xs
xsm
sm
md
lg

“สุภิญญา” ภาพลอก! ย้อนรอยคำพูดก่อนพลิกลิ้นชิงตำแหน่ง กสทช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อความในเฟซบุ้ค วันที่ 26 กันยายน 2553
ASTVผู้จัดการ - ย้อนรอยคำพูด “สุภิญญา กลางณรงค์” ปีที่แล้วลั่นวาจาไม่คิดสมัคร กสทช.ยกเหตุผลเคยร่างกติกามาเอง แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดมารยาท ก่อนที่ภายหลังดี๊ด๊ายื่นใบสมัครหน้าตาเฉยกระทั่งติด 1 ใน 22 แคนดิเดตว่าที่ กสทช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชุมครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554 และลงมติเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.โดยวิธีการสรรหาบุคคลในบัญชีรายชื่อที่สอง จำนวน 22 คน ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 ที่ผ่านมา พบว่า น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหา หลังจากที่สมัครเข้าเป็นคณะกรรมการ กสทช.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ น.ส.สุภิญญา ได้เคยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ค เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2553 ที่ผ่านมา มีใจความว่า “มีคนยุให้ลงสมัคร กสทช.เหมือนกัน เพราะจะได้เข้าไปลุยงานปฏิรูปสื่อด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่ได้คิดหรอกนะคะ เพราะอันนี้เป็นเรื่องมารยาทแน่เพราะเป็นคนร่าง พรบ.กสทช.มา ส่วนตัวมองเรื่องความทับซ้อนตรงนี้นะคะ คือ เราเป็น NGO รณรงค์ทั้งในและนอกห้องประชุมเป็นเรื่องปกติทำได้ ถ้าเราไม่มีส่วนได้เสียในการประมูลหรือการออกแบบกติกานั้น แต่ถ้ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการประมูล แล้วไปนั่งออกแบบกติกาอันนี้น่ะผิดจริงจังค่ะ

ส่วนเรื่องสมัครเป็น กสทช.แม้จะไม่ผิด กม. (กฎหมาย) แต่เป็นมารยาท เพราะเป็นคนร่างกฎหมายมาเอง อันนี้ ถ้าสุดท้ายดิฉันตัดสินใจลงสมัคร กสทช.ในอนาคต ก็รอวิจารณ์ได้เต็มที่เลยนะคะ เพราะเข้าข่ายว่าทำงานเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาทั้งหมดเพราะอยากเป็น กสทช.”


สำหรับรายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.จากผู้ผ่านการพิจารณา รวม 80 คน ประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง คือ พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(องค์การมหาชน) และ น.ส.ลักษมี ศรีเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสมเพ็ชร (2533), ด้านกิจการโทรทัศน์ 2 คน คือ นายพนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ คณะกรรมการบริหาร องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส และอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

ด้านกิจการโทรคมนาคม คือ นายชัชวลิต สรวารี กรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. นายรอม หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท วิทยาการตลาดทุนเพื่อสังคม นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม, ด้านกฎหมาย คือ น.ส.จันทิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายทวี เส้งแก้ว ทนายความสำนักงานกฎหมายนิติธาดา นายทวี เส้งแก้ว ทนายความสำนักงานกฎหมายนิติธาดา นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพสามิต นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ข้าราชการบำนาญ ที่ปรึกษาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นายพิษณุ เหรียญมหาสาร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นายวิชัย โถสุวรรณจินดา อดีตสมาชิกวุฒิสภา, ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือด้านกิจการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม คือ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอันเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม คือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม 2 คน คือ นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราช การประจำ และนางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับขั้นต่อจากนี้จะต้องรอบัญชีรายชื่ออีกจำนวน 22 คนที่มาจากการคัดเลือกกันเองของผู้ได้รับการเสนอชื่อ จากนั้นจะมีการส่งรายชื่อทั้งสองบัญชีจำนวน 44 คน เพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลืออีก 11 คนเพื่อดำรงตำแหน่งเป็น กสทช.ต่อไป.

• “สุภิญญา” รับผิดมารยาท อ้างแค่เสนอตัวเองเป็นตัวเลือกเฉยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันนี้ (6 พ.ค.) น.ส.สุภิญญา ได้เข้ามาชี้แจงในเฟซบุ๊ก Surawich Verawan ของ นายสุรวิชช์ วีรวรรณ บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ระบุว่า ตนยอมรับคำวิจารณ์ ในวันนั้นไม่คิดจะลงสมัครจริงๆ แต่มาเปลี่ยนใจตอนหลัง ด้วยหลายเหตุผล วันนี้ก็ยอมรับผลการตัดสินของวุฒิสภา ถ้าเลือกให้เป็น กสทช.ก็ได้เป็น ถ้าไม่เลือกก็ไม่เป็นไร

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังทำงานเหมือนเดิม วิจารณ์กลุ่มทุนโทรคมนาคมเหมือนเดิม เรียกร้องสิทธิเสรีภาพสื่อ และ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เสรีภาพอินเทอร์เน็ตเหมือนเดิม เพียงแต่คิดเรื่องการเมืองไม่เหมือนพันธมิตรเท่านั้นเอง งานปฏิรูปสื่อ ก็ยังพูดและมีจุดยืนเหมือนเดิมทุกอย่าง ถ้าอันไหนจุดยืนไม่เหมือนเดิม เรื่องเสรีภาพ และ เรื่องปฏิรูปสื่อ รบกวนช่วยให้ข้อมูลด้วย

“ยอมรับเรื่องผิดคำพูดที่กลับมาสมัคร กสทช.แต่ไม่ยอมรับที่กล่าวหาจุดยืนในการทำงานไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าคิดว่าคิดต่างจากพันธมิตรแล้วผิด ก็เคารพคำวิจารณ์ ก่อนร่วมพันธมิตร ก็สู้เรื่องเสรีภาพสื่อ ตอนอยู่กับพันธมิตรก็พูดเรื่องเสรีภาพ ตอนนี้ก็ยังทำงานรณรงค์เรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชนอยู่ ไม่แน่ใจว่าตัวเองเปลี่ยนจุดยืนตรงไหน” น.ส.สุภิญญา กล่าว

น.ส.สุภิญญา ชี้แจงว่า เอ็นจีโอจะเคลื่อนไหวใหญ่โต ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนให้ทางธุรกิจ กับการเมืองเป็นหลัก รวมถึงเรื่องละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน เรื่องการเปลี่ยนใจของบุคคล เราไม่เคยเคลื่อนไหวค้าน ส่วนเรื่องมีส่วนร่างกฏหมาย ตัวเองเป็นเสียงเดียว แต่กฏหมายนี้ผ่านโดยสภา และ ส.ว.ซึ่งไม่ได้เห็นตามร่างที่เอ็นจีโอ เสนอทั้งหมด แต่สุดท้ายคนที่ตัดสิน ก็คือ ส.ว.

“ประเด็นคือเอ็นจีโอมีส่วนเสนอกฏหมายแต่เราไม่ได้ตัดสินเนื้อหาในกฏหมายนั้นในท้ายที่สุด คนที่ผ่านกฏหมายและแก้ไข คือ สภา และ สว. ซึ่งไม่ได้เหมือนในข้อเสนอเราทั้งหมด และสุดท้ายคนที่ตัดสิน กสทช. คือ สว. ซึ่งเราคิดว่า สว.เป็นอิสระพอที่จะตัดสินใจ” น.ส.สุภิญญากล่าว

ในตอนท้าย น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ก่อนที่ตัดสินใจสมัครก็คุยกับหลายคนเยอะมาก เจอคำถามทุกอย่างมาหมดแล้ว มีเหตุผลรองรับ แต่อธิบายไปก็เหมือนแก้ตัว เลยขอรับฟังทุกอย่าง แต่ไม่ได้บอกว่าไม่รู้สึกอะไร ยอมรับว่าผิดมารยาท และยอมรับคำวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ตนจะได้เป็น กสทช. มีน้อยมาก 25% ซึ่งตนสมัครเพื่อเสนอตัวเองเป็นตัวเลือกเฉยๆ ไม่ได้เป็นก็ไม่เป็นไร ทำงานของเราต่อไป สุดท้าย ส.ว.ชุดใหม่เป็นคนเลือกซึ่งยากมาก
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น