เลขาฯ วุฒิสภา แจงหลังผู้พลาดหวัง กสทช.ฟ้องศาลปกครอง ยัน กก.สรรหา ทำรอบคอบตามระเบียบ ระบุ ตนเป็นแค่ธุรการไม่มีอำนาจยับยั้ง ด้าน “สมชาย” ยันสภาสูงพร้อมตั้ง กมธ.สอบต่อ แย้มอาจเลือกไปก่อนแล้วค่อยเพิ่มทีหลังหากศาลติดสิทธิ์รายใด
วันนี้ (23 พ.ค.) นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กสทช.กล่าวถึงกรณี นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ผู้เข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.ฟ้องศาลปกครองให้พิจารณากระบวนการสรรหาเป็นไปโดยมิชอบ ว่า ขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาฯเป็นหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสรรหาฯกำหนดเอง ซึ่งเท่าที่ดูก็ไม่น่าจะมีปัญหา และคณะกรรมการสรรหาฯได้ทำอย่างรอบคอบตามระเบียบ ซึ่งเท่าที่คำฟ้องเรื่องการทำลายบัตร ก็ถือเป็นปกติที่ในการลงคะแนนลับ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็ต้องทำลายเหมือนการประชุมวุฒิสภา เพื่อเลือกบุคคลเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ส่วนประเด็นตัวกรรมการสรรหาฯบางรายมีความทับซ้อนกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อบางราย เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสรรหาฯจะพิจารณา กรรมการสรรหาฯอาจจะเห็นว่า ประเด็นนี้ยังไม่ชัดอย่างเป็นทางการ จึงไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการทั้งหมด ส่วนเรื่องการที่คณะกรรมการสรรหาฯใช้ดุลพินิจมีมติเลือกใหม่นั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯคงเห็นว่า บุคคลที่เลือกไปมีปัญหาขาดคุณสมบัติ จึงต้องมาเลือกใหม่เฉพาะคนที่ขาดคุณสมบัติซึ่งก็น่าจะเป็นไปตามนั้น เพราะไม่เกี่ยวข้องกับบุคลที่ไม่มีปัญหาและได้เลือกไปแล้ว
“การดำเนินการเป็นดุลพินิจของกรรมการสรรหา ส่วนเลขาธิการวุฒิสภาเป็นเพียงหน่วยธุรการ ไม่ได้ไปเป็นกรรมการสรรหาด้วย จึงไม่มีอำนาจไปยับยั้ง มีหน้าที่เพียงเดินเรื่องทางธุรการ อำนวยความสะดวกในการจัดประชุม ส่งเอกสาร เมื่อคณะกรรมการฯทำงานเสร็จและส่งเรื่องมา ฝ่ายธุรการก็ต้องส่งเรื่องต่อไป เราก็ทำตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งที่มีการฟ้องร้องก็ต้องให้เป็นเรื่องของผู้ร้องและศาลปกครองที่จะวินิจฉัย” เลขาธิการวุฒิสภา กล่าว
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า กระบวนการสรรหาที่เริ่มมีการฟ้องร้องศาลปกครอง ก็ต้องให้ผู้ร้องดำเนินการไป แต่ถ้าได้บัญชีรายชื่อครบทั้ง 44 คน ส่งเข้ามาวุฒิสภา วุฒิสภาก็ต้องตั้งกมธ.ตรวจประวัติและความประพฤติเชิงลึกของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ รวมถึงตรวจสอบกระบวนการสรรหาว่าชอบหรือไม่ชอบ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาเลือกเหลือ 11 คน ต่อไป
“แต่ตรงนี้ก็จะมีปัญหา ว่า วุฒิสภาจะเดินหน้าเลือกต่อไปหรือถ้ากระบวนการสรรหามีปัญหาจะส่งกลับไปให้ไปทำมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งในอดีตกรณี ป.ป.ท.หรือ กทช.เราก็เคยส่งกลับไปให้ทำมาใหม่แล้ว แต่คราวนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯกำหนดเวลา ว่า ให้ทำให้เสร็จภายใน 180 วัน ถ้าทำไม่เสร็จอำนาจการเลือกจะกลับไปอยู่ที่รัฐบาลทั้งหมด ซึ่งก็จะมีปัญหาการไม่สามารถตรวจสอบได้อีก ตรงนี้วุฒิสภาก็ต้องชั่งน้ำหนักว่า อะไรได้มากกว่าเสีย เพราะการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นสุญญากาศมาเป็น 10 ปีแล้ว คราวนี้กฎหมายจึงไม่ได้ตัดสิทธิ์ให้กระบวนการคัดสรรหยุดชะงัก ถ้ามีปัญหาขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งเท่าที่ดูตอนนี้ กระบวนการสรรหาก็ยังไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อแต่ละกลุ่มยังพอมีที่มาที่ไป ก็อาจต้องให้เป็นเรื่องเฉพาะผู้ร้องกับศาล เมื่อถึงขั้นวุฒิสภา ส.ว.ก็อาจต้องพิจารณาเลือกไปก่อน แล้วถ้าได้ กสทช.11 คน แล้วภายหลังรายใดถูกศาลตัดสินก็ต้องสรรหาเพิ่มเติมเข้ามาใหม่” นายสมชาย กล่าว