก็ต้องหันมาพิจารณาเปรียบเทียบกันระหว่างสองพรรค เริ่มจากพรรคเพื่อไทยก่อน โดยโฟกัสไปที่ ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องยอมรับว่าไม่ว่าพิจารณาจากความรู้สึกหรือผลสำรวจที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมายังนำหน้า อภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ความ “หวือหวา-จี๊ดจ๊าด” เริ่มลดลงมา เมื่อดูจากการออกตัวเริ่มแรก
ต้องยอมรับว่านาทีนี้ ยิ่งลักษณ์ไม่ได้โดดเด่นอย่างที่คาดหวังเอาไว้ อาจเป็นเพราะนอกจากบุคลิกส่วนตัว การพูดจาปราศรัยยังไม่คมคาย ขาดความเป็นตัวของตัวเอง หรือไม่ก็กลับไปกลับมา อย่างเช่นเรื่องการตอบรับ “ดีเบต” แบบมีเงื่อนไข หลังจากถูกดดันจากฝ่ายตรงข้ามและสังคม เรื่องประกันรายได้ นิรโทษกรรมฯ ลบล้างความผิดให้กับพี่ชาย คือ ทักษิณ ชินวัตร มันก็ถูกค่อนขอดว่าเป็น “วาระส่วนตัว” ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องขบวนการ “ล้มเจ้า” ที่เข้ามาเกี่ยวพันกับ “หัวโจก” คนเสื้อแดง และ ทักษิณ โยงมาถึงพรรคเพื่อไทย มันก็ยิ่งทำให้คนคิดมาก เพราะต้องไม่ลืมว่าในวันนี้ข้อมูล หลักฐานมันเด่นชัด หากเปิดใจให้กว้างไม่ตกอยู่ภายใต้การปลุกระดมของแกนนำคนเสื้อแดงแล้วรับรองว่าจะเห็นภาพทันที ซึ่งไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสี เพราะมีทั้งภาพและเสียงปรากฏอยู่ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเครือข่ายคนพวกนี้สามารถบิดเบือนจนได้ผล ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่รัฐบาลลงไปทำงาน “ห่วยแตก” จนเกิดการเหิมเกริมขึ้นทุกวันกลายเป็นภัยทำลายความมั่นคงที่ขยายวงกว้าง
เมื่อชาวบ้านรู้ทันมากขึ้น มันก็ไม่อาจสร้าง “กระแสฟีเวอร์” ได้เหมือนกับยุค ทักษิณ เมื่อครั้งเปิดตัวพรรคไทยรักไทย ซึ่งในตอนนั้นคนเบื่อรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่ยังไม่รู้ถึงความเลวร้ายของ “ขบวนการหน้าเหลี่ยม” ที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง และนี่ก็อาจเป็นคำตอบว่ากระแสยิ่งลักษณ์นิ่งอยู่กับที่ หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไม่ได้หวือหวาอย่างที่ควรจะเป็น
อีกด้านหนึ่ง เมื่อมาพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ นาทีนี้ต้องยอมรับว่าเป็นรองพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะผลสำรวจทุกสำนักก็ออกมาตรงกัน แต่ขณะเดียวกันมันก็มีข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า ในบางพื้นที่ตัวเขาและพรรคกลับได้รับนิยมมากขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ เช่น ในภาคอีสาน ที่แม้ว่าส่วนใหญ่ผูกขาดอยู่กับ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นอีกพื้นที่สำคัญของ “คนเสื้อแดง” แต่กลายเป็นว่าผลโพลที่ออกมาพรรคประชาธิปัตย์กลับได้รับความนิยมถึงกว่าร้อยละ 20 ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนที่ อภิสิทธิ์ จะลงพื้นที่หาเสียงเสียอีก ทำให้ต้องมาคิดว่า “อภินิหารแหวนยายเนียม” อาจเริ่มส่งผลเหมือนกัน
ล่าสุด วานนี้ (1 มิ.ย.) เขาก็เดินสายขึ้นเหนือ บ้านเกิดของหัวหน้าขบวนการ “รัฐไทยใหม่” อย่างทักษิณ แม้ว่าจะเสี่ยงถูกก่อกวน จากคนเสื้อแดง ซึ่งก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นพวกเดียวกับพรรคเพื่อไทย และผลสำรวจที่ผ่านมาก็ไม่น่าแปลกใจที่ออกมาชี้ว่า ยิ่งลักษณ์ ทิ้งขาด กว่าร้อยละ 70 ต่อร้อยละ 13 แต่นั่นมันเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะเดินทางลงพื้นที่ รวมทั้งยังไม่ได้เห็นคนเสื้อแดงที่ออกมาป่วน เพราะถ้าเกิดภาพแบบนั้นซ้ำซอยกรณี ชวน หลีกภัยโดนปาไข่ที่ลำพูนเมื่อครั้งหาเสียงช่วยลูกพรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้งซ่อมจนได้กระแสสงสารมีชัยชนะ ในทางตรงข้ามเกิดภาพลบกับพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองสวนทางกับคำพูดที่มักอ้างประชาธิปไตย ไม่นิยมความรุนแรง ทุกอย่างก็อาจ “สวิงกลับ” บวกกับพวก “แม่ยก” ที่บ้าคนหล่อมันก็อาจเป็นแรงส่งได้ไม่น้อย
นอกจากนี้ก็ต้องจับตาท่าทีล่าสุดของอภิสิทธิ์ ที่ออกมาตอบโต้ บรรหาร ศิลปอาชา เจ้าของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าสาเหตุไม่ทำตามสัญญาเรื่องการนิรโทษกรรม รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับความผิดเรื่องการยุบพรรคการเมือง ซึ่งการตอบโต้ดังกล่าวของเขามีประเด็นที่น่าสนใจก็คือเป็นการชี้ให้สังคมเห็นว่าความต้องการของ ทั้งบรรหาร และ เนวิน นั้นเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ขณะที่เขายึดหลักการจึงตอบสนองให้ไม่ได้ แม้ว่าจะทำให้ทั้งคู่ไม่พอใจก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาอย่างรู้ทันก็คือนี่คือการชี้ให้เห็นภาพ “ยี้” แยกออกมาชัดเจน ลักษณะไม่ต่างจาก “เทพ” ในหมู่ “มาร” เป้าหมายก็เพื่อหวังคะแนนจากคนกลุ่มใหญ่ที่ต้องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งคนพวกนี้ยังไม่ตัดสินใจ หรือเป็นพวก “โหวตโน” ให้เปลี่ยนใจ
ดังนั้น ถ้าพิจารณาในภาพรวมเวลานี้ถือว่า อภิสิทธิ์กำลังเริ่มตีตื้นขึ้นมาอย่างช้าๆ และหากมีคนเสื้อแดงตามรังควาญเขาไม่เลิก ภาพความน่าสงสารก็จะยิ่งเป็นแรงส่ง นอกจากนี้การออกมาตอบโต้และฉวยโอกาสสร้างภาพ เทพ เหนือ มาร บรรหาร-เนวิน ในช่วงเวลาสำคัญในเรื่อง นิรโทษฯ ที่ถูกมองเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อหวังได้ใจคนอีกกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจถือว่านี่คือ “ท่าไม้ตาย” อันถนัดของพวกประชาธิปัตย์ที่มักนำมาใช้เพื่อเอาชนะและทำลายฝ่ายตรงข้ามแทบทุกครั้ง!!