เอเอฟพี - ชาวทิเบตพลัดถิ่นทั่วทุกมุมโลกมีกำหนดลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้นำทางการเมืองคนใหม่ วันนี้ (20) เพื่อเฟ้นหาแกนนำในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลจีน ภาระที่องค์ทะไลลามะทรงรับผิดชอบมาหลายทศวรรษ
องค์ทะไลลามะทรงประกาศเมื่อ 10 วันก่อนหน้านี้ว่า พระองค์ปรารถนาที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำคนใหม่ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ผู้ที่จะรับภารกิจสู้รบตบมือกับจีนต่อไป อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น องค์ทะไลลามะทรงยืนกรานว่ายังดำรงตำแหน่งผู้นำทางจิตวิญญาณต่อไป โดยวันนี้ชาวทิเบตพลัดถิ่นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 85,000 คน จะลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี หรือ Kalon Tripa ในภาษาทิเบต
ทั้งนี้ ตัวเต็งที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ลอปซัง ซันเกย์ (Lobsang Sangay) ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ วัย 43 ปี ซันเกย์ลืมตาดูโลกในไร่ชา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และไม่เคยได้เหยียบผืนแผ่นดินแม่ในทิเบตแม้แต่ครั้งเดียว
“การเลือกตั้งสำคัญเสมอ แต่ครั้งนี้จะมีการถ่ายโอนอำนาจในคราเดียวกันด้วย” ซัมธง รินโปเช (Samdhong Rinpoche) นายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคนปัจจุบัน กล่าวกับเอเอฟพี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ผู้รับหน้าที่คนใหม่จะมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น”
แม้รัฐบาลทิเบตยังหวังว่าจะสามารถระงับการเปลี่ยนแปลงนี้ ทว่า องค์ทะไลลามะทรงตั้งปณิธานแน่วแน่แล้วว่าการเรียกร้องเอกราชจากจีนต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ปัจจุบัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1989 ท่านนี้ทรงดำรงตำแหน่งทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณ และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาหลังการลี้ภัยของชาวทิเบตเมื่อปี 1959 ท่ามกลางการก่อกบฏต่อต้านการปกครองของรัฐบาลจีน
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งวันนี้ ลอปซัง ซันเกย์ มีแนวโน้มเป็นต่อคู่แข่งอีก 2 คนอย่างชัดเจน โดยการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว เขาคว้าชัยชนะ ด้วยคะแนนเสียงเกือบถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซันเกย์ กล่าวกับเอเอฟพี เมื่อวันศุกร์ (11) ที่แล้ว ว่า “ชาวทิเบตเห็นว่า ผมมีรากฐานมาจากจารีตประเพณีอันดีงาม แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดสมัยใหม่”
ทั้งนี้ คาดว่าผลการเลือกตั้งจะประกาศออกมาในช่วงปลายเดือนเมษายน หลังเสร็จสิ้นการนับคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งใน 13 ประเทศ ซึ่งมีชาวทิเบตพลัดถิ่นอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือแม้แต่องค์ทะไลลามะเอง ก็ยากที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากชาติตะวันตก เพื่อผลักดันให้ทิเบตได้รับเอกราช ณ ตอนนี้ รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตยังไม่ได้รับการยอมรับจากหลายๆ ชาติ อาทิ สหรัฐฯ ซึ่งไม่ต้องการบาดหมางกับทางการจีน
อนึ่ง การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีทิเบตในเนปาล ซึ่งมีชาวทิเบตพลัดถิ่นอาศัยอยู่ราว 20,000 คน ประสบกับความยากลำบาก เนื่องจากแรงกดดันจากทางการจีน ส่งผลให้รัฐบาลกาฐมาณฑุอาจยับยั้งการเลือกตั้ง ซึ่งถูกปรามาสว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย