เอเอฟพี - องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ทรงประกาศวันนี้ (10) ถึงแผนปลดเกษียณตัวเองจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่น ทั้งนี้ พระองค์ได้ตรัสว่า ถึงเวลาสำหรับ “ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสรี”
ทะไลลามะ องค์ที่สิบสี่ ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะ ศูนย์รวมจิตใจของชาวทิเบต ได้ตรัสว่า พระองค์กำลังหาวิธีลาถอนตัวจากตำแหน่งทางการเมือง โดยรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตมีกำหนดประชุมกันในสัปดาห์หน้า
“ความปราถนาของข้าพเจ้า คือ การมอบหมายหน้าที่ มิใช่การปฏิเสธความรับผิดชอบ” องค์ทะไลลามะทรงปาฐกถา ณ เมืองธรรมศาลา สถานที่ทำการของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ทางตอนเหนือของอินเดีย
องค์ทะไลลามะทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นผู้นำทิเบต ตั้งแต่ปี 1950 หลังจากจีนกรีธาทัพเข้าสู่ทิเบต ต่อมาพระองค์ทรงลี้ภัยไปยังอินเดียเมื่อปี 1959 เมื่อการลุกฮือของชาวทิเบต เพื่อต่อต้านรัฐบาลจีนคว้าน้ำเหลว เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1989 พระองค์นี้ ทรงปรารภถึงการลงจากตำแหน่งทางการเมืองมาโดยตลอด ทว่าจะทรงรักษาสถานภาพผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวทิเบตต่อไป
“เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ข้าพเจ้าเคยเน้นย้ำว่า ชาวทิเบตต้องการผู้นำ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยเสรี ผู้ที่ข้าพเจ้าสามารถมอบหมายภาระหน้าที่ให้ได้” องค์ทะไลลามะ ตรัสระหว่างปาฐกถา “ขณะนี้ เวลานั้นมาถึงแล้ว”
ปาฐกถาในพิธีรำลึกถึงการประท้วงปี 1959 ของทิเบตวันนี้ องค์ทะไลลามะทรงยืนกรานหนักแน่นว่า การสละตำแหน่งผู้นำดังกล่าว มิได้หมายถึงการล้มเลิกการต่อสู้ทางการเมือง และจะทรงทุ่มเททำหน้าที่เพื่อทิเบตต่อไป
ทั้งนี้ ชาวทิเบตยังคงภักดีต่อความเป็นผู้นำของพระองค์อย่างแน่วแน่ พระองค์ทรงเป็นสรณะ ซึ่งสามารถหลอมรวมกลุ่มต่างๆ ในทิเบตให้กลายเป็นหนึ่ง แม้มีบางกลุ่มบางก๊กที่นิยมความรุนแรง ต่างจากวิธีสันติอหิงสาขององค์ทะไลลามะ อย่างไรก็ตาม การปาฐกถาในวันนี้ องค์ทะไลลามะทรงเปิดเผยว่า พระองค์ได้รับคำวิงวอนอย่างเป็นจริงเป็นจังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากภายในและภายนอกทิเบต เรียกร้องให้พระองค์ดำรงฐานะผู้นำทางการเมืองต่อไป
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อทิเบต (International Campaign for Tibet) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน แถลงว่า การประกาศวางมือจากตำแหน่งทางการเมืองขององค์ทะไลลามะเป็นข้อพิสูจน์อันเด่นชัดถึงความเป็นนักประชาธิปไตยของพระองค์
“เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำเผด็จการทั่วโลก ซึ่งปรากฏอยู่ในข่าว องค์ทะไลลามะเป็นบุคคลในอุดมคติ ผู้ปรารถนาการแบ่งสรรอำนาจสู่มือประชาชน” แมรี เบธ มาร์คีย์ ประธานองค์กรระหว่างประเทศเพื่อทิเบต ระบุ
“ความตัดสินใจของพระองค์มีรากฐานมาจากความเจริญงอกงามแห่งประชาธิปไตยพลัดถิ่นของทิเบต ควรค่าอย่างยิ่งแก่การสรรเสริญและการสนับสนุน” เธอ กล่าว