xs
xsm
sm
md
lg

ทะไล ลามะ ปฏิเสธบทบาท “ผู้นำเชิงสัญลักษณ์” ของทิเบต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต ทั้งนี้ สื่อทางการทิเบตรายงาน(25 พ.ค.) ว่า องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ปฏิเสธมติในที่ประชุม ซึ่งเสนอให้เป็นผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของทิเบต (ภาพเอเยนซี)
เอเอฟพี - สื่อทางการทิเบตรายงาน องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ปฏิเสธมติในที่ประชุม ซึ่งเสนอให้เป็นผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของทิเบต

ซัมดง ริมโปเช (Samdhong Rinpoche) อดีตนายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เผย(25พ.ค.) ณ สำนักงานรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ว่า “องค์ทะไล ลามะ ได้ปฏิเสธมติจากที่ประชุม ที่ต้องการให้ท่านเป็นเสมือนผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของทิเบต เพื่อเป็นการถ่ายโอนอำนาจและภาระความรับผิดชอบให้กับผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคนใหม่อย่างแท้จริง”

คณะผู้แทนทิเบตมากกว่า 400 คน จาก 25 ประเทศ ได้เข้าร่วมหารือและลงมติในที่ประชุมฯ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อวันอังคาร(24 พ.ค.)

ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา องค์ทะไล ลามะ ได้ปรารภถึงการลาออกจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต พร้อมถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

สำหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา คือ นายลอบซัง ซังเก (Lobsang Sangay) วัย 43 ปี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศโดยสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ผู้สังเกตการณ์มองว่า รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลชาติใดๆ รวมทั้งจีน และหากไร้เสียซึ่งองค์ทะไล ลามะแล้ว ยิ่งทำให้ทิเบตไร้ซึ่งความชอบธรรมในสายตานานาชาติหนักขึ้นไปอีก

องค์ทะไล ลามะ ได้ประกาศว่าต้องการ “การปกครองตัวเองที่มีความหมายมากขึ้น” สำหรับชาวทิเบตในจีน ขณะที่ จีน มองว่า ทะไล ลามะ เป็นพวกแบ่งแยกดินแดนปลุกระดมการก่อความไม่สงบในทิเบต

ทั้งนี้ ในปี 2502 องค์ทะไลลามะต้องลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ณ เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย หลังจากที่ชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน ทำให้จีนส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ และฝ่ายทิเบตมิอาจต่อต้านกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น