“ประพันธ์” โต้บทความ “เจิมศักดิ์” ที่ถูกเอาไปเปรียบเทียบกับ “ไอ้ตู่-ไอ้เต้น” ซัดพอได้เวลาทำรายการ ได้สปอนเซอร์จากรัฐบาลก็ไม่กล้าวิจารณ์ ทำราวกับว่า “อภิสิทธิ์” เป็นพ่ออีกคน พร้อมเตือนด้วยความปรารถนาดีหากอยากมีอนาคตที่ดีเลิกรับใช้นายกฯ ได้แล้ว
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ปราศรัยโดย “นายประพันธ์ คูณมี”
วันนี้ (18 เม.ย.) เวลาประมาณ 21.30 น. นายประพันธ์ คูณมี กล่าวบนเวที “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ว่า วันนี้อาจารย์เจิมศักดิ์ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์แนวหน้า ชื่อบทความ “ภาพเหมือนในความต่าง” และอุตส่าห์เอาภาพตนกับนายชัชวาลย์ ไปประกบกับนายณัฐวุฒิ และนายจตุพร เพื่อให้เข้าใจว่าตนกับนายชัชวาลย์ ก็เหมือนกับนายณัฐวุฒิ และนายจตุพร
เขาเขียนว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ รับบทบาทแกนนำปราศรัยบนเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งมีเป้าหมายอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน นายประพันธ์ คูณมี นายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย รับบทแกนนำปราศรัยบนเวทีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในรอบนี้ ก็คงมีเป้าหมายของตนเองอีกอย่างหนึ่ง แต่ด้วย “บทบาท” ของการเป็น “ผู้นำปราศรัยบนเวทีการชุมนุมทางการเมือง” ของท่านเหล่านี้ ทำให้นึกเทียบเคียงถึงกันบางเรื่อง และอดที่จะห่วงใยไม่ได้
นายประพันธ์กล่าวว่า อันนี้อาจารย์พยายามตั้งประเด็นว่า ตนมีเป้าหมายส่วนตน อาจารย์เข้าใจผิดแล้ว ตนไม่มีเป้าหมายส่วนตน ไม่เหมือนอาจารย์ที่เคยมาขึ้นเวทีพันธมิตรฯ เพราะมีเป้าหมายส่วนตน แต่ตนเอาเป้าหมายประเทศชาติเป็นหลักเท่านั้น ถ้าอาจารย์หาได้ว่าตน และนายชัชวาลย์มีประโยชน์ส่วนตนอะไรบ้าง เอามาตีแผ่เลย วรรคต่อมาอาจารย์บอกว่าแต่ด้วยความเป็นผู้นำปราศรัยบนเวที ก็อดที่จะห่วงใยไม่ได้ ห่วงใยจริงหรือกำลังจะเสี้ยม ตนเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ต้องมาห่วงใย
โดยตนขออ่านบทความของอาจารย์เจิมศักดิ์ เป็นข้อๆ
1) วิธีเลือกเป้าหมายในการโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ หรือเลือกคู่ชกบนเวทีปราศรัย นายจตุพรกับนายณัฐวุฒิ เขาพยายามที่จะ “ชกข้ามรุ่น” โดยเลือกเป้าหมายในการวิพากษ์วิจารณ์เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานะสูงกว่า หรือมีทุนทางสังคมดีกว่าตนเอง เช่น บุคคลระดับประธานองคมนตรีขึ้นไป หรือผู้บัญชาการทหารบก หรือนายกรัฐมนตรี ก็เพื่อจะได้ยกระดับตัวเอง และได้แสดงบทบาทว่าตนสามารถด่าคนในระดับสูงกว่าตน หรือตำหนิคนที่สังคมให้การยอมรับนับถือมากกว่าตนได้ ด้วยถ้อยคำแรงๆ เพื่อจะบอกว่า “ข้าแน่”
และถ้าคนอยู่ระดับสูงกว่าลดตัวลงมาตอบโต้ เขาก็ดีใจที่ได้รับเกียรติ ได้รับความสำคัญ และคิดว่าจะถูกตอบโต้อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีอะไรเสียหาย นายประพันธ์ก็ดี หรือนายชัชวาลย์ก็ดี ได้ใช้วิธีการ “ยกตัวเอง” แบบเดียวกันนั้นหรือไม่
นายประพันธ์กล่าวโต้ว่า อาจารย์กำลังพยายามบอกว่าตนมาปราศรัยเพื่อชกข้ามรุ่นข้ามชั้น ความจริงแล้วนายอภิสิทธิ์นั้นต่ำกว่ารองเท้าตนลงไปอีก ไม่ได้สูงอะไรเลย ขอโทษที่ต้องใช้คำนั้น เพราะคนที่ปล่อยให้มีการโกงกิน ทำให้เสียแผ่นดิน ปล่อยนายวีระ น.ส.ราตรี ติดคุกโดยไม่ช่วย นายสนธิโดนยิงโดยจับใครมาลงโทษไม่ได้ เป็นนายกฯ ที่ไม่สนใจปัญหาชาติ ไม่สนใจประชาชน
บอกว่าตนมาปราศรัยโดยยกตัวเองเทียบชั้น ตนไม่ได้เทียบชั้นกับใครเลย นายณัฐวุฒิ และนายจตุพร นั้นด่าก็มีเป้าหมายของเขาตามที่นายทักษิณสั่ง แต่ตอนที่ตนปราศรัยไล่นายทักษิณ ทำไมอาจารย์เจิมศักดิ์ไม่หาว่าตนชกข้ามรุ่น แถมมาเจ๊าะแจ๊ะขึ้นเวทีด้วย ตอนนั้นนายทักษิณก็เป็นนายกฯเหมือนกัน และตอนนี้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ เมื่อไม่ทำหน้าที่ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์
ตรงกันข้ามมีคนตั้งคำถามว่า อาจารย์เจิมศักดิ์เป็นอะไรไป กินยาผิดหรือเปล่า วิจารณ์นายทักษิณอย่างโน้นอย่างนี้ ทุกวันนี้ก็ยังพูดถึง คำถามคือแล้วรัฐบาลนี้ไม่โกงเลยหรือ หูตามืดบอดมองไม่เห็น ตนไม่ได้วิจารณ์คนที่มีผู้คนรักมาก แต่ตนวิจารณ์คนที่ผู้คนเสื่อมศรัทธา อาจารย์ทำโพลล์ก็ได้ บอกอาจารย์ได้เลยคนทั้งประเทศเกลียดรัฐบาลนี้ เกลียดนายอภิสิทธิ์ มากที่สุด รวมทั้งเกลียดอาจารย์ด้วย ที่ผิดไปจากเมื่อก่อน ถ้ารู้ดีรู้ชั่วจริงต้องรู้ว่ารัฐบาลนี้มันชั่วไม่ต่างกับรัฐบาลทักษิณ แล้วนายสุเทพที่อาจารย์ไปเขียนหนังสือให้ เลวน้อยซะที่ไหน ยังไปรับใช้ได้เลย
2) กลวิธีการพูดบนเวทีปราศรัย เมื่อต้องเล่นบทบาทนักพูดบนเวทีไฮปาร์ค หรือแกนนำปราศรัย เป็นธรรมดาที่จะต้องปรุงแต่งลีลาการพูดของตนเองให้มีลีลาน่าติดตาม ไม่งั้นคนฟังก็จะหลับ ไม่ได้รับความสนใจ นายจตุพรกับนายณัฐวุฒิ เขาใช้กลวิธีใส่สีตีไข่ หลายเรื่องพูดโกหกหน้าตาย จริงหนึ่งส่วนเติมสีสันเข้าไปอีกสองส่วน แต่ทำเสียงขึงขัง ดุดัน สีหน้าจริงจัง มั่นใจในคำพูดของตนเอง และหาวิธีพูดให้คนฟังรู้สึกดีที่จะเชื่อในคำพูดของเขา
เมื่อพูดซ้ำๆ พูดคนเดียว ไม่มีคนคอยซักคอยขัด และพูดบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก นานไปก็ชักจะเริ่มเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองพูดตีไข่ใส่สีลงไปนั้น ทั้งหมดคือความจริง หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พักหลังๆ ผมเป็นห่วงที่แกนนำปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ชักจะใช้วิธีแบบนี้มากขึ้น เฉพาะที่ผมทราบ และบอกได้เลยว่าเป็นความเท็จอย่างไร้ความรับผิดชอบ ก็คือที่บางคนพูดจาปราศรัยอย่างสนุกปากว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทว็อชด็อก จำกัด นี่คือตัวอย่างของความเท็จอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น
นายประพันธ์กล่าวว่า อาจารย์ช่วยบอกหน่อยสิว่า ใครบอกว่านายอภิสิทธิ์ถือหุ้นบริษัท ว็อตช์ด็อก อย่าเหมารวม ตนและนายชัชวาลย์ไม่เคยพูดเลย แล้วหาว่ากลวิธีพูดบนเวทีต้องใส่สีตีไข่ ถ้าแน่จริงช่วยบอกหน่อยเรื่องใดบ้างที่นายประพันธ์พูดเท็จ ถ้ามีคนระดับด็อกเตอร์อย่างอาจารย์จะปล่อยไว้หรือ พูดออกมาเลยว่าเรื่องอะไรบ้าง มีแต่นายอภิสิทธิ์นั่นแหละที่แหลประชาชนมาตลอด
3) นักปราศรัยที่ใช้วิธีใส่สีตีไข่ ปากเก่ง ใส่ร้ายโจมตีคนอื่นเขาไปทั่ว คนพวกนี้ ลึกๆ ก็รู้ว่าเป็นการสร้างศัตรู ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยใจเป็นธรรม เพราะคนแบบหลังนั้น แม้จะทำให้คนอื่นไม่พอใจเหมือนกัน แต่คนที่ถูกวิจารณ์เขาก็ยังพอจะมีความนับถือในด้านคุณธรรมเหลือให้อยู่บ้าง
ผู้เล่นบทบาทนักปราศรัยแบบตีไข่ใส่ร้าย จึงมักแสดงออกด้วยการมีบอดี้การ์ด ล้อมหน้าล้อมหลัง ไปไหนมาไหนก็ลำบาก ต้องไปในพื้นที่เฉพาะ ไม่ได้รับรู้รับฟังความเห็นที่หลากหลาย พูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าคนมีบอดี้การ์ดทุกคนจะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด (บางคนอาจมีบอดี้การ์ดเพราะเหตุผลอื่น)
นายประพันธ์ กล่าวโต้กลับว่า ตนยอมรับความจริงถ้าปราศรัยให้ร้ายผู้อื่นเป็นการสร้างศัตรูแน่นอน แต่สำหรับตนไม่มีเรื่องใส่สีคนอื่น และคนพูดจริงก็เกิดศัตรูได้ เพราะไปเปิดโปงความชั่วของนักโกงบ้านกินเมือง ไม่ทำตัวเป็นผู้ดีปากหวานอย่างอาจารย์ แน่นอนคนที่โกงบ้านกินเมืองตอนนี้รักอาจารย์หมด เพราะอาจารย์วิจารณ์แต่พองาม อาจารย์บอกว่าวิจารณ์แต่พองามคนอื่นจะยังมองเห็นแง่ดี เพราะอย่างนี้สิอาจารย์ถึงยังอยู่ได้กับนายสุเทพ อยู่ได้กับนักการเมืองชั่ว เพราะวิจารณ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้าบ้านเมืองมีคนอย่างอาจารย์เยอะๆ คนโกงคงเต็มบ้านเมืองหมด
4) นักปราศรัยที่ขึ้นเวทีชุมนุมบ่อยๆ พูดปราศรัยอยู่เป็นประจำ ก็จะสั่งสมความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการได้พูดให้คนอื่นฟังอยู่คนเดียว มีคนปรบมือเป็นกำลังใจ รวมถึงการพูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ก็จะทำให้ตนเองมีอีโก้ หรืออัตตาในตัวเองพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
ตอนที่ผมขึ้นเวทีปราศรัยบ่อยๆ ก็เคยมีกัลยาณมิตรคอยเตือน และก็ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ ยิ่งถ้าใครเกิดความหลง เสพติดการได้ เป็นบุคคลสำคัญ หากเลือกที่จะอยู่เฉพาะในสังคมที่มีแต่คนเข้ามาชื่นชมตัวเอง เช่น เวทีการชุมนุม หรือในสังคมที่รู้อยู่แล้วว่าจะมีแต่คนที่ชื่นชอบเรา จะเดินไปไหนก็จะมีคนขอลายเซ็น ขอถ่ายรูป ขอกอด ขอหอมแก้ม เป็นต้น การอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ก็เท่ากับปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก เลือกที่จะพองตัวเป็นคางคกอยู่ใต้กะลาครอบ
เสี่ยงที่จะหลงคิดไปว่า ตนเองคือศูนย์กลางของจักรวาล หลงผิดว่า ความคิดอ่านของฉันเท่านั้นที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด เพราะทุกคนที่รายล้อมอยู่ล้วนเทิดทูนตัวฉัน ใครคิดต่างจากฉันล้วนเป็นศัตรูที่จะต้องเกลียดชังกันอย่างที่สุด
นายประพันธ์กล่าวว่า ถ้าเอาตรรกะนี้มาพูด คนที่เป็นก่อนน่าจะเป็นอาจารย์ และนายอภิสิทธิ์ เพราะพูดมากกว่าพวกตน ไม่น่าถึงเป็นอึ่งอ่างพองตัวทั้ง 2 คน เลยไม่เห็นหัวประชาชน อาจารย์บอกว่าใครเห็นต่างก็ผิดหมด เป็นศูนย์กลางจักรวาล ตนเกรงว่านายอภิสิทธิ์ และอาจารย์ ต่างหากที่เป็นอย่างนั้น ถึงหูหนวกตาบอดไม่ฟังประชาชนเลย อย่างเรื่องเขมรอาจารย์เห็นต่างกับตนอย่างไรทำไมไม่แสดงจุดยืน รัฐบาลโกงอย่างไรก็ไม่กล้าพูด
ต้องบอกว่าอาจารย์งมงาย เห็นนายอภิสิทธิ์เป็นพ่ออีกคนแล้ว พันธมิตรฯไม่ได้เหมารวมหมดว่าใครคิดต่างเป็นคนเลว แต่ถ้าสมคบคิดขายชาติ โกงกิน ก็สมควรประณามว่าเลว ถ้าอยากรู้ว่าคิดต่างเรื่องอะไร และตนประณามเรื่องอะไร เขียนออกมาเป็นเรื่องๆ อย่าเหมารวม ประชาชนจะได้ตัดสินได้ว่าเรื่องนั้นสมควรถูกประณามว่าเลวหรือเปล่า
5) ด้วยความปรารถนาดี ผมอยากจะบอกว่า ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมานี้ ขั้วอำนาจในสังคมไทยได้มีการใช้นักปราศรัยเล่นบทบาทหัวหมู่ทะลวงฟัน เหมือนตัวละครที่เล่นบททหารเลว หรือเป็นลูกหาบที่ทำหน้าที่ตามนายสั่ง เหมือนที่ณัฐวุฒิกับจตุพร ถูกทักษิณใช้ แต่นายประพันธ์กับนายชัชวาลย์ จะถูกใครใช้หรือเปล่า ก็ต้องพิจารณาดู
สุดท้าย... บทบาทที่แตกต่าง หรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้ เป็นความปรารถนาดี เตือนด้วยความจริงใจ เพราะไม่ต้องการเห็นหรือสร้างความเกลียดชังในสังคม
นายประพันธ์กล่าวแย้งว่า ถ้าอาจารย์จริงใจจริงมาถามตนได้ อาจารย์ก็รู้จักตนว่าใครจะมาใช้ทำงานได้ ตนไม่เคยรับเงินใครมาประท้วง ไม่ใช่คนแบบอาจารย์ที่รับสปอนเซอร์จากใครแล้วก็ทำงานให้คนนั้น หรือนายอภิสิทธิ์ให้เวลาทำรายการก็ไม่แตะเลย กลายเป็นรัฐบาลเทวดาไปแล้ว นายของตนคือพี่น้องประชาชนเท่านั้น ที่เอามาอ้างว่าใครสั่งให้ตนมาปราศรัยเลิกพูดแบบนี้เลย เพราะไม่ใช่การปรารถนาดี อย่ามาใช้สำนวนโวหารแบบนายแหล
สุดท้ายท่านยกบทกลอนของ “พ.กิ่งโพธิ์” หรือ “ท่านจันทร์” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เรื่อง “อย่าสร้างความเกลียดชัง” ความว่า
“มีผู้ถามทะไลลามะแห่งทิเบต
ถูกจีนยึดประเทศ-โกรธไหม?
“โกรธแต่ไม่เกลียด” ตรัสไว้
ฝากคนไทยมีสำนึกพิจารณา
อย่าเกลียดสีเหลืองสีแดงแรงจัด
อย่าเกลียดประชาธิปัตย์เลยหนา
เพียงแค่โกรธก็เป็นทุกข์มิสุขอุรา
คุณเกลียดใครก็เข่นฆ่าตัวคุณเอง”
นายประพันธ์กล่าวโต้กลับว่า อยากจะบอกอาจารย์ว่ายกบทกลอนมาผิดที่ผิดทาง ผิดบริบทสังคมไทย มีคนถามทาไลลามะว่าโกรธหรือไม่ ถูกจีนยึดประเทศ ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีน แล้วจีนไม่ยอมให้แบ่งแยก มันเป็นเรื่องของประเทศเขา จะไปหาว่ายึดประเทศได้อย่างไร ท่านจันทร์ไม่รู้เรื่องเลย ทิเบตไม่ใช่ดินแดนเอกราช นี่จะมาให้เราบอกว่าที่กัมพูชามายึดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จะไม่ให้โกรธไม่เกลียด เลอะเทอะ มันคนละข้อเท็จจริง
ต้องการให้โกรธแต่ไม่เกลียดแล้วอยู่เฉยๆ หรือ นี่คือแนวคิดที่ผิด อย่าไปเอาแบบอย่าง แผ่นดินเป็นของไทยทุกตารางนิ้ว แล้วตีกินอีกตอนแรกบอกอย่าเกลียดสีเหลือง สีแดง แถมพ่วงอย่าเกลียดประชาธิปัตย์ คุณไม่เกลียดก็เรื่องของคุณเพราะคุณจำนน ใครโกงใครกิน ทำงานไม่ดีอย่างไรก็จำนน ทัศนคติอย่างนี้เป็นอันตรายต่อสังคมไทย เราควรโกรธคนทีควรโกรธ เกลียดคนที่ควรเกลียด ใช้บทกลอนผิดที่แล้ว
“อาจารย์บอกเขียนด้วยความรักด้วยความปรารถนาดี ผมก็ตอบกลับอาจารย์ด้วยความรัก ความปรารถนาดีเช่นกันว่า ถ้าอยากมีอนาคตที่ดีก็เลิกรับใช้นายอภิสิทธิ์ได้แล้ว” นายประพันธ์ กล่าวปิดท้าย