xs
xsm
sm
md
lg

สภาทิเบตถกประเด็นร้อน ไม่ยอมให้ “ทะไลลามะ” ลาออก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โซนัม ริมโปเช (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีทิเบตพลัดถิ่น กับ Penpa Tsering (กลาง) ประธานสภาทิเบต และ  Dolma Gyari (ขวา) รองประธานสภาฯ  กำลังแถลงข่าว ท่ามกลางบรรดาสื่อมวลชน ณ เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย 14 มี.ค. (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - องค์ทะไลลามะต้องประสบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดาสมาชิกสภาทิเบตพลัดถิ่น ต่อกรณีที่พระองค์ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันนี้ (15 มี.ค.) ณ เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย

องค์ทะไลลามะได้ปรารภถึงการลาออกจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ส่งต่ออำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีคนต่อไปที่จะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้

สมาชิกวุฒิสภาทิเบตทั้งหมด 141 คน เข้าประชุมในครั้งนี้ 43 คน และมี 11 คนลุกขึ้นถกเถียงประเด็นการลาออกฯ อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน พวกเขาต่อต้านการแก้ไขกฎหมายของทิเบตที่ระบุให้องค์ทะไลลามะเป็นผู้นำทั้งศาสนาและการเมืองจนกว่าจะสิ้นพระชนม์

Ugen Topgyal หนึ่งในสมาชิกสภากล่าวว่า “ประชาชนไม่เห็นด้วยที่พระองค์ (ทะไลลามะ) ตัดสินใจลาออก และผมจะลาออกจากสภาทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายฯหรือยอมรับการลาออกของพระองค์”

ส.ว. 3 คนเสนอให้ทำประชาพิจารณ์ดูเสียงประชาชนว่าเห็นด้วยกับการลาออกหรือไม่ ขณะที่คนอื่น ๆ เสนอเป็นกลาง ๆ ว่า ให้องค์ทะไลลามะยังคงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองแต่เพียงสมมติหรือเป็นแต่ในนามเท่านั้น

Sonam Gompo กล่าวว่า “พวกเราสามารถทูลทักท้วงองค์ทะไลลามะมิให้สละตำแหน่งไว้สักขณะหนึ่ง และขณะเดียวกันพวกเราจะปรับเปลี่ยนกฎหมายฯ บางอย่างเอง”

ในการประชุมสภาเมื่อเช้าวานนี้ (14 มี.ค.) ประธานสภาทิเบต อ่านข้อความขององค์ทะไลลามะที่ทรงเรียกร้องให้สภาฯ รับรองและยอมรับการตัดสินใจปลดเกษียณพระองค์เองจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่น

เนื้อความในหนังสือระบุว่า “บัดนี้ ทิเบตพร้อมแล้วที่จะมีผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง”

“อย่างไรเสียเวลาแห่งการสละตำแหน่งย่อมต้องมาถึง เมื่อข้าพเจ้าไม่สามารถเป็นผู้นำได้ตลอดไป ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องสร้างระบอบการปกครองแบบเลือกตั้ง ในขณะที่ ข้าพเจ้ายังสามารถทำได้ เพื่อให้การบริหารปกครองของทิเบตพลัดถิ่น มีความน่าเชื่อถือได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งทะไล ลามะเพียงผู้เดียว”

ทั้งนี้ ในปี 2502 องค์ทะไลลามะต้องลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ณ เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย หลังจากที่ชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน ทำให้จีนส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ และฝ่ายทิเบตมิอาจต่อต้านกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น