xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “รัฐบาลรักษาการ” คุมแร่ใยหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในภาวะการเมืองไม่นิ่ง ฝุ่นตลบเพราะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง นักการเมืองลงพื้นที่แข่งขันหาเสียง หวังกลับมาจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เป็นห้วงเวลาที่แสนง่ายเหลือเกินที่อาจจะปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องที่ดูเล็กๆ ผ่านไปโดยไม่ใส่ใจ แต่กลไกการทำงานภายใต้สภาวะหน้าที่ “รัฐบาลรักษาการ” ยังคงเดินไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเลือกและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่...

ในห้วงเวลาแบบนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีใครรับประกันได้ว่าขณะเรื่องเลือกตั้งถูกจับตามอง รัฐบาลรักษาการณ์อาจจะรีบตัดสินใจผ่านข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการห้ามนำเข้า “ห้ามผลิตห้ามใช้ และห้ามครอบครองผลิตภัณฑ์แร่ไครโซไทล์” ไปอย่างง่ายๆ...

เป็นไปตามเกมของบริษัททนายความข้ามชาติ และผู้ผลิตสารเคมีทดแทนไครโซไทล์ ซึ่งอยู่เบื้องหลัง กลุ่มที่รณรงค์ให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน!!

รัฐบาลต้องกลับมาฉุกคิดอย่างจริงจัง ฟังเสียงให้ครบทั้ง 360 องศา ตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังรับบทเป็นแม่งานหลักในการเปิดรับฟังเสียงสะท้อน เชื้อเชิญทั้งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร รวมทั้งขอความร่วมมือจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อมาช่วยกันทำการศึกษา แต่ยังขาดเสียงของความเป็นธรรมจาก ผู้ประกอบการ และผู้อุปโภคบริโภค

เพราะแม้ว่า “สภาอุตสาหกรรมจะมาในหน้าที่ของผู้ประกอบการ แต่ต้องดูว่ามาในนามของผู้ประกอบการฝั่งไหน?!”

แต่สำหรับผู้ประกอบการอย่างเจ้าของกระเบื้องโอฬาร จะเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่อีแอบ! ผู้บริหารฯ ออกมาออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม วิงวอนให้รัฐบาลศึกษาให้ถี่ถ้วน เป็นอีกฟากของผู้ประกอบการที่ออกมายืนยันถึงผลดีของการใช้แร่ใยหิน

กระเบื้องโอฬาร ที่อยู่ในอุตสาหกรรมมากกว่า 50 ปี ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาคอนกรีต ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่เกษตรกรและคนทั่วไปทั้งประเทศ ตั้งแต่ใช้มุงหลังคามัสยิดในภาคใต้จนถึงมุงหลังคาบ้านในภาคอีสานจนถึงภาคเหนือ ตอนนี้รัฐบาลกำลังเสนอแผนการห้ามใช้ไครโซไทล์ในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา แร่นี้ทำให้กระเบื้องแข็งแรงขึ้น ทนทาน ขึ้นต่อความร้อน และติดไฟยากขึ้น เมื่อเทียบกับสารทดแทนอื่นๆ ที่สำคัญคือ ราคาถูกกว่าสารทดแทนอื่นๆ ทั่วโลก มีการใช้ไครโซไทล์กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และบราซิล

แน่นอนที่ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้ไครโซไทล์อย่างมีความรับผิดชอบและระมัดระวังเช่นเดียวกับการใช้สารอื่นๆ ทุกคนในอุตสาหกรรมเห็นด้วยถ้าหากจะมีการเพิ่มมาตรการ เพื่อให้การใช้แร่ตัวนี้เป็นไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น ในโรงงานให้มีมาตรฐานการทำงานอย่างเข้มงวด และมีความรับผิดชอบอย่างสูงกับคนงาน

ความพยายามของรัฐบาลในการห้ามใช้แร่ตัวนี้จะเป็นไปได้เพียงใด ขอบอกว่าผู้ประกอบการทุกคนต่างก็ต้องการปกป้องคนงาน และต้องการทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมรัฐบาลถึงคิดที่จะห้ามใช้โดยที่ไม่มีการพิจารณาถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ถึงอันตรายจากสารทดแทนตัวอื่นๆ

หากใครได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะสับสนเป็นอย่างมากกับข้อนี้ ในการประชุมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อพุดคุยว่าเป็นไปได้แค่ไหนในการใช้สารอื่น มาทดแทนไครโซไทล์ แต่กลับไม่มีคนของรัฐบาลคนไหนอยากจะพูดคุยในเรื่องนี้เลย มีแต่จะถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะเลิกใช้ไครโซไทล์ได้ ทำไมไม่มีใครที่จะถามเกี่ยวกับว่า

“ประเทศไทยศึกษาข้อมูลครบถ้วนรอบด้านแล้วหรือยัง?”

น่ากังวลใจต่อท่าทีที่หน่วยงานภาครัฐพร้อมที่จะปฏิเสธการศึกษาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

สิ่งที่ทุกคนควรรู้คือ ไครโซไทล์ยังไม่เคยถูกหยิบยกให้เป็นสาเหตุทางการตายของคนไทยแม้แต่คนเดียว นอกจากนั้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังบ่งบอกว่า ไครโซไทล์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ตั้งแต่มีการใช้เยื่อไครโซไทล์ในการผลิตวัสดุคอนกรีตต่างๆ ในประเทศไทยหรือที่อื่นๆ ในโลกยังไม่มีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นต่างกับในกรณีสารทดแทนบางตัว

ทั่วโลกมีการใช้ไครโซไทล์ร้อยละ 95 ในการผลิตวัสดุคอนกรีตต่าง ๆ เช่นแผ่นคอนกรีตลอน แผ่นคอนกรีตแบบแบน กระเบื้องหินชนวน และท่อ หลายสิบปีที่ผ่านมามีการพัฒนาสารทดแทนแต่การพัฒนาสารหลายตัวเพื่อให้ทนทานต่อภูมิอากาศร้อนชื้นแบบในบ้านเราก็ล้มเหลว

ขอย้ำ ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจแบบผิดๆ ควรที่จะมีการศึกษาอย่างจริงจัง ปรับปรุงมาตรฐานการใช้ไครโซไทล์อย่างมีความรับผิดชอบ รัฐบาลและอุตสาหกรรมบางประเภทควรร่วมกันดูแลให้มีการใช้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญไม่ควรห้ามใช้สารที่ยังคงมีการใช้อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและส่วนอื่นๆ ของโลก

ถ้ารัฐบาลยังไม่ละความพยายาม ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นสำหรับราคากระเบื้องมุงหลังคา เพราะเท่ากับบังคับให้ผู้ประกอบการใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นแถมได้วัสดุที่แย่ลง หวังว่าในขณะที่ทุกคนกำลังรอคอยการเลือกตั้ง รัฐบาลรักษาการณ์คงไม่ลักไก่! โดยที่ไม่ดูข้อเท็จจริงใดๆ เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น