พันธมิตรฯ ยกโพลหนุน “โหวตโน” ปชช.เตรียมใช้สิทธิ หวังเปลี่ยนการเมือง “ปานเทพ” เชื่อปฏิรูปสำเร็จ แก้วิกฤตประเทศได้แน่ จวกรัฐปล่อย “แก๊งล้มเจ้า” ขยายวง แถมหนุนประกัน “โจกแดง” สร้างสถานการณ์ให้ ปชช.กลัว หวังคะแนนเลือกตั้ง ย้ำตะแบงเลือกตั้งไป ปชป.แพ้แน่ เหตุ พท.ฐานเสียงแน่น “ลุงจำลอง” ยันประเทศต้องธำรงสถาบันกษัตริย์ไว้ ชี้ พท.ปากพาจนทำคะแนนฮวบ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (18 เม.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโน ว่า ขณะนี้เริ่มมีกระบวนการประชาสัมพันธ์ของฝ่ายการเมืองที่พยายามอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตนเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นประชาธิปไตย โดยประเทศไทยมีการเลือกตั้งอยู่โดยตลอด และการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50 ก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศได้ หนำซ้ำการเกิดการทุจริตการเลือกตั้ง นำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ และความแตกแยกแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า
นายปานเทพกล่าวว่า หากพิจารณาจากผลการสำรวจของดุสิตโพล หลังจากที่ภาคประชาชนได้เริ่มรณรงค์กระแสโหวตโน ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีประชาชนต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากถึง 77.16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการที่ประชาชนไม่นอนหลับทับสิทธิ และต้องการออกไปใช้สิทธิเพื่อต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือการประท้วงทางการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของภาคประชาชนในการรณรงค์โหวตโน เพื่อต้องการให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง และยังมี 20.87 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่มีความคิดจะไปเลือกตั้งเพราะไม่รู้จะเลือกใคร คนที่เข้ามาก็เป็นคนหน้าเดิมๆ ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาพัฒนาประเทศ โดยคนกลุ่มนี้หากคำนวณตามจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 45 ล้านคน ได้เป็น 10 ล้านคน
“การที่ภาคประชาชนรณรงค์ให้ครั้งนี้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ แม้กระทั่งการชุมนุมทางการเมืองที่ลดน้อย จึงถือผลสำรวจความต้องการของประชาชนนี้มีแนวทางที่ตรงกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งก็หวังว่านักการเมืองจะได้รับบทเรียนว่ามีประชาชนจำนวนมากรู้สึกเบื่อหน่ายการเมืองอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อกับที่นักการเมืองสัญญาไว้เมื่อปี 49 แต่วันนี้กลับเลือกแก้ไขเพียงบางประเด็นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น” นายปานเทพกล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ ยังได้กล่าวถึงการเดินสายรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการโหวตโนและการปฏิรูปทางการเมือง ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี แม้กระทั่งในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เฉพาะคนที่ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์จะผิดหวังเท่านั้น เพราะอีกด้านกลุ่มคนเสื้อแดงเองที่ไม่พอใจแนวทางการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และการนิยมความรุนแรงถึงขั้นเผาบ้านเผาเมือง ก็รับไม่ได้กับความประพฤติของคนเสื้อแดงบางกลุ่ม และถอนตัวจากการสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ดังนั้นการรรงค์โหวตโนจึงไม่จำกัดเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อคนทั้งประเทศที่เห็นว่าการเมืองไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง ลดความขัดแย้งในสังคม ให้บ้านเมืองดีขึ้นหลังการปฏิรูปทางการเมือง เป็นเหตุให้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยออกมาต่อต้านการรณรงค์ของภาคประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางของรัฐบาลในการเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบห้ามพรรคการเมืองอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้น นายปานเทพกล่าวว่า รัฐบาลนี้มีส่วนสำคัญมาจากรัฐบาลชุดนี้ ที่ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการก่อความรุนแรงในสังคมได้เลย ทั้งที่สมควรแก้ไขให้สิ้นซาก ปรากฏว่าปัญหาทั้ง 2 อย่างยังคงดำเนินอยู่และขยายวงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เผยหลายอย่างมาก โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่รัฐบาลกลับนำเรื่องมาหาเสียง ทั้งที่ตัวเองไม่สามารถดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ปัญหาความรุนแรงหรือคนเสื้อแดง รัฐบาลก็พยายาม่มขู่ให้ประชาชนเลือกตัวเองให้กลับมาเป็นรัฐบาลเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แต่รัฐบาลกลับเป็นผู้ให้นโยบายในการปล่อยกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาจากการถูกคุมขังเอง
“เหมือนว่ารัฐบาลพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อข่มขู่ประชาชนให้หวาดกลัว และกลับมาเลือกตัวเอง ทำให้สอดคล้องกับกระแสที่ประชาชนต้องรู้เท่าทันและกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เพื่อทำให้เห็นว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายตรงข้าม” นายปานเทพกล่าว
เมื่อถามต่อถึงการประเมินสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้ง นายปานเทพกล่าวว่า หากดูจากฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย จะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่คู่แข่งของพรรคเพื่อไทยในการแย่งชิงพรรคอันดับ 1 แม้จะมีความใกล้เคียงกันในส่วนของระบบบัญชีรายชื่อ แต่จะเกิดความเสียเปรียบในส่วนของการเลือกตั้งแบบเขต เพราะฉะนั้นภาคประชาชนจะเลือกหรือไม่เลือกใคร ไม่มีผลต่อพรรคอันดับ 1 และ 2 แต่รัฐบาลจะประกอบด้วยพรรคขนาดกลางที่มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งภายใต้โครงสร้างนี้พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองสูง มีโอกาสทุจริตคอร์รัปชันง่าย การเมืองแบบนี้จึงไม่ใช่ทางออกของประเทศ ดังนั้นการแก้ไขจึงต้องถอยออกมาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ
ทั้งนี้ นายปานเทพยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรับธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา และฝ่ายรัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการพิจารณาอนุมัติโดยเร็วว่า ฝ่าย ส.ว.เริ่มมีการเรียกร้องให้กฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับนั้นต้องพิจารณาโดยรอบคอบ แต่ขณะที่นายกฯได้ใช้กำหนดการยุบสภาที่ตัวเองเป็นผู้ประกาศล่วงหน้ามาเป็นตัวตั้ง เท่ากับว่าต้องการโยนภาระ และบีบบังคับให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบตามที่นายกฯต้องการ ทั้งที่วุฒิสภาไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล การที่แสดงท่าทีเพิ่มแรงกดดันไปที่วุฒิสภาถือว่าไม่ถูกต้อง
ดังนั้น นายกฯ จึงเหลือเพื่อ 2 ทางเลือก คือ 1.ประกาศยุบสภาตามกำหนดเดิม และไปเสี่ยงว่ากฎหมายลูกจะผ่านหรือไม่ หรือ 2.ตัดสินใจเลื่อนการยุบสภา ตระบัดสัตย์จากสิ่งที่ตัวเองเคยประกาศไว้ ทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากการประกาศยุบสภาล่วงหน้าเป็นเวลานาน จนเกิดปัญหามากมายอยู่ในขณะนี้ แม้กระทั่ง ส.ส.ไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้ที่ประชุมล่มหลายครั้ง แสดงว่านายกฯ บริหารไม่เป็น ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถเดิหน้าต่อไปได้ ซึ่งนายกฯ ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม หากนายกฯ ประกาศยุบสภาแล้ว กฎหมายลูกออกไม่ทัน อาจทำให้เกิดสุญญากาศในทางการเมือง และเกิดช่องว่างให้เกิดเหตุการณ์ใดก็ตาม ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจของนายกฯ เอง
ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องยืนยันถึงความจำเป็นที่พวกเราต้องรณรงค์โหวตโน เนื่องจากรัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากระบบการเมืองในปัจจุบัน ไม่ให้ความสนใจแม้กระทั่งเรื่องใหญ่ของประเทศในการปกป้องดินแดนอธิปไตย จึงจำเป็นต้องจุดกระแสให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองอย่างแท้จริง เมื่อถึงวันนั้นปัญหาของชาติบ้านเมืองก็จะลดลง มิเช่นนั้นประเทศชาติบ้านเมืองจะเสียหายมากกว่านี้ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่พยายามจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพวกเราได้พยายามให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มานาน แต่ไม่ได้รับความสนใจ จนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลแสดงพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันอย่างชัดเจน ซึ่งพวกเราไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าอย่างไรเสียประเทศไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป
แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวด้วยว่า หากให้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์หลังการเลือกตั้งนั้น ตนยังเห็นว่ายังเลือกเวลาอีกมาก ที่อาจเกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้คะแนนของพรรคการเมืองต่างๆเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างการพูดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.นั้นทำให้คะแนนของพรรคเพื่อไทยลดลงอย่างแน่นอน และเมื่อภาคประชาชนเห็นว่าระบบนี้ไปไม่ไหว และร่วมกันออกมารณรงค์นั้น จะทำให้คะแนนของพรรคการเมืองไม่ว่าขั้วใดลดลง จากเดิมที่ไม่มากเท่าไรเมื่อเทียบอัตราส่วนกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
อนึ่ง ในส่วนการที่คณะรัฐมนตรีเตรียมประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเพิ่มเติมอีก 30 วันนี้ พล.ต.จำลองกล่าวว่า ไม่มีความกังวลใดๆ