xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์พอใจผลงาน ศก.รัฐบาล “มาร์ค” เฉียดฉิว 5.12 คะแนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักเศรษฐศาสตร์พอใจผลงานเศรษฐกิจรัฐบาล “มาร์ค” เฉียดฉิว 5.12 จากคะแนนเต็ม 10 พร้อมแนะรัฐบาลใหม่ควรสานต่อ โครงการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าระบบประกันสังคม เบี้ยยังชีพคนชรา เรียนฟรี 15 ปี ส่วนโครงการที่ไม่ควรให้สานต่อคือการขายไข่แบบชั่งกิโล ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ขายหวยออนไลน์

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 30 แห่ง จำนวน 76 คน เรื่อง “สรุปผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ : นโยบายใดบ้างที่ควรสานต่อ?” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค.ที่ผ่านมา

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลงานการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ โดยให้คะแนน 5.12 คะแนน จากเต็ม 10 ประกอบด้วย ด้านการเติบโตของ GDP 6.85 คะแนน ด้านการนำพาเศรษฐกิจไทยในช่วง Hamburger Crisis 6.39 คะแนน

ด้านการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ 5.03 คะแนน ด้านการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ 4.76 คะแนน ด้านการแก้ปัญหา/ดูแลเสถียรภาพของราคาสินค้า 4.00 คะแนน ด้านการบริหารจัดการราคาพลังงาน 3.70 คะแนน

สำหรับการประเมินผลงานตามโครงการที่อยู่ในความสนใจของสังคม จำนวน 18 โครงการ พบว่า โครงการที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่พอใจในผลการทำงาน และเห็นว่ารัฐบาลใหม่ไม่ควรสานต่อ 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการทดลองขายไข่แบบชั่งกิโล ได้ 1.99 คะแนน โดย ร้อยละ 84.2 ไม่ต้องการให้สานต่อ โครงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้ราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ได้ 3.38 คะแนน ร้อยละ 64.5 ไม่ต้องการให้สานต่อ โครงการขายสลากกินแบ่งฯ แบบออนไลน์ ได้ 3.67 คะแนน ร้อยละ 43.4 ไม่ต้องการให้สานต่อ

ส่วนโครงการที่นักเศรษฐศาสตร์พอใจในผลการทำงานของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โครงการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าระบบประกันสังคม สำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในระบบ ได้ 7.33 คะแนน โดย ร้อยละ 92.1 ต้องการให้สานต่อ โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาทต่อเดือน ได้ 7.29 คะแนน ร้อยละ 90.8 ต้องการให้สานต่อ โครงการเรียนฟรี 15 ปี ได้ 7.16 คะแนน ร้อยละ 90.8 ต้องการให้สานต่อ

ส่วนข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญมี ดังนี้ 1.พัฒนาการศึกษา ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ร้อยละ 30.8

2.ลดการบิดเบือนกลไกตลาด ราคาน้ำมันดีเซลและแก๊ส LPG/ ลดการแซกแซงราคาสินค้า โดยอย่าแทรกแซงในลักษณะที่ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ผลิต หรือ Cartel /ลดการผูกขาดตลาดพลังงาน/จัดหาพลังงานทดแทนให้เพียงพอ ร้อยละ 20.5 และ 3.ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ร้อยละ 15.4
กำลังโหลดความคิดเห็น