xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” หวั่นไทยเข้าสู่ทุ่งสังหาร ซ้ำรอยปี 05 แนะเด็ดขาดไม่รับอำนาจศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“ปานเทพ” บอกอย่างเพิ่งดีใจภาพรวมแย้งเขมรต่อศาลโลกดี แต่ยังดีไม่พอ แนะไทยควรยึดเส้นเขตแดนตามหลักสากล อ้างเขมรรุกรานไทยจึงตอบโต้ป้องกันอธิปไตย รับหวั่นซ้ำรอยปี 2505 เหตุไม่มีหลักประกันศาลจะยุติธรรมจริง รอฟังศาลโลกเท่ากับเสี่ยงเดินเข้าสู่ทุ่งสังหาร ระบุทางออกที่ดีที่สุดต้องไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก


วันที่ 1 มิ.ย. 2554 บนเวทีปราศรัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงถ้อยแถลงระหว่างไทยกับกัมพูชา ต่อศาลโลกว่า มีการแถลงโต้แย้งกัน 12 ข้อ ซึ่งการต่อสู้ของฝ่ายไทยมีแนวทางใกล้เคียงกับที่ปราศรัยไปบนเวทีนี้เกือบทั้งหมด ดังนี้ 1.ไทยยอมรับและปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ครบถ้วนแล้ว โดยเขมรเองก็ยอมรับ ตรงนี้ขอปรบมือสอดคล้องกับแนวทางของภาคประชาชน

2. ศาลโลกไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับเส้นเขตแดน ซึ่งไทยกับเขมรต้องเจรจากันต่อไปในกรอบเจรจาทวิภาคี โดยขยายความอ้างถึงบันทึกความเข้าใจเอ็มโอยู 43 เป็นหลักฐานยืนยันเขมรรับรู้ถึงคำตัดสินของศาลโลกเป็นอย่างดีว่ากล่าวถึงเฉพาะตัวปราสาท ไม่ได้กำหนดเส้นพรมแดน ทั้งนี้ เนื่องจากศาลไม่ได้กำหนดพรมแดน ไทยกับเขมรจึงได้ร่วมกันจัดทำเอ็มโอยู 43 ขึ้นเพื่อกำหนดพรมแดน ดังนั้น ไทยและเขมรไม่ได้ทะเลาะกันในคำตัดสินของศาล ศาลจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอของเขมร ขณะที่ประเด็นเดียวกันนี้ เขมรอ้างว่าเอ็มโอยู 43 ไม่ใช่การทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อกำหนดเขตแดน แต่เพื่อจัดทำหลักเขตแดน กล่าวคือเรื่องพรมแดนเสร็จสินแล้วในทางแผนที่ เหลือแต่จัดทำหลักเขต จึงได้มอบเอ็มเอ็มโอยู43 ให้กับคณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาเอกสารในเอ็มโอยู43 ด้วยตัวเอง

ตรงนี้สำคัญมาก เราพูดแบบนี้หมายถึงประเทศไทยเองก็ยังไม่ยืนยันว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหนด้วยเช่นเดียวกัน เหตุผลนี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ไทยไม่ยืนยั้นเส้นเขตแดน ในเวทีสหประชาชาติ ในเวทีอาเซียน และเวทีมรดกโลก แปลว่าเรากำลังสู้ประเด็นจัดทำหลักเขตยังไม่เสร็จ แต่ไม่สู้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน คำโต้แย้งเช่นนี้เหมือนสู้ถ่วงเวลา ขณะที่เขมรสู้ว่าเอ็มโอยู 43 ว่า ระบุไว้ชัดเจนด้วยตัวของมันเอง เป็นข้อตกลงว่าด้วยการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบก พร้อมกับอ้างมีเส้นเขตแดนเสร็จสิ้นแล้วตามแผนที่ 1 : 200,000 ข้อ 1 ค. เพราะไทยได้เซ็นลงนามไว้ จึงเหลือแต่จัดทำหลักเขต

3.ไทยแถลงต่อศาลโลกว่า การขึ้นทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลก ต้องมีพื้นที่บริหารจัดการอยู่ในไทย การที่เขมรปฎิเสธขึ้นทะเบียนร่วมเป็นที่มาของการยื่นคำร้องต่อศาลของเขมร ประเด็นนี้ตนเห็นด้วยเท่ากับกล่าวหาว่าเขมรเกเร 4.ไทยยืนยันว่าไทยยืนอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน ไม่ได้รังแกโดยประเทศที่ใหญ่กว่าตามที่เขมรสร้างภาพ ประเด็นนี้ทางที่ดีเราจะต้องบอกว่าเขมรเป็นฝ่ายรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย

5. ไทยไม่ประสงค์ให้ปราสาทเขาวิหารเสียหาย แต่จำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อป้องกันอธิปไตย ขณะที่เขมรใช้ปราสาทเป็นฐานที่มั่น และละเมิดอนุสัญญากรุงเฮก ปี 2497 ประเด็นนี้ถูกต้องข้อมูลแม่นขอปรบมือ 6.ไทยแถลงว่า เขมรอพยพประชาชน ทหาร เข้ามาอยู่บริเวณใกล้เคียงปราสาทเพิ่ม เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง 8.ไทยย้ำว่าความขัดแย้งเสี่ยงที่จะทวีความมรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายเขมรเริ่มโจมตีและขยายพื้นที่ขัดแย้ง ประเด็นนี้ทางที่ดีเราต้องบอกว่าไทยมีสิทธิป้องกันโดยชอบหากเขมรรุกรานอยู่ 9.เหตุปะทะเกิดที่บริเวณอื่น ดังนั้น ไม่จำต้องให้ศาลคุ้มครองเขาวิหาร 10.ไทยไม่ได้ปิดกั้นประเทศที่สาม เข้าร่วมประชุมในกรอบอาเซียน ประเด็นนี้ หากเรายืนตามหลักสากล ยึดเส้นเขตแดนตามขอบหน้าผา ประเทศที่สามจะไม่มีสิทธิ์อ้างกฎบัตรสหประชาชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวเลย 11.ไทยอ้างว่าคำขอตีความของเขมร เป็นคำขอที่ศาลไม่ได้ตัดสินในประเด็นเดิม ประเด็นนี้ ทางที่ดีไทยต้องคัดค้านว่าไทยไม่ยอมรับคำพิพากษาและไม่รับอำนาจศาลโลกตั้งแต่ 2505 12.ทูตไทยในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

นายปานเทพกล่าวว่า ภาพรวมเกือบทั้งหมดถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีบางข้อที่แตกต่างจากภาคประชาชนบ้าง ถือว่าอย่างน้อยเขาได้รับฟังข้อเสนอของประชาชน ต้องขอปรบมือให้ อย่างไรก็ดี เมื่อมองโดยภาพรวมตามเหตุและผล ทุกคนอาจคิดว่าเรากำลังได้เปรียบ ต้องชนะในเวทีศาลโลกแน่ เราอย่าเพิ่งดีใจไป ขอให้ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ช่วงปี 2505 ครั้งที่ศาลโลกตัดสินยกตัวปราสาทให้เขมร ในวันนั้น ดร.สมปอง สุจริตกุล เสนอแนะเห็นควรตัดอำนาจศาลโลก แต่รัฐบาลไม่เชื่อ ไปสู้คดีโดยมั่นใจอย่างมากต้องชนะแน่ ถึงขนาดมีการจัดงานเตรียมฉลองที่ท้องสนามหลวง แต่ปรากฎว่าไทยแพ้คดี วันนี้ ดร.สมปอง สุจริตกุล ก็ออกมาบอกว่า อย่ายอมรับอำนาจศาลโลก แต่รัฐบาลยังเดินหน้าสู้ หวังว่าชนะแน่เตรียมรอฉลองก่อนเลือกตั้ง ทำให้ตนอดเป็นห่วงไม่ได้ ว่า เราน่าจะได้รับข่าวซ้ำรอยประวัติศาสตร์หรือไม่

“การต่อสู้อาจชนะ เพราะข้อโต้แย้งทั้งหมดมีแนวทางใกล้เคียงกับข้อเสนอแนะของภาคประชาชน แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าศาลโลกจะยุติธรรม เพราะเขาก็เล่นเกมการเมืองเหมือนกัน ทางที่ดีไทยต้องยืนยันว่า เราไม่รับอำนาจศาลอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่วันนี้หากยังเดินหน้ารับศาลโลกต่อไป เท่ากับเรากำลังเข้าสู่ทุ่งสังหาร สุ่มเสี่ยงเพราะไม่มั่นใจว่าจะแพ้หรือชนะ ทั้งที่จริงเราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงเลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น