โฆษก ปชป.ชี้เพื่อไทยประกาศดึงพรรคอื่นร่วมรัฐบาลขัดแย้งข้ออ้างจะได้ ส.ส.เกินครึ่ง ระบุการคุยโวจะได้ 270 เสียง ถือเป็นการชี้นำเกินจริง หวังสร้างกระแสพอแพ้เลือกตั้งก็จะอ้างว่าถูกโกง เรียกร้อง “ยิ่งลักษณ์” ให้ความชัดเจนเรื่องนิรโทษกรรม มีเป้าหมายช่วย “ทักษิณ” พ้นผิดคดีเกี่ยวกับการทุจริตที่ศาลตัดสินไปแล้ว
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็จะทาบทามพรรคอื่นๆ บางพรรคให้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยว่า หากเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการพูดเพื่อหาแนวทางกลับคืนสู่อำนาจรัฐ มากกว่าการมุ่งแก้ไขปัญหาของประชาชน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์นั้นถือว่าเรื่องสำคัญในขณะนี้ไม่ใช่มุ่งแต่เรื่องของการเมืองหรือการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อได้อำนาจรัฐมาใช้ล้างผิดให้แก่คนที่นายนพดลทำงานให้ แต่เป็นเรื่องแนวทางของแต่ละพรรคในการแก้ไขปัญหาของประชาชน ในการยุติปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากบุคคลคนคนเดียวนั้นว่าควรจะดำเนินการอย่างไรไม่ให้ประเทศกลับไปสู่ความวุ่นวายอีกครั้งหนึ่ง
“ประเด็นนี้ก็ขัดแย้งโดยตรงกับการประเมินของพรรคเพื่อไทยที่พยายามจะกล่าวอ้างว่าจะได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งหรือ 270 เสียงที่ได้ทำมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าตัวเลขที่มีการหยิบยกขึ้นมานั้นถือว่าเป็นการสร้างกระแสชี้นำที่ไม่เป็นความจริง โดยที่พรรคเพื่อไทยเองก็รู้อยู่แล้วเพื่อที่จะเตรียมการ ปฏิเสธผลการเลือกตั้งหากคะแนนที่ได้จริงนั้นไม่ถึง 270 เสียง โดยจะหาข้ออ้างว่าเกิดขึ้นจากการทุจริตและการใช้อำนาจรัฐในทางที่มิชอบ เพราะฉะนั้น อยากให้พรรคเพื่อไทยยุติยุทธศาสตร์การชี้นำและสร้างความคาดหวังที่สูงเกินจริง”
ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ให้ความเห็นต่อการเสนอแนวทางการล้างความผิดของพรรคเพื่อไทย ที่พยายามใช้คำพูดเพื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องการนิรโทษกรรม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และพรรคเพื่อไทยต้องให้ความชัดเจนแก่ประชาชนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง
“ในส่วนที่พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอโดยอ้างและใช้ชื่อคำว่ากระบวนการปรองดองนั้น สาระสำคัญกลับเกี่ยวข้องกันกับอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยที่คุณเฉลิม อยู่บำรุงก็ได้ยืนยันว่าจะมีวิธีการออกพระราชกำหนด หรือพระราชบัญญัติ และได้กล่าวในหลายเวทีก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ว่าหากได้เสียงจากประชาชนก็จะใช้เสียงนั้นในการออกกฎหมาย เพื่อให้คุณทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ ภายใน 6 เดือน ต้องของถามกลับไปยังคุณเฉลิมว่าตกลงจะใช้กลไกใดออกกฎหมายล้างผิดให้กับกลุ่มบุคคลกลุ่มใดบ้าง”
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า กรณีที่นายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ได้พูดถึงมาตรา 237 ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ถือหลักการสำคัญว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองนั้นควรจะมาจากคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับข้อเสนอ ซึ่งคณะทำงาน 2 ชุด คือ ชุดคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดย นายคณิต ณ นคร ก็ได้เสนอกระบวนการสมานฉันท์ก็ได้มีการสนับสนุนให้แกนนำได้รับการประกันตัว แม้ว่าแกนนำบางคนจะใช้โอกาสมาปลุกระดมเช่นเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายนก็ตาม
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คณะกรรมการแก้ไขตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมืองชุดของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ก็ได้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และส่วนของมาตรา 190 ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคก็ได้นำเสนอไปแล้วต่อ ครม. และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าการดำเนินการต่อเนื่องในกรอบของคณะกรรมการชุดของนายสมบัตินั้น ถือว่าเป็นกระบวนการที่มาจากคนกลาง
ในกรณีที่เกี่ยวข้องกันกับคดีของพรรคการเมืองนั้นก็อยู่ในวิสัยที่สามารถจะสานต่อได้โดยรัฐบาลชุดต่อไปตามกลไกที่คณะกรรมการที่เป็นกลางได้นำเสนอมา และในส่วนมาตรา 237 ก็ได้มีการเสนอว่าลดโทษในเรื่องยุบพรรค แต่เพิ่มโทษของกรรมการบริหารให้สูงขึ้น ก็ถือว่าเป็นหลักการที่มาจากคนที่ไม่มีส่วนได้เสียและหากรัฐสภาชุดหน้าจะให้ความเห็นชอบกับเรื่องดังกล่าวนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าได้ให้การสนับสนุนจัดตั้งกรรมการชุดดังกล่าวมาก็ไม่มีปัญหาหากทุกฝ่ายเห็นพ้องและไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นมาในสังคม
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์วิตกนั้นก็คือ แนวทางของพรรคเพื่อไทยที่แกนนำหลายคนรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็ออกมาระบุว่าบุคคลหนึ่งที่จะได้รับอานิสงส์จากสิ่งที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการหลังจากได้อำนาจรัฐนั้น คืออดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งเกี่ยวข้องใดๆ กับคดีความทางการเมือง เพราะคดีความทีเกี่ยวข้องกับการชุมุนุมทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของประชาชนจนเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายนั้น หากเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่มีการดำเนินการทางกฎหมาย และสามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ได้
“ส่วนสำคัญนั้นก็คือการที่จะผูกโยงคดีที่เป็นคดีทุจริตคอรัปชันต่อแผ่นดินเข้ารวมกับกระบวนการนี้ ถือว่าเป็นการหมกเม็ดและเป็นวาระซ่อนเร้น ที่พรรคเพื่อไทยต้องให้คำตอบว่ากระบวนการดังกล่าวนั้น ทำให้บุคคลกี่บุคคลที่เกี่ยวข้องกันกับอดีตนายกฯ ทักษิณที่ได้มีการวินิจฉัยในศาลแล้วว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันนั้นจะได้รับอานิสงส์หรือไม่ และมีคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคเพื่อไทยและคุณยิ่งลักษณ์จะต้องให้คำตอบกับประชาชน”