xs
xsm
sm
md
lg

โพลนัก ศศ.ให้ รบ.ผ่านเฉียดฉิว ส่ายหน้าชั่งกิโลขาย - โจ๋เชื่อเลือกตั้งไปก็เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรุงเทพโพลล์ เผย นักเศรษฐศาสตร์ ให้คะแนนรัฐบาล “มาร์ค” บริหาร ศก.5.12 จากคะแนนเต็ม 10 ชูเติบโตจีดีพีสูง ส่ายหน้าชั่งกิโลขายอย่าทำอีก หนุนสานต่อประกันสังคม, เบี้ยยังชีพ แนะพัฒนาการศึกษา, ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, สร้างความร่วมมือในภูมิภาค ด้าน สวนดุสิตโพล เผย วัยรุ่น ชอบ ปชป.มากกว่า พท.แต่ร้อยละ 24.92 ไม่ชอบใครเลย รับอยากได้ ส.ส.ดีไม่โกง เชื่อเลือกตั้งไปก็เหมือนเดิม

วันนี้ (18 พ.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 30 แห่ง จำนวน 76 คน เรื่อง “สรุปผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์: นโยบายใดบ้างที่ควรสานต่อ?” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลงานการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ โดยให้คะแนน 5.12 คะแนน (จากเต็ม 10) โดยมีรายละเอียดในแต่ละด้าน ดังนี้ ด้านการเติบโตของ GDP 6.85 คะแนน ด้านการนำพาเศรษฐกิจไทยในช่วง Hamburger Crisis 6.39 คะแนน ด้านการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ 5.03 คะแนน ด้านการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ 4.76 คะแนน ด้านการแก้ปัญหา/ดูแลเสถียรภาพของราคาสินค้า 4.00 คะแนน ด้านการบริหารจัดการราคาพลังงาน 3.70 คะแนน

สำหรับการประเมินผลงานตามโครงการ (ที่อยู่ในความสนใจของสังคม) จำนวน 18 โครงการ พบว่า โครงการที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่พอใจในผลการทำงาน และเห็นว่า รัฐบาลใหม่ไม่ควรสานต่อ 3 อันดับแรก คือ โครงการ (ทดลอง) ขายไข่แบบชั่งกิโล ได้ 1.99 คะแนน (ร้อยละ 84.2 ไม่ต้องการให้สานต่อ) โครงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้ราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ได้ 3.38 คะแนน (ร้อยละ 64.5 ไม่ต้องการให้สานต่อ) โครงการขายสลากกินแบ่งฯ แบบออนไลน์ ได้ 3.67 คะแนน (ร้อยละ 43.4 ไม่ต้องการให้สานต่อ)

ส่วนโครงการที่นักเศรษฐศาสตร์พอใจในผลการทำงานของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ โครงการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าระบบประกันสังคม (สำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในระบบ) ได้ 7.33 คะแนน (ร้อยละ 92.1 ต้องการให้สานต่อ) โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาทต่อเดือน ได้ 7.29 คะแนน (ร้อยละ 90.8 ต้องการให้สานต่อ) และโครงการเรียนฟรี 15 ปี ได้ 7.16 คะแนน (ร้อยละ 90.8 ต้องการให้สานต่อ)

ด้านข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญมี ดังนี้ 1.พัฒนาการศึกษา ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว (ร้อยละ 30.8) 2.ลดการบิดเบือนกลไกตลาด (ราคาน้ำมันดีเซลและแก๊ส LPG)/ลดการแซกแซงราคาสินค้า (อย่าแทรกแซงในลักษณะที่ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ผลิต หรือ Cartel)/ลดการผูกขาดตลาดพลังงาน/จัดหาพลังงานทดแทนให้เพียงพอ (ร้อยละ 20.5) และ 3.ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง (ร้อยละ 15.4)

ด้าน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นจากวัยรุ่น และเยาวชนทั่วประเทศ กรณีความสนใจของ “วัยรุ่น/เยาวชน” กับการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 1,219 คน ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม โดย พรรคการเมือง ที่วัยรุ่น/เยาวชน ชื่นชอบมากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ 37.18% พรรคเพื่อไทย 32.03% ไม่ชอบพรรคใดเลย 24.92% พรรคชาติไทยพัฒนา 3.85% และอื่นๆ เช่น พรรคการเมืองใหม่ พรรคภูมิใจไทย พรรครักษ์สันติ พรรคประชาราษฎร์ ฯลฯ 2.02% ขณะที่ ส.ส.แบบใด? ที่วัยรุ่น เยาวชน อยากได้ 35.47% เป็นคนดี ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง มีคุณธรรม 28.13% พูดจริงทำจริง ขยัน ตั้งใจทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด 18.28% เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า/ไม่เห็นแก่พวกพ้องหรือแบ่งพรรคแบ่งพวก 10.68% เข้าถึงประชาชน รับฟังปัญหา/เป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทนประชาชน 7.44% เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ

เมื่อถามว่า เยาวชนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างไร? 72.58% เห็นว่า เหมือนเดิม เพราะถึงแม้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ชนะแต่อีกฝ่ายก็จะไม่เห็นด้วยอยู่ดี ยังคงทะเลาะเบาะแว้ง แตกแยก ขาดความสามัคคีเหมือนเดิม การเมืองมีแต่เรื่องแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ฯลฯ 22.18% เชื่อว่า ดีขึ้น เพราะเป็นการเลือกตั้งที่มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง มีความเป็นประชาธิปไตย, เป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่ได้รับเลือกเข้ามาได้พิสูจน์หรือแสดงฝีมือให้ประชาชนได้เห็นถึงความรู้ความสามารถที่มี ฯลฯ 5.24% เชื่อว่า แย่ลง เพราะจากข่าวที่นำเสนอจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ดุเดือด รุนแรง, อาจมีการชุมนุม ต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับกับผลที่ออกมา สร้างสถานการณ์บ้านเมืองให้วุ่นวาย ฯลฯ

ขณะที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งหรือไม่? 56.04% เห็นว่า มีผล เพราะทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มคนที่หลากหลาย รู้ว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร เป็นการเปิดกว้างทางความคิด, ทำให้รู้ว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายหรือวิธีการทำงานอย่างไร, สามารถสืบค้น ค้นหาข้อมูลที่ต้องการหรืออยากรู้ได้ เช่น ประวัติ ผลงาน การทำงานของนักการเมือง ฯลฯ 43.96% ไม่มีผล เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและมุมมองของแต่ละคน มีนักการเมืองที่ชื่นชอบอยู่แล้ว, ไม่ว่าจะเผยแพร่ข่าวสารทางช่องทางใด พฤติกรรมของนักการเมืองและสภาพการเมืองไทยก็ยังคงเหมือนเดิม, ตั้งใจว่าจะไม่เลือกใคร ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น