พาณิชย์แบนส่งออกผัก 5 ชนิดไปอียู ก่อนถูกสั่งห้ามตั้งแต่ 1 ก.พ.ลั่นเดิมพันสูงต้องตัดไฟแต่ต้นลม สกัดกระทบส่งออกสินค้าเกษตร 4 ล้านล้านบาท พร้อมเดินหน้าจับมือภาคเอกชนเตรียมประกาศวาระแห่งชาติ หวังดูแลสินค้าเกษตรปลอดภัยสูง
นายประพล มิลินทจินดา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันเร่งหามาตรการป้องกันจากกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ส่งสัญญาณว่า พบพืช 5 กลุ่ม 16 ชนิดของไทย มีศัตรูพืช ซึ่งอาจทำให้อียูห้ามนำเข้าสินค้าดังกล่าวของไทยในอนาคต โดยระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาไทยก็ได้มีการชะลอการส่งออกในสินค้าดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และหากภาครัฐไม่ดำเนินการอะไร อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผักผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท
การประชุมร่วมกันดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหากรณี อียูเตรียมออกมาตรการห้ามนำเข้าผักสดของไทย 5 กลุ่ม ยืนยันว่า ขณะนี้อียูยังไม่ได้สั่งระงับ (แบน) นำเข้าสินค้าผักจากไทย แต่ไทยได้แก้ไขปัญหาด้วยการแบนตัวเอง โดยกรมวิชาการเกษตรจะระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยสินค้าผักทั้ง 5 กลุ่มที่จะส่งออกไปอียูตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป ส่วนผู้ส่งออกที่ผลิตได้มาตรฐานที่อียูกำหนด ยังสามารถส่งออกได้ และในระหว่างนี้ หากพบการลักลอบส่งออกจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
“ตอนนี้ ยืนยันว่า อียูยังไม่ได้แบนเรา แต่เราต้องแบนตัวเอง เพราะไม่อยากส่งออกสินค้า 5 กลุ่มนี้ จนกว่าเราจะจัดการเรื่องภายในให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งเราได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะเข้ามาดูแลมาตรฐานในเรื่องสินค้าเกษตร โดยจะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงการส่งออก เราทำแบบนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงอียูว่าเราเอาจริง เราไม่อยากให้เรื่องเล็กลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเรามีเดิมพันในเรื่องสินค้าเกษตรทั้งระบบถึง 4 ล้านล้านบาท”
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่ประเทศไทยอาจจะถูกแบนในตัวสินค้าอื่นๆ และไม่เพียงเฉพาะกลุ่มอียูเท่านั้น อาจจะบานปลายไปถึงประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทย เช่น จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ จึงได้ตัดสินใจว่าหลังจากนี้ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะมีการควบคุมดูแลความปลอดภัยในสินค้าพืชผักและอาหารของไทย โดยจะกำหนดมาตรการเพื่อกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาควบคุมดูแลจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบในสัปดาห์หน้า และจะได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะใช้มาตรการเข้มงวดในการดูแลแล้ว โดยปัญหาที่ตรวจพบมักจะอยู่ในกลุ่มผู้ส่งออกรายย่อยที่มีการดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้น หลังจากที่ประกาศมาตรการวาระแห่งชาติ ก็จะดำเนินการจริงจังกับกลุ่มที่ลักลอบส่งออกสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีความปลอดภัยอย่างจริงจัง ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ และยืนยันมาตรการเข้มงวดนี้ อาจจะทำให้ภาคเอกชนมีความลำบากในการส่งออกบ้าง แต่การใช้มาตรการเข้มงวดตั้งแต้ต้นทางจนถึงปลายทาง จะทำให้หลายประเทศเกิดความสบายใจในการบริโภคสินค้าไทย และเชื่อว่าหากมาตรการควบคุมดูแลได้เป็นอย่างดี ประเทศไทยมีโอกาสภายใน 5 ปี จะสามารถเป็นผู้นำของอาเซียนในการดูแลสินค้าที่มีความปลอดภัยสูง
ก่อนหน้านี้ อียูได้เตรียมจะออกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าผักจากไทยจำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า กลุ่มที่ 2 พริก กลุ่มที่ 3 มะระจีน มะระขี้นก กลุ่มที่ 4 มะเขือเปาะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือขื่น และกลุ่มที่ 5 ผักชีฝรั่ง เนื่องจากตรวจพบศัตรูพืชผักที่นำเข้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีการลักลอบส่งออกผักที่ไม่แจ้งและไม่ผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตรวจพืชของไทย รวมทั้งยังไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชแนบไปกับสินค้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศ