xs
xsm
sm
md
lg

เก้าอี้ ปธ.กมธ.วิทย์ ร้อนฉ่า นัดเลื่อนลงมติ เค้กแสนล้านยั่วน้ำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุม กมธ.วิทย์ วุฒิสภา ชะลอเลื่อนลงมติเลือกประธาน กมธ.เหตุ ส.ว.ธันว์ สวมบทนินจา สอดรับกระแสมีการล็อบบี้กันอย่างหนัก เหตุผลประโยชน์นับแสนล้าน สู่กระบวนการคัดสรรหาคณะกรรมการ กสทช.รออยู่เบื้องหน้า อ้างผลลงมติทั้ง 2 รอบ เสียง 7 ต่อ 7 นัดชี้ขาดใหม่ พรุ่งนี้ ขณะที่การคัดเลือก ปธ.กมธ.อีก 21 คณะลงตัวแล้ว ที่ประชุม กสทช.เคาะ 22 รายชื่อชิงดำ กสทช.บัญชีแรก คนดังติดเพียบ “วสันต์-สุภิญญา-กรรมการ กทช.-เลขา กกต.”


วันนี้ (25 เม.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา เพื่อเลือกตำแหน่งประธาน ซึ่งถือเป็นคณะกรรมาธิการสามัญคณะเดียวจาก 22 คณะ ที่ยังไม่สามารถเลือกตำแหน่งประธานได้ เพราะมีการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่าง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับ นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน ส.ว.สรรหา โดยยังคงขาด นายธันว์ ออสุวรรณ ส.ว.ประจวบคีรีขันธ์ เช่นเดิม ทั้งที่ในช่วงเช้าได้มาร่วมประชุมวุฒิสภา และถ่ายภาพหมู่ ส.ว.ทั้ง 149 คน ที่ลานพระบรมรูป ร.7 ท่ามกลางกระแสข่าวมีรัฐมนตรี และนายทหารใหญ่พยายามบล็อกไม่ให้ นายธันว์ มาลงคะแนน ซึ่งผลปรากฏว่า การลงคะแนน 2 รอบทั้ง 2 ฝ่าย มีเสียงเท่ากันที่ 7 ต่อ 7 จนต้องพักการประชุมถึง 2 รอบ และให้คู่แคนดิเดต 2 คน ไปตกลงกันจนได้ข้อสรุปว่า จะดำรงตำแหน่งกันคนละ 9 เดือน แต่เมื่อถึงประเด็นใครจะเป็นก่อนหลัง ปรากฏว่า ตกลงกันไม่ได้ จึงต้องเลื่อนการประชุมเพื่อไปชี้ขาดกันในวันที่ 26 เม.ย.โดยจะไม่มีการโหวตลงมติกันอีกแล้ว ถึงแม้ นายธันว์ จะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ก็ตาม เหลือเพียงให้ประธานใช้อำนาจชี้ขาดเท่านั้น

นายพีระ มานะทัศน์ ส.ว.ลำปาง ในฐานะประธานการประชุมชั่วคราว กล่าวว่า ที่ประชุมได้เปิดให้ลงคะแนนเปิดเผย ซึ่งผลคะแนนออกมาเท่ากัน คือ 7 ต่อ 7 เพราะ นายธันว์ ไม่มาประชุม จึงได้เลื่อนการประชุมไปเป็นวันที่ 26 เม.ย.เวลา 11.30 น.ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ถกเถียงเรื่องการใช้ข้อบังคับ ว่า หากผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงประธานมีคะแนนเท่ากัน จะใช้วิธีใด โดยกลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.สมเจตน์ ได้เสนอให้ใช้วิธีการจับสลาก ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุน นางนิลวรรณ เสนอให้ประธานที่ประชุมใช้สิทธิลงคะแนนเพื่อชี้ขาด ซึ่งจะต้องมาหารืออีกครั้งในที่ประชุมว่าจะยึดตามบทบัญญัติใด จะให้จับสลาก หรือให้ประธานใช้อำนาจชี้ขาด แม้การลงคะแนนเลือกครั้งแรก ตนลงให้ นางนิลวรรณ แต่การตัดสินเพื่อเลือกประธานฯต้องมาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนตัวรู้สึกหนักใจที่มีเผือกร้อนอยู่ในมือ จะเลือกใครก็อาจกลายเป็นปัญหากับอีกฝั่งได้ แต่เชื่อในการทำหน้าที่โดยบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีการล็อบบี้กันอย่างหนักก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อประธานคณะกรรมาธิการสามัญอีก 21 คณะ ประกอบด้วย นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา นายบรรชา พงศ์อายุกูล ส.ว.พิจิตร เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม นายถาวร ลีนุตพงษ์ ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก เป็นประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ส.ว.ชุมพร เป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหาร นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ส.ว.ภูเก็ต เป็นประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทบุรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ ส.ว.หนองคาย เป็นประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน

นางยุวดี นิ่มสมบูรณ์ ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี เป็นประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา เป็นประธานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.เป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล นายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม และนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค


ด้านที่ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงมติเลือกตั้งผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช.จำนวน 22 คนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง 2 คน คือ พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) และ น.ส.ลักษมี ศรีเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสมเพ็ชร (2533) ด้านกิจการโทรทัศน์ 2 คน คือ นายพนา ทองมีอาคม กรรมการกิจารโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

ด้านกิจการโทรคมนาคม 4คน ได้แก่ นายชัชวลิต สรวารี กรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช.นายรอม หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท วิทยาการตลาดทุนเพื่อสังคม นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม ด้านกฎหมาย 4 คน คือ น.ส.จันทิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายทวี เส้งแก้ว ทนายความสำนักงานกฎหมายนิติธาดา นายทวี เส้งแก้ว ทนายความสำนักงานกฎหมายนิติธาดา นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ด้านเศรษฐศาสตร์ 4 คน นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพสามิต นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ข้าราชการบำนาญ ที่ปรึกษาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นายพิษณุ เหรียญมหาสาร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นายวิชัย โถสุวรรณจินดา อดีตสมาชิกวุฒิสภา ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือด้านกิจการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม 2 คน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอันเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม 2คน คือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรมหรือการพัฒนาสังคม 2 คนคือ นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราช การประจำ และนางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับขั้นต่อจากนี้จะต้องรอบัญชีรายชื่ออีกจำนวน 22 คนที่มาจากการคัดเลือกกันเองของผู้ได้รับการเสนอชื่อ จากนั้นจะมีการส่งรายชื่อทั้ง 2 บัญชี จำนวน 44 คน เพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลืออีก 11 คน เพื่อดำรงตำแหน่งเป็น กสทช.ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น