xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตไม่ใช่เส้นตรง...วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
วันนี้ต้องขอดึงตัวหนุ่มคิดเยอะ สิงห์ - วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล มานั่งพูดคุยกับทางทีมงาน M-light หลังจากที่เปิดตัวเองจากการเป็นนักพัฒนาสังคม จนมาถึงตอนนี้เขายังคงทำสิ่งที่เคยมุ่งหวังเพื่อสังคมแต่เป็นอีกบทบาทหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด การผลิตและสื่อผลงานที่สะท้อนความคิดให้กับผู้คนยังอยู่ในความเป็นสิงห์ กับรายการ “พื้นที่ชีวิต” ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่จะสามารถต่อยอดแนวคิดดีๆเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่สังคม

ไม่ว่าเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปเท่าใด สิงห์ยังแสดงจุดยืนในด้านความคิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งที่อยู่ในหัวเขาดูแตกต่างจากคนในวัยเดียวกัน แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอก สไตล์การแต่งตัว เสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์จะดูไม่ต่างจากวัยรุ่นธรรมดาๆคนหนึ่ง แต่ความคิดที่ตกผลึก...กว่าจะมาเป็นสิงห์ในวันนี้ คงไม่ธรรมดาแน่ๆ
 

บทบาทนักพัฒนาสังคม
จะเห็นว่าตั้งแต่เรียน สิงห์ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมมาตลอด หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยใน 2 ปีแรก ก็ได้ทำงานที่องค์กรพัฒนาสังคม ถึงแม้ว่าตอนนี้ออกมาทำงานสื่อเต็มตัว แต่เขาบอกว่าเดี๋ยวถ้ามีโอกาสก็จะเรียนต่อด้านนี้ จะกลับไปทำตอนแก่ๆกว่านี้ ตอนนั้นที่ทำจริงๆแล้วมันเป็นสิ่งที่เราสนใจมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าสังคมเปลี่ยนแปลงยังไง เรามีส่วนผลักดันให้ไปทิศทางไหนได้บ้างในฐานะปัจเจกบุคคล เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย ตอนเด็กๆเราวัยรุ่น เราก็คิดว่าไม่จริง เราต้องเปลี่ยนโลกได้ มันต้องทำอะไรได้สักอย่าง

เริ่มตั้งแต่เป็นวัยรุ่นอายุ 17 ปี เรามีอีโก้สูง เราเชื่อว่าตัวเองเปลี่ยนโลกได้ ก็เริ่มอยากรู้วิธี โดยการทำงานอาสาสมัคร ลงพื้นที่เรื่อยมา เปลี่ยนแปลงวิธีทำสื่อเพื่อสังคมบ้าง ทำเกี่ยวกับงานพัฒนาชนบทบ้าง ตอนเรียนจบก็ลองไปทำงานเรื่องพลังงานทางเลือก ก็ลองมาหลายแบบแล้ว ก็เจอทั้งวิธีที่ได้ผลและไม่ได้ผล แต่ว่าหลักๆทั้งหมดที่ทำไปก็เพราะอยากทำ ไม่ได้คิดว่ามันเป็นความดีหรืออยากเป็นคนดีอะไร ก็คือเห็นปัญหาสังคมและคิดว่าตัวเองน่าจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงได้ ทำมา 2 ปี ตอนนี้เชื่อน้อยลงว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงได้จริงรึเปล่า มันก็ทำได้ยาก แต่ก็ยังเห็นลู่ทางอยู่ แต่เพียงแค่ไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนอะไรได้เท่าที่ตอนเด็กๆคิดแล้ว

แต่สิ่งที่ได้ในตอนนั้นคือเราได้เรียนรู้วิธีการ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆว่าอันไหนเวิร์ก อันไหนไม่เวิร์ก และก็ได้เรียนรู้มุมมองต่างๆ ในตอนเด็กเราเป็นคนมีอุดมคติ มีอุดมการณ์ อยากให้โลกเป็นอย่างนี้ อยากให้โลกเป็นอย่างนั้น แต่ว่าพอโตขึ้นมาเรื่อยๆ ยิ่งเห็นความเป็นจริงมากขึ้นจึงเลิกที่จะยึดอุดมคติ หันมามองวิธีการมากขึ้น มากกว่าเรื่องของอุดมการณ์ และเน้นเรื่องของแนวคิดปรัชญา ทำให้เห็นอะไรเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น

สิ่งที่อยากเปลี่ยนนั้น เริ่มแรกที่คิดคือเรื่องความไม่เป็นธรรมหลายๆอย่างในสังคม ทำไมคนถึงจนกันอยู่ ทำไมเมืองพัฒนาอย่างนี้ ทำไมชนบทพัฒนาอย่างนี้ แต่พอเราโตมายิ่งมองเห็นโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เดินทางมากขึ้น ก็ได้เข้าใจว่าบางอย่างมันไม่ต้องเป็นเรื่องการพัฒนาทางวัตถุหรือทางรายได้อย่างเดียว แน่นอนตรงนั้นเป็นจุดจำเป็นที่จะทำให้คนมีอะไรกิน แต่ว่าตรงส่วนที่ขาดไปจากสังคมเมืองที่สังคมชนบทมี มันก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน ทำให้ได้เข้าใจอะไรหลายๆแง่มากขึ้น ตอนนั้นที่เห็นเราแค่ต้องการให้สังคมไทยดีขึ้น เพียงแต่ว่าตอนนี้ที่หยุดเบรกไว้ก่อนเพราะยังไม่ค่อยเคลียร์กับคำว่าดี ว่ามันคืออะไร ต้องเดินทางเพื่อให้เข้าใจอะไรมากกว่านี้อีกหน่อย”
 

วิถีแบบ...สิงห์
ทุกวันนี้ สิงห์ได้ทำงานหลายอย่างที่ชอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดีมากสำหรับคนๆหนึ่งที่ได้ทำงานในสิ่งที่ตนชอบและรัก ผู้ชายมากความสามารถอย่างเขาเป็นทั้งพิธีกร นักเขียน นักดนตรี วีเจรายการเพลง นักแสดง นายแบบโฆษณา และนักพัฒนาสังคม ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าคนหนึ่งจะทำอะไรได้มากมายขนาดนี้ แต่สำหรับเขาแล้วคงมีส่วนน้อยที่ทำไม่ได้

“ผมได้ทำงานหลายอย่างที่ชอบ รู้สึกโชคดีมาก เรื่องดวงหรือเรื่องอะไรที่มันมากกว่าตัวเราเองซึ่งเราไม่อยากไปบ่งชี้ว่ามันคืออะไร เอาเป็นว่ามันมีอะไรที่อยู่นอกเหนือจากการกระทำและความสามารถของเรา มีอยู่เยอะให้ไปสักประมาณ 50-60% เกิดมากับใครก็มีส่วนเยอะแล้ว แต่แน่นอนส่วนที่เป็นการกระทำของเราเองก็อีก 50% สิ่งหนึ่งที่ผมน่าจะพอทำได้ก็คือการจับประเด็นหลายๆอย่างที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศตามสถานที่ต่างๆ ตามสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ผมเป็นคนที่จับเรื่องราวเหล่านี้มาย่อยเป็นก้อนและก็พูดออกไปได้อย่างเข้าใจไม่ยากนัก หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น ก็เลยมีงานทำจนถึงทุกวันนี้

จริงๆก็ไม่ได้เป็นคนมีความสามารถพิเศษทางใดทางหนึ่ง จะถนัดการหยิบเรื่องราวมาเล่าให้คนอื่นฟังในแบบที่แปลกออกไปแค่นี้เอง ส่วนหนึ่งในการเขียนหนังสือก็มาจากชีวิตประจำวัน การเลี้ยงหมา การอยู่กับยาย เจอพ่อ เจอแม่ก็เอามาเขียนเหมือนไดอารี่ แต่เป็นไดอารี่ที่พยายามนำมาตกเป็นก้อนแล้วเล่าออกมาในทางที่น่าสนใจ พอชีวิตเราได้ทำหลายอย่างมันก็เลยมีเรื่องเล่าที่เยอะเหมือนกัน และถ้าวันไหนชีวิตหยุดอยู่กับที่ไม่ได้เดินทาง ก็คงมีแรงบันดาลใจในด้านอื่นจากการที่นั่งอยู่ในห้องคนเดียวมากกว่า แต่ตอนนี้มันมีแรงบันดาลใจจากด้านนอกเข้ามาเยอะเหมือนกัน

ตอนนี้ผมเหมือนเป็นกะลาสีเรือ บางครั้งออกไปอาทิตย์หนึ่งอยู่กรุงเทพ 2 วัน 3 วัน ออกไปอีกแล้ว ทำให้ตอนนี้ถ้ามีวันหยุด ผมจะไม่เที่ยว จะอยู่บ้าน เพราะชีวิตการทำงานนี้มันเหมือนการเที่ยวตลอด ไปฟรีแล้วได้ตังค์ด้วยอันนี้มันก็เป็นโชคอย่างหนึ่ง แต่เราก็ต้องเหนื่อยหน่อย ในระหว่างการถ่ายทำเราต้องคิดว่ามันมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจในการเดินทางนั้นๆ หลักๆที่เราคิด ที่เป็นแก่นของที่ที่เราไปมันคืออะไร อันนี้เราต้องหาให้ได้

อย่างที่เราไปที่ทิเบต ในรายการพื้นที่ชีวิต ได้คุยกันเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธ นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก มีอะไรหลายอย่างที่เราคิดว่าไม่มีอยู่แต่ว่ามันก็มีแนวคิดเช่นนี้อยู่ อย่างเช่นปกติเราเห็นว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกนี้เป็นด้านที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วในสังคมปัจจุบัน ถ้าเราทำได้ 100% แต่คนทิเบตมาถึงบอกว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นมีระบบพรรคการเมืองซึ่งนำไปสู่การแข่งขัน ไม่ใช่สังคมที่ดีที่สุดอย่างแท้จริง เพราะการแข่งขันเท่ากับว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังกดประชาชนส่วนน้อยอยู่เสมอ ฉะนั้นระบบประชาธิปไตยแบบพุทธจึงไม่มีพรรคการเมือง และก็มีการตกผลึกความเห็นที่เห็นพ้องต้องกันทั้งสังคม มีพระเป็นนายก คือศาสนาไม่แบ่งแยกออกจากการเมืองด้วยพื้นฐานของสังคม และก็พยายามเอาความคิดทางพุทธมาใช้ในการปกครองตลอดเวลา และรากฐานเชิงพุทธนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นกับการเมืองอย่างเดียว เป็นรากฐานในจิตใจของคนมากกว่าที่ผลักดันให้การเมืองไปในรูปแบบนี้

อย่างท่านทะไลลามะเป็นประมุขก็เป็นพระด้วย ทำให้คนทิเบตมีแนวคิดเชิงพุทธที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ปกติเราจะแยกว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธนะ แต่ว่าด้านอื่นเป็นแบบตะวันตก มีเทคโนโลยีอะไรก็ตาม แต่ที่นี่เขาไม่ได้แยกออกจากกัน เขารวมพุทธเข้าไปในทุกอย่างเลย”
 

ปลุกความคิดกับ “พื้นที่ชีวิต”
รายการพื้นที่ชีวิต ของทีวีไทย สิงห์ได้สวมบทบาทการเป็นพิธีกรมากความคิด ในแต่ละเรื่องจึงดำเนินไปตามความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ และความเข้าใจของเขาเองที่เกิดขึ้น ณ ตรงนั้นจริงๆ และต้องบอกว่าแฟนรายการนี้เยอะมาก เพราะขณะที่ทีมงานได้สัมภาษณ์สิงห์ ได้มีคนที่ติดตามรายการนี้อยู่เข้ามาพูดชื่นชมในตัวเขา และขอจับมือเพื่อให้เกียรติ อย่างนี้ต้องบอกว่าเขาฮอตจริงๆ
 

“ตอนแรกที่ทำก็ไม่คิดว่าแฟนรายการจะเยอะ อย่างตอนเด็กวัดชื่อ สิงห์ นี้ ทำให้เราได้เข้าใจพุทธบ้านเรามากขึ้น แต่ก่อนผมก็เป็นคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีศาสนาอะไร แต่พอเดินทางไปรอบๆประเทศไทย รอบๆโลกแล้ว ก็ทำให้ได้เข้าใจศาสนาตัวเองมากขึ้น และก็ได้รู้ว่าจริงๆเราไม่ใช่คนไม่มีศาสนาเพียงแค่ไม่ได้อยากจะจำกัดอยู่ในกรอบของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง พุทธก็มีหลายแง่ที่เราเห็นด้วย เพียงแค่แง่พิธีกรรมต่างๆที่มันเพิ่มขึ้นมาตามกาลเวลานอกเหนือจากแก่นคำสอนก็ไม่ขอรับไว้ อย่างเช่นการสวดมนต์ เข้าวัด ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องของประเพณี แต่ส่วนของผมจะเอาแง่แก่นคำสอนมาคิด มาปรับใช้ในเรื่องที่เจออยู่ทุกวัน แต่เรื่องของประเพณีนั้นเป็นเรื่องของบุคคลว่าเติบโตมาอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราโดนสอนมาแบบไหน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่แนวคิดที่เป็นตรงกลางสามารถจูนเข้าหากันได้

ผมไปทิเบตมา ได้คุยกับท่านทะไลลามะ ท่านบอกว่า ศาสนาพุทธนี้ จริงๆแล้วต้องแบ่ง 2 อย่าง มีปรัชญาพุทธอยู่ด้านหนึ่ง และมีศาสนาพุทธอยู่อีกด้านหนึ่ง ศาสนาพุทธขึ้นอยู่กับว่าพื้นเพเดิมของคนเป็นอย่างไร แต่ท่านบอกว่าส่วนที่เป็นปรัชญาพุทธและศาสตร์พุทธเป็นเรื่องสากล ไม่ว่าคนศาสนาไหนก็เรียนรู้ได้และก็เข้าใจได้ ตราบใดที่มีศาสนาของตัวเองอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นพุทธก็ได้ แต่เอาแนวคิดแบบพุทธไปใช้ได้เพราะมันเป็นเรื่องสากล ผมเองโดยเริ่มต้นเป็นคนที่ไม่มีศาสนาเพราะว่าไม่ได้อยู่ในระบบวัฒนธรรมประเพณีที่เลี้ยงดูมาให้มีศาสนาในการเติบโตเท่าไหร่ แต่ผมสามารถนำแนวคิดพุทธนี้มาใช้ในการคิดแบบประจำวันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าวัดเข้าวา ไหว้พระสวดมนต์หรือว่ามีพระอยู่ในบ้านก็ได้ เพราะอันนั้นเป็นเรื่องของประเพณีมากกว่า

ท่านยังบอกอีกว่าคนที่เชื่อพุทธในเชิงพิธีกรรม ผีสางที่เหนือธรรมชาตินั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่ว่าหลักๆพยายามให้สังคมทิเบตมีแก่นของพุทธอยู่ในใจของทุกคน เพียงแค่พิธีกรรมต่างๆมันก็เพิ่มขึ้นมาตามกาลเวลา อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของทุกสังคม และใครจะเข้าได้ถึงตรงไหนไม่ใช่ความผิดของตัวแนวคิดหรือศาสนาแล้ว เป็นเรื่องของความสามารถและความลึกของความคิดแต่ละบุคคลมากกว่า”
 

คนดีในความหมายของสิงห์
ต้องบอกก่อนเลยว่าสิงห์เป็นคนคิดเยอะมากในทุกคำ ทุกตัวอักษร เขาสามารถตีความหมายออกมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และแยกแยะได้อย่างละเอียด “ผมเชื่อว่าความดีหรือศีลธรรมต่างๆอะไรก็ตาม มีไว้เป็นไฟส่องทาง เป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ว่าไม่ได้มีไว้กำหนดชีวิตผู้อื่น พอเราพยายามตีความคำว่า “ความดี” ให้เป็นสากล กำหนดเป็นข้อๆ จะนำไปสู่การควบคุมพฤติกรรมผู้อื่นเสมอ เพราะจะรู้สึกว่าผู้อื่นกำลังประพฤติไม่ดีอยู่ อันนี้ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะเอาศีลธรรมของส่วนตัวมาใช้ในการกำหนดว่าศีลธรรมของสังคมจะเป็นอย่างไร”

“คำว่า “คนดี” นั้นไม่ควรตีความ เพราะว่าการตีความคนดีจะนำไปสู่การตีความคนไม่ดี และพอตีความคนไม่ดีเสร็จปุ๊บก็จะมีปัญหาเหมือนที่เห็นกันในหลายๆประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว การมีมาตรฐานการวัดความเป็นมนุษย์ใดๆสักอย่างจะนำไปสู่ปัญหาเสมอ ถ้าคุณเชื่อว่าคุณเป็นคนดีก็ดีไป และถ้าสมมติว่ามีความดีของตัวเองที่กำหนดไปแล้วทำได้ทุกข้อนี้ก็ยินดีด้วย แล้วถ้ามีความดีของตัวเองแล้วทำไม่ได้ทุกข้อ ก็ควรปรับปรุงที่ตัวเองไม่ควรปรับปรุงผู้อื่น เพราะว่าผู้อื่นเป็นสิ่งที่เราพยายามเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ว่าท้ายสุดแล้วเปลี่ยนแปลงได้คนหนึ่งแล้วมีอีกล้านกว่าคนที่เปลี่ยนไม่ได้ ก็อย่าไปยุ่งกับเขาเลยดีกว่า

ผมมีคนที่ชื่นชมครับ แต่ถ้าชื่นชมในทุกด้านนี่ไม่ใช่ เพราะว่าเรายังให้โอกาสทุกคนเป็นคนอยู่ ในแง่ที่ว่าเราไม่ถือว่าใครไร้ข้อเสีย หรือใครต้องบูชาไว้เหนือหัว เพราะรู้สึกว่าเรารู้จักคนที่อยู่ระดับสูงในสังคมในเมืองไทยอยู่เยอะ ทุกคนมีด้านที่น่าชื่นชมและทุกคนก็มีด้านที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน การยกใครให้เป็นไอดอลนั้นแสดงว่าเขาเกินมนุษย์ไปแล้ว แล้วผมจะเสียใจแทนเขาเพราะว่าเขาจะไม่มีโอกาสทำผิดพลาดในฐานะคนหนึ่งได้เลย เราก็จะเห็นในสังคมไทยบ่อยๆ ที่คนมีหน้ามีตาในสังคมผิดพลาดในแบบที่คนทั่วไปเขาก็ผิดกัน แต่เขาโดนว่าอย่างเสียหายเลย อันนี้ผมไม่เห็นด้วยเพราะเราควรให้โอกาสทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน

คนที่ชื่นชมก็มีท่านทะไลลามะที่พูดไป สมแล้วที่ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเยอะมาก ไม่ใช่แค่ชาวทิเบตอย่างเดียว ผมเคารพท่านในด้านแนวคิด ตอนที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับท่าน พอไปถึงท่านยิ้ม หัวเราะ ทำให้คนทั้งห้องอารมณ์ดีพร้อมกันไปได้ซึ่งมันไม่ใช่ความสามารถที่ทำกันได้ทุกคน เพราะว่าหลายๆคนอายที่จะยิ้ม อายที่จะหัวเราะออกมาดังๆ บางอย่างไม่ขำเลยท่านก็หัวเราะ ทำให้บางคนหัวเราะ นี่ผมยังส่งความอารมณ์ดีมาถึงคุณได้เลย (หัวเราะพร้อมกัน)

ผมว่าโลกนี้มันน่าสนใจเกินกว่าจะเข้าใจอะไรแค่อย่างเดียว แต่ข้อเสียก็คือว่า เราเป็นคนที่ไม่เก่งอะไรไปสักทาง ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรเลยสักด้าน ตั้งแต่เรียนมาก็จะได้ที่ 3 หรือที่ 4 เสมอ ไม่เคยได้ที่ 1 เพราะว่าเราสนใจหลายอย่างมาก ผมว่าผมเป็นคนสติแตกที่สนใจอะไรเยอะมาก เป็นพวกสนใจอย่างเดียวไม่พอ เมื่ออ่านหนังสือถึงขั้นหนึ่งแล้วอยากทำด้วย ก็เป็นคนขี้สงสัยว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไม มีกลไกอย่างไร ทำงานอย่างไร แต่ว่าเป็นคนขี้เบื่อด้วยพร้อมๆกัน คือทำอะไรนานมากไม่ได้ อีกอย่างเราโชคดีเพราะในแต่ละทางที่ผมไปเกี่ยวข้องด้วยก็มีผู้ที่สุดยอดในทางนั้นๆ แต่ผมได้ไปเกี่ยวข้องในหลายทาง ผมก็รู้สึกว่าชีวิตผมมันไม่ใช่เส้นตรง มันเป็นวงกลมมากกว่าที่ขยายออกไปเรื่อยๆ คิดว่าตัวเองโชคดีแล้วที่ได้ทำทุกอย่าง”
 
 
 
 
 
 

 

 
ข่าวโดย M-lite / ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี





กำลังโหลดความคิดเห็น