ชะตากรรมของ วีระ สมความคิด และ ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ยังเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวบุคคลทั้งสองเป็นกังวล ทุกข์หนัก เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นหนทางที่จะนำทั้งคู่กลับคืนสู่อิสรภาพและอ้อมกอดของมาตุภูมิ
แม้ว่าจะยากแต่ต้องไม่ท้อแท้หรือหมดหวัง แต่ละฝ่ายยังต้องทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อช่วยเหลือพลเมืองไทยทั้งสองรายที่กำลังเผชิญทุกข์ทรมานอยู่ในต่างแดนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
รัฐบาลยังมีหน้าที่ต้องเจรจาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ “วีระ-ราตรี” จะปล่อยให้ ฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ใช้ข้ออ้างงี่เง่าว่า กรณี “วีระ-ราตรี” แตกต่างจาก ศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ที่ไม่ต้องรับโทษ 2 ใน 3 เพราะรัฐบาลกัมพูชายึดหลักมนุษยธรรมแล้ว
รัฐบาลไทยยอมรับเหตุผลไร้มาตรฐานนี้ง่ายๆ ไม่ได้
แต่ต้องสะท้อนให้นานาชาติได้เห็นด้วยว่าในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังไม่อยู่ในภาวะปกติ กัมพูชากลับเล่นเกมกลั่นแกล้ง 2 คนไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เช่นเดียวกับการตัดสินใจขอพระราชทานอภัยโทษ ศิวรักษ์ อย่างรวดเร็ว ก็ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการชู ทักษิณ ชินวัตร เป็นฮีโร่ เพราะในขณะนั้น ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาถือหางแดงหวังว่า ทักษิณ จะทวงคืนอำนาจผ่านการเคลื่อนไหวเผาบ้าน เผาเมือง ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องพยายามเจรจาทั้งอย่างเป็นทางการที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย เพื่อแสดงความตั้งใจในการนำ “วีระ-ราตรี” พ้นคุก ขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องติดตามตรวจสอบไม่ให้รัฐบาลเพิกเฉยปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป จน “วีระ-ราตรี” ถูกขังลืม
ส่วนครอบครัวของ วีระ หากตัดใจบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจาก ทักษิณ ได้ ก็น่าจะลองคิดถึงช่องทางสุดท้ายที่ยังพอมีความหวัง คือ การถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระเมตตาให้ส่งพระราชสาส์นไปถึงกษัตริย์กัมพูชาโดยตรงในการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับคนไทยทั้งสองที่กำลังสิ้นหวัง
เหตุผลที่เสนอให้ใช้ช่องทางนี้ เพราะประเทศไทยกับกัมพูชามีรูปแบบการปกครองที่เหมือนกันคือ เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษตามนิติราชประเพณี ให้แก่ผู้ต้องหาในเรือนจำตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นสมควร
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศซึ่งเป็นเรื่องการเมืองกำลังอยู่ในระหว่างการเชื่อมต่อ จนมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลกัมพูชาทำให้ขาดเมตตาธรรมต่อสองคนไทย ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อกษัตริย์ของกัมพูชาที่จะมีพระเมตตาต่อ “วีระ-ราตรี” เพราะตามกฎหมายกัมพูชาแม้ว่าจะเป็นอำนาจของรัฐบาลในการนำเรื่องกราบบังคมทูลต่อกษัตริย์กัมพูชาเพื่อให้พระราชทานอภัยโทษ แต่ในรัฐธรรมนูญของกัมพูชาก็เปิดช่องว่าเรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์เช่นเดียวกัน
ซึ่งความจริงรัฐบาลกัมพูชาไม่ควรไปปิดกั้นด้วยการไม่ส่งเรื่องขอพระราชอภัยโทษไปยังกษัตริย์กัมพูชา เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์จะทรงมอบให้กับคนไทย
การก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศผ่านช่องทางของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความสัมพันธ์กันมาช้านาน จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้กษัตริย์กัมพูชาสามารถใช้พระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกบีบรัดจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
เพราะในนามของรัฐบาลทั้งสองประเทศย่อมมีภาระผูกพันในการตัดสินใจโดยยึดผลประโยชน์ชาติของตนเป็นสำคัญ จนบางประเทศก็อาจคิดที่จะหยิบทุกประเด็นมาเป็นเงื่อนไขสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง
แต่พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ย่อมก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งปวง คงเหลือไว้เพียงพระเมตตาที่จะแผ่ไพศาลปกปักปวงประชาอาณาราษฎร์เท่านั้น
ครอบครัวของ “วีระ-ราตรี” น่าจะลองพิจารณาถึงช่องทางนี้ ในฐานะที่เราเป็นคนไทยอาศัยอยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารขององค์พ่อหลวง ความทุกข์ของลูกที่มีต้องแจ้งให้พระองค์ทรงรับทราบ จากนั้นก็เป็นพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ว่าจะทรงตัดสินพระทัยเช่นไร
อย่าหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ทักษิณ จะช่วย เพราะกรณีนี้ไม่มีทางที่ ฮุนเซน จะยอมง่ายๆ เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ในสายตาของนานาชาติ หากกัมพูชายอมเปลี่ยนแปลงสิ่งที่บอกต่อสาธารณะไปว่าต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อน เพียงเพราะคำร้องขอจาก ทักษิณ นั่นหมายถึงว่า กัมพูชายอมรับการเป็นประเทศที่ไร้หลักนิติรัฐเหลือแต่ “หลักนิติกู” ของฮุน เซนอย่างเป็นทางการต่อสายตาของชาวโลก เพราะฮุน เซนใช้เรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธคำร้องขอของรัฐบาลไทย ดังนั้นฮุน เซน ซึ่งกำลังต้องการแรงสนับสนุนจากนานาชาติในหลายเรื่อง คงไม่ยอมฆ่าตัวตายเพื่อสร้างเครดิตให้ทักษิณ
ในภาวการณ์ที่กัมพูชากับไทยยังมีประเด็นที่ต้องขับเคี่ยวกันอีกมาก ทั้งปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา และสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมถึงกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาที่ยังไม่สมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้ ย่อมเป็นตัวบีบรัดที่ทำให้กัมพูชาไม่ยอมอ่อนข้อให้รัฐบาลไทยง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ ฮุนเซน เกลียดขี้หน้าอย่าง วีระ ก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างยากมากขึ้น
การช่วยเหลือ “วีระ-ราตรี” จึงน่าจะเหลือทางเลือกเดียวคือ ใช้ช่องทางความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศ ที่ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง