xs
xsm
sm
md
lg

กกต.วัดใจ ส.ส.เลิกอั้นเงินบริจาค 3 พัน ช่วยภัยพิบัติ ไม่นับรวมงบเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย จึงประเสริฐ
สรรหา ส.ว.เสร็จแล้ว 3 ภาค 43 คน ขณะที่เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย จี้สรรหา ส.ว.หญิง คำนึงความรู้ความสามารถมากกว่าสัดส่วนสมัครน้อยเลือกน้อย พร้อมยื่น ปธ.กกต.ตรวจสอบพรรคการเมือง ส่งผู้สมัคร ส.ส.2 ระบบ ให้ผู้หญิงมีโอกาสทางการเมืองตาม รธน.กกต.แก้ประกาศบริจาคเงินช่วยภัยพิบัติของ ส.ส.-ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดฟรี ไม่มีอั้นแค่ 3 พัน แถมไม่ต้องเอามาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การสรรหา ส.ว.ของคณะกรรมการสรรหาที่มี นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสรรหานั้น ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาได้มีการสรรหา ส.ว.ในภาคเอกชนจำนวน 15 คน ภาควิชาการ และภาครัฐภาคละ 14 คน เสร็จสิ้นแล้วรวม 43 คน ส่วนภาควิชาชีพ และภาคอื่นนั้นคณะกรรมการสรรหามีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 8 เม.ย.หากไม่แล้วเสร็จ ก็จะมีการพิจารณาต่อในวันที่ 10 เม.ย.โดยมีกำหนดที่จะส่งรายชื่อให้กับ กกต.พิจารณารับรองในต้นสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้ที่จะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนจากคณะกรรมการสรรหาไม่น้อยกว่า 4 ใน 6 เสียง หากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคนใดได้คะแนนเท่ากัน หรือน้อยกว่า 4 เสียงคณะกรรมการสรรหาก็จะมีการโหวตรอบใหม่จนกว่าได้ 4 คะแนน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อบางคนคณะกรรมการสรรหาต้องโหวตถึงหลายรอบทีเดียว อย่างไรก็ตาม การโหวตของคณะกรรมการสรรหาทำโดยเปิดเผยในที่ประชุมที่มีเพียง 6 คณะกรรมการสรรหากับอีก 2 เลขาธิการ คือ เลขาธิการ กกต.และเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เท่านั้น และเมื่อได้รายชื่อ ส.ว.สรรหาในแต่ละภาคแล้ว เลขาธิการ กกต.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาก็จะเป็นผู้รวบรวมเก็บใส่ซองผิดผนึกไว้เป็นความลับ

นางสุธีรา วิจิตรานนท์ พร้อมด้วย นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข และ น.ส.อารีวรรณ จตุทอง ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต.และประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เพื่อขอให้การสรรหา ส.ว.ของคณะกรรมการสรรหา และการจัดทำบัญชีรายชื่อ ส.ส.ของพรรคการเมืองต่างๆ คำนึงถึงสัดส่วนของผู้หญิงโดยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่ง นางเรวดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาจะอ้างว่ามีผู้หญิงเข้ารับการสรรหา เป็น ส.ว.จำนวนน้อย ทำให้สัดส่วนที่คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกน้อยไปด้วย เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะข้อเท็จจริงแล้วควรสรรหาโดยมองความรู้ ความสามารถ และการสร้างโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพื่อให้บรรยากาศในทางการเมืองลดความร้อนแรงลง และในขณะที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีการพูดกันถึงสัดส่วนของผู้หญิงที่ควรได้เข้าไปมีโอกาสเป็น ส.ว.ว่าน่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ดังนั้น การสรรหา ส.ว.73 คนครั้งนี้ ก็ควรมีผู้หญิงที่ได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.ไม่น้อยกว่า 25 คน จากผู้หญิงที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 80 คน

นางเรวดี ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่ยี่นหนังสือถึงประธาน กกต.ก็เห็นว่า เนื่องจากขณะนี้กำลังจะมีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญมาตรา 97(2) กำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดทำบัญชีรายชื่อ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต โดยคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสม และความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย ดังนั้น กกต.ในฐานะผู้ควบคุมกติกา ก็ควรเข้มงวดกับพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครว่าได้ดำเนินการให้เป็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่ หากเห็นว่า ไม่สอดคล้อง หรือมีการจัดบัญชีรายชื่อแบบไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรรับบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคยื่นสมัคร หรือส่งกลับคืนไปให้ปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ และเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้หญิงในทางการเมืองที่จะเข้าไปช่วยปฏิรูปประเทศได้

ด้าน นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เปิดเผยภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมกกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการแก้ไขปรับปรุงประกาศ กกต.เรื่อง จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวนเป็นเงินได้ ตามปกติประเพณีของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสมาชิกที่เป็น ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเรื่องการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ จากเดิมที่กำหนดว่า ให้บริจาคได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อหนึ่งโอกาส หากเกินจำนวนดังกล่าวก็ให้ไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้น แก้ไขเป็นในกรณีภัยพิบัติสาธารณะ ที่หมายความถึง เภทภัย ภัยหายนะ ภัยพินาศ ภัยอันตราย อันเกิดแก่สาธารณะไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือไม่ ให้สามารถบริจาคได้โดยไม่จำกัดวงเงิน และไม่ต้องนำมาคำนวนเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ทั้งนี้การแก้ไขดังกล่าว เพราะ กกต.เห็นว่าเป็นเรื่องของมนุษยธรรมซึ่งเหตุภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมทั้งพื้นที่ความเสียหายเป็นวงกว้าง ผู้ที่รับประโยชน์ไม่ใช่แค่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเดียว ประกอบกับขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง แต่หากเข้าสู่ช่วงเวลาดังกล่าว ปัญหาภัยพิบัติคงเบาบาง หรือถ้าเกิดเหตุ กกต.ก็จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

“ทุกวันนี้ ส.ส.ก็เอา กกต.ไปอ้างว่าอยากจะบริจาคให้มากกว่า 3,000 บาท แต่ทำไม่ได้ เพราะกกต.กำหนดไว้เท่านี้ ถ้าบริจาคมากก็ต้องไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้มีการร้องเรียนภายหลัง แต่เมื่อแก้ประกาศฯนี้แล้ว ส.ส.ก็จะได้สบายใจขึ้นในการที่จะช่วยประชาชนอยากจะบริจาค 10 ล้านก็บริจาคได้ และพรรคที่เป็นคู่แข่งของ ส.ส.ในพื้นที่ก็คงไม่หยิบเอาไปโจมตี เนื่องจากจะไม่เป็นผลดีกับคะแนนเสียงของตนเอง รวมทั้งก็ต้องบริจาคเงินช่วยประชาชนในจำนวนใกล้เคียงกับคนเป็น ส.ส.ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน”
กำลังโหลดความคิดเห็น