xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำมังกรชี้รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต “ผิดกม.” นายกฯทิเบตคนใหม่พร้อมเจรจากับจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลอบซัง ซังเก (ซ้าย) กำลังทักทายชาวทิเบตตามถนนหนทางระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในธรรมศาลา ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 18 มี.ค.(2554) ลอบซัง วัย 43 ปี จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่ตั้งอยู่ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 27 เม.ย. โดยเขาจะเป็นนายกฯคนแรกของรัฐบาลพลัดถิ่นฯ ที่รับภาระหน้าที่ทางการเมืองแทนทะไล ลามะ เนื่องจากที่ทะไล ลามะ ประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว (แฟ้มภาพเอเอฟพี)
เอเจนซี-จีนแถลงหลังประกาศผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่จะรับภาระหน้าที่ทางการเมืองแทนผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ทะไล ลามะ โดยหง เล่ย โฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าวกับกลุ่มผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสฯ(28 เม.ย.) ว่า รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เป็นองค์กรผิดกฎหมาย

“รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เป็นองค์กรการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นมาโดยทะไล ลามะ เพื่อจุดประสงค์เคลื่อนไหวกิจกรรมลัทธิแบ่งแยกดินแดนและอิสรภาพ ขณะที่ไม่มีประเทศใดในโลก รับรองรัฐบาลพลัดถิ่นแห่งนี้” หง เล่ย โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าว

สืบเนื่องจากรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ซึ่งตั้งอยู่ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเลือกตั้งนายกรัฐบาลคนใหม่ โดยมีการจัดสถานีเลือกตั้งตามเขตต่างๆทั่วโลก 13 ประเทศ เพื่อให้ชาวทิเบตพลัดถิ่น ราว 85,000 คน มาลงคะแนนเสียง การลงคะแนนเสียงฯนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มี.ค. โดยใช้เวลาร่วมเดือน

รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตได้ประกาศผลการเลือกตั้งวันพุธ(27 เม.ย.) นาย ลอบซัง ซังเก วัย 42 ปี ชนะการเลือกตั้งเหนือคู่ท้าชิงฯสองคนอย่างลอยลำ ด้วยคะแนนเสียง 55 เปอร์เซนต์ โดยมีผู้มาออกเสียงเลือกตั้ง กว่า 49,000 คน และลอบซังจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกฯวันที่ 30 พ.ค.(2554)

ลอบซัง จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ที่เข้ามารับผิดชอบภาระหน้าที่ทางการเมืองแทนทะไล ลามะ โดยปัญหาท้าทายมากที่สุดของเขา ก็คือ การคลี่คลายความขัดแย้งกับจีน และการนำเสนอปัญหาทิเบตบนเวทีโลกโดยที่เขาไม่มีบารมีสูงส่งเช่นทะไล ลามะ สืบเนื่องจากทะไล ลามะ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และวางมือจากกิจการการเมือง แต่ยังเป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวทิเบตต่อไป

ทั้งนี้ ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณ และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ที่จัดตั้งขึ้นที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย หลังจากที่ท่านหลบหนีจากทิเบตเมื่อการลุกฮือต่อต้านการปกครองจีนล้มเหลวในปี 2502 ด้านจีนประณามทะไล ลามะ ตลอดมาว่าเป็นผู้นำลัทธิแบ่งแยกดินแดน และเล่นเกมการเมืองไปทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตคนใหม่ ลอบซัง กล่าวคาดการณ์ว่า ทะไล ลามะ วัย 76 ปี จะต้องได้กลับไปยังบ้านเกิดในทิเบต

ทั้งนี้ นาย ลอบซัง สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลับฮาร์วาร์ด เขาเติบโตมาในฐานะผู้อพยพ บิดาของเขาเป็นลามะ ผู้ได้เข้าร่วมการต่อสู้สงครามแบบกองโจรต้านการปกครองจีนคอมมิวนิสต์

ลอบซังกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวอชิงตัน ว่าเขาจะกอบกู้เสรีภาพ ศักดิ์ศรี และอัตลักษณ์ของชาวทิเบต พร้อมกับเจรจากับจีน และบรรลุความปรารถนาขอทะไล ลามะ ที่ต้องการเรียกร้องการปกครองตัวเองที่มีความหมายของดินแดนทิเบตภายใต้การปกครองจีน

“ทิเบตตกอยู่ภายใต้การยึดครอง ที่มีการกดขี่ทางการเมือง การกลืนเชื้อชาติ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และยังมีการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมในทิเบต จีนไม่อาจเป็นมหาอำนาจโลกรายใหม่ ด้วยเพียงอำนาจเศรษฐกิจและการทหาร ยังจะต้องแสดงอำนาจทางจริยธรรมในการปฏิบัติต่อประชาชน ” ลอบซัง กล่าว

พร้อมกันนี้ ลอบซังเรียกร้องให้จีนทบทวนนโยบายสู่ทิเบตแบบกลุ่มหัวเก่าที่ “แข็งกร้าว” และหันมาใช้แนวทาง “สายกลางและแนวเสรีนิยม” โดยรัฐบาลพลัดถิ่นพร้อมที่จะเจรจา

ทั้งนี้ จีนและรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตเจรจากันมา 9 รอบ โดยที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ลอบซังกล่าวถึงทะไล ลามะ ว่า “ท่านยังแข็งแรง จะมีชีวิตยืนยาว และผมก็เชื่อว่าท่านจะได้กลับไปยังบ้านเกิดในขณะมีชีวิตอยู่”
กำลังโหลดความคิดเห็น