xs
xsm
sm
md
lg

องค์ทะไลลามะ ลงนามสละอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพเมื่อวันที่ 18 ก.พ. องค์ทะไลลามะ กำลังกล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยมุมไบ ประเทศอินเดีย ทั้งนี้ โฆษกประจำตัวองค์ทะไลลามะ เผยว่า  องค์ทะไลลามะ ลงนามสละอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการ(30 พ.ค.)
เอเอฟพี - โฆษกประจำตัวองค์ทะไลลามะ เผยว่า องค์ทะไลลามะ ได้ลงนามสละอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่จะยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของชาวทิเบต

เทมปา เซอริง(Tempa Tsering) โฆษกประจำตัวองค์ทะไลลามะ กล่าวกับเอเอฟพี(30 พ.ค.) ว่า “ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา(28-29พ.ค.) องค์ทะไลลามะ ได้ลงนามแก้ไขธรรมนูญการปกครองของทิเบตพลัดถิ่น เพื่อสละบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการ”

“มันเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ท่านจะยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและทางศาสนา อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของชาวทิเบต ขณะที่ ท่านได้ถ่ายโอนบทบาททางการเมืองให้กับผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคนใหม่แล้ว”

เซอริง กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ ท่านจะอุทิศเวลาที่เหลือทำงานด้านการสนับสนุนคุณค่าของมนุษย์ พร้อมทั้ง ทำงานด้านการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา”

เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา องค์ทะไลลามะ วัย 75 ปี ได้ปรารภถึงการลาออกจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต พร้อมกับจะส่งต่ออำนาจให้กับผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตที่มาจากการเลือกตั้งคนใหม่

นายลอบซัง ซังเก (Lobsang Sangay) วัย 43 ปี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต พร้อมกับรับภาระหน้าที่ทางการเมืองขององค์ทะไลลามะ

นายซังเก ได้กล่าวสนับสนุนนโยบายหลักทางสายกลางขององค์ทะไล ลามะ ที่แสวงหา “การปกครองตัวเองที่มีความหมายมากขึ้น” สำหรับชาวทิเบตในจีน มากกว่าการประกาศอิสรภาพโดยสมบูรณ์

ทั้งนี้ การตัดสินใจสละอำนาจทางการเมืองขององค์ทะไลลามะ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองของทิเบต ที่ส่งเสริมแนวทางแห่งประชาธิปไตย

อนึ่ง ในปี 2502 องค์ทะไลลามะต้องลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ณ เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย หลังจากที่ชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน ทำให้จีน ซึ่งมองว่าทะไลลามะเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนและปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในทิเบต ส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ และฝ่ายทิเบตมิอาจต่อต้านกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น