xs
xsm
sm
md
lg

สัปดาห์สุดท้ายก่อนยุบสภาจับตา...“ครม.มาร์ค” ทิ้งทวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผ่าประเด็นร้อน

การเมืองในรอบสัปดาห์นี้ตั้งแต่จันทร์ที่ 2 พฤษภาคมจนถึงศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม น่าติดตามยิ่ง ถือเป็นสัปดาห์สุดท้ายของหลายๆ อย่างในการเมืองไทย ก่อนที่จะไปถึงการยุบสภาที่คาดว่าไม่เกินวันศุกร์ที่ 6 พ.ค.54

เริ่มจากจันทร์ที่ 2 พ.ค.นี้ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อหารือถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับเช่นร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.-สว.ที่ผ่านการแก้ไขและเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา

ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรมาก เพราะฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญก็เร่งให้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องการตีความหรือวินิจฉัยในเรื่องการมีส่วนได้เสียทางการเมือง หรือเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จึงมีการบรรจุวาระเรื่องนี้เข้าเป็นเรื่องด่วนพิเศษทันที เห็นได้จากปกติที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมกันทุกวันพุธ ก็บรรจุเป็นวาระพิเศษนัดประชุมกันวันจันทร์นี้เลย

โดยแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากได้อ่านเอกสารต่างๆ มาตั้งแต่วันพฤหัสบดีมาถึงวันจันทร์ก็เป็นเวลาห้าวันแล้ว ก็ดูในหลักกว้างๆ แค่ว่าประเด็นที่มีการแก้ไขขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น องค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาครบถ้วนหรือไม่ การส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญทำถูกขั้นตอนหรือไม่ จากนั้นก็ประชุมและลงมติกันเลย

คาดกันว่า ไม่แน่จะได้ข้อสรุปกันเลยวันที่ 2 พ.ค.นี้ หรืออย่างช้าก็ไม่เกินอีกหนึ่งวันคืออังคารที่ 3 พ.ค.ก็เสร็จ หากทุกอย่างไม่มีปัญหา คือดูแล้วไม่มีอะไรติดขัด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะส่งเรื่องและความเห็นกลับมายังชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏรได้ในวันที่ 3 พ.ค.หรือช้าสุดไม่เกิน 4 พ.ค.54 เพื่อส่งต่อไปยังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เข้าสู่ขั้นตอนการนำกฎหมายไปประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อกฎหมายทั้งสามฉบับมีการประกาศใช้แล้ว ก็ถือว่าขั้นตอนการเตรียมรองรับกฎหมายเพื่อใช้ในการเลือกตั้งเสร็จแล้ว หากเป็นไปตามนี้ 6 พ.ค.54 ที่อภิสิทธิ์ย้ำตลอดว่าจะสามารถยุบสภาฯได้ในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.ก็น่าจะทำได้ตามที่ประกาศ

วันเดียวกัน คือ 2 พ.ค.54 ยังเป็นวันที่หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคนัดหมายประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหารือถึงกรอบ-กติกาการหาเสียงเลือกตั้งในเรื่องต่างๆ เช่น การออกระเบียบ การโฆษณาหาเสียง การประกาศนโยบายหาเสียง

ประเด็นสำคัญที่ถูกจับตาคือ กกต.จะไฟเขียวให้พรรคการเมืองสามารถนำเรื่องสถาบันกษัตริย์ไปเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงได้หรือไม่ ซึ่งพรรคการเมืองที่ถูกจับตามากที่สุดก็คือ พรรคภูมิใจไทยที่ชูนโยบายปกป้องสถาบันกษัตริย์ หลังนายกรัฐมนตรีและ กกต.เห็นตรงกันในการออกระเบียบไม่ให้พรรคการเมืองนำเรื่องสถาบันฯมาเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงหรือพูดพาดพิงในระหว่างการหาเสียงและบนเวทีปราศรัย

ก็ต้องดูว่า กกต.จะมีท่าทีเรื่องนี้อย่างไร เพราะฝ่ายภูมิใจไทยก็ยืนยันว่าต้องการสานต่อนโยบายปกป้องสถาบันฯเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ควรรณรงค์และไม่เกี่ยวกับการหาเสียง

อันนี้ต้องดูว่า ผลการพูดคุยรอบนี้จะมีประเด็นอะไรที่จะถูกขยายผลต่อไปหรือไม่ หากสุดท้ายการหารือดังกล่าวไม่สามารถหาข้อยุติได้ระหว่างพรรคการเมืองกับ กกต.ในหลายประเด็น

แต่เชื่อว่าใกล้เลือกตั้งแล้ว ไม่มีพรรคการเมืองไหน คิดจะแหยมหรือกล้าหือกับกกต.หรอก เพราะนักการเมือง-พรรคการเมือง ต่างก็กลัว กกต.กันทั้งนั้น ถ้า กกต.สั่งคำเดียวอะไรทำได้ทำไม่ได้แล้วยังทำฮึดฮัด ฝ่าฝืน ก็โดนใบเหลืองใบแดงหรือยุบพรรคตามมา ไม่มีใครเสี่ยงด้วยหรอก

ถัดจาก 2 พ.ค. ในวันพุธที่ 3 พ.ค.จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมร่วมรัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภาแล้ว เพราะหากมีการยุบสภา 6 พ.ค.54 รัฐสภาก็จะเหลือแค่วุฒิสภาอันไม่ครบองค์ประกอบของรัฐสภาที่ต้องมีสภาล่าง-สภาสูง

คาดว่า ระเบียบวาระประชุมร่วมรัฐสภาวันดังกล่าว ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจมาก เผลอๆ อาจมี ส.ส.มาร่วมประชุมกันไม่มากและอาจมีแต่พวก ส.ส.รัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นช่วงเที่ยงหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชัย ชิดชอบ ก็จะเป็นประธานจัดเลี้ยงอาหารให้กับ ส.ว.-ส.ส.-สื่อมวลชนที่ห้องโถงอาคารัฐสภาเพื่อส่งท้ายรัฐสภาชุดนี้

แต่วันดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพราะหลังยุบสภาแล้ว ก็เป็นแค่รัฐบาลรักษาการ ไม่มีอำนาจบริหารอะไรมาก โดยเฉพาะการจะมาพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องใหญ่ๆ หรือโครงการขนาดใหญ่

ด้วยเหตุนี้จึงน่าจับตาเป็นพิเศษว่า ประชุม ครม.นัดสุดท้าย-ท้ายสุดของ “รัฐบาลมาร์ค” จะมีการทิ้งทวนกันมากน้อยแค่ไหน?

โดยข่าวล่ามาเร็วจากทำเนียบรัฐบาลบอกว่า วาระ ครม.วันอังคารนี้ สงสัยอาจมีทั้งวาระปกติและวาระจรจำนวนมาก แม้นายกรัฐมนตรีจะขอให้กระทรวงต่างๆ ประสานกับเลขาธิการ ครม.ในการกลั่นกรองวาระแล้วให้เอาแต่เรื่องสำคัญๆและต้องสรุปประเด็นมาให้ด้วยเพื่อจะได้ไม่เสียเวลาพิจารณานานเกินไป แต่ก็อาจมีหลายกระทรวงใช้วิธีชงเป็นวาระจรเข้า ครม.เลยในวันที่ 3 พ.ค.54 แม้อภิสิทธิ์จะพยายามห้ามแล้วก็ตาม

โดยที่ต้องจับตาดูก็คือ งบด้านความมั่นคงต่างๆ ที่อาจแปรสภาพไปใช้ในทางการเมืองช่วงเลือกตั้งด้วย รวมถึงงบของพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้รัฐมนตรีแต่ละคนชงเข้าครม.ในรูปแบบนโยบายทั้งเร่งด่วนและผูกพัน อาทิงบของมหาดไทย-คมนาคม ของพรรคภูมิใจไทยที่ข่าวบอกว่ามีหลายวาระรอครม.เห็นชอบส่งท้ายอังคารนี้

ส่วนวันพุธที่ 4 พ.ค.54 ไม่มีอะไรมาก เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้าย ซึ่งวิปรัฐบาลคงขน ส.ส.มาให้เพียบเพราะคงจะเร่งผลักดันกฎหมายต่างๆ ให้ออกมาให้มากที่สุด ไม่อย่างงั้นก็อาจได้เห็นภาพสภาล่มนัดสุดท้ายให้อับอายขายหน้าประชาชี เนื่องจากดูแล้ว ส.ส.ฝ่ายค้าน คงไม่สนใจอะไรแล้ว ช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทยหลายคนแทบไม่มาสภาฯเพราะเอาเวลาไปลงพื้นที่หมด ก็ไม่รู้ว่าประชุมสภานัดสุดท้าย จะมีอะไรเด็ดๆ ทิ้งท้ายแบบครม.ทิ้งทวนกันบ้าง

จากนั้นก็ข้ามมาวันที่ 6 พ.ค.54 กันเลย ได้เวลาประกาศยุบสภา หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจได้เห็นการนั่งแถลงข่าวยุบสภาของอภิสิทธิ์ที่คงมีทีวีถ่ายทอดสดกันเป็นจำนวนมากเพราะไม่บ่อยครั้งที่จะมีการบอกล่วงหน้าวันยุบสภาอย่างนี้

หลังจากนั้นก็จะได้เห็นบรรดานักการเมือง-พรรคการเมือง วิ่งวุ่นกับเรื่องการเลือกตั้ง ทั้งการหาเงินมาใช้จ่ายและเตรียมซื้อเสียง-การเข้าออกและย้ายพรรค-การเปิดตัวผู้สมัคร-การออกนโยบายหาเสียงทั้งหลาย

เป็นการกลับสู่การเมืองสามานย์ ที่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือคำตอบทุกอย่างของประเทศ ทั้งที่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่

ดังนั้นต้องรวมพลัง “โหวตโน” สั่งสอนนักเลือกตั้งกันดีกว่า..เพื่อหยุดวงจร “อัปรีย์ไปจัญไรมา”
กำลังโหลดความคิดเห็น