เอเอฟพี - ประกาศผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เป็นไปตามคาด นายลอบซัง ซังเก ตัวเก็งเต็งหนึ่ง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งฯ พร้อมกับรับภาระหน้าที่ทางการเมืองขององค์ทะไลลามะ
สืบเนื่องจากการจัดการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่สถานีเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นในกว่า 13 ประเทศ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา และมีกำหนดประกาศผลการนับคะแนนรอบสุดท้ายในปลายเดือนเม.ย.นี้
ล่าสุดวันพุธ(27 เม.ย.) นายจัมเปล โชซัง (Jamphel Choesang) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศ ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ว่า นายลอบซัง ซังเก (Lobsang Sangay) วัย 43 ปี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศโดยสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ สามารถเอาชนะคู่แข่งตัวเก็งแถวหน้าอีก 2 คน ได้แก่ เทนซิน เทธอง(Tenzin Tethong) และ ทาชี วังดี (Tashi Wangdi) ด้วยคะแนนเสียง 55 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ มีชาวทิเบตพลัดถิ่นในอินเดียและต่างประเทศ ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง มากกว่า 49,000 คน จากทั้งหมด ราว 83,400 คน
การได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคนใหม่ของนายลอบซัง ซังเก นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากการที่ องค์ทะไล ลามะ วัย 75 ปี ได้ประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่น และจะส่งมอบบทบาทนี้ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
ซังเก ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า “ไม่มีใครสามารถแทนองค์ทะไล ลามะได้ และความท้าทายที่สำคัญสำหรับใครก็ตามที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ก็คือ การทำให้ทิเบตมีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือ”
นายซังเก ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ตนสนับสนุนหลักทางสายกลางขององค์ทะไล ลามะ ที่แสวงหา “การปกครองตัวเองที่มีความหมายมากขึ้น” สำหรับชาวทิเบตในจีน มากกว่าการประกาศอิสรภาพโดยสมบูรณ์
การประกาศสละอำนาจของทะไล ลามะ ทำให้ชาวทิเบตกังวลถึงอนาคตของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน เนื่องจาก ทะไล ลามะเป็นผู้นำและศูนย์รวมจิตใจในการต่อสู้ฯของชาวทิเบต
หากสิ้นองค์ทะไล ลามะ จะทำให้ทิเบต ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองอันคลุมเครือ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การเลือกตั้ง ดูจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหา
สำหรับรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลชาติใดๆ รวมทั้งจีน และหากไร้เสียซึ่งองค์ทะไล ลามะแล้ว ยิ่งทำให้ทิเบตไร้ซึ่งความชอบธรรมในสายตานานาชาติหนักขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ในปี 2502 องค์ทะไลลามะต้องลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ณ เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย หลังจากที่ชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน ทำให้จีนส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ และฝ่ายทิเบตมิอาจต่อต้านกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ได้