กกต.ด้านบริหาราเลือกตั้ง เชื่อ สภาไม่ล่มวันโหวตรับ กม.ลูก เหตุนักการเมืองอยากเข้าสู่สนาม ขณะเดียวกัน ชี้ ส.ส.บริจาคช่วยน้ำท่วมได้โอกาสละไม่เกิน 3 พัน หากมากกว่าต้องรวมเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เผยเตรียมปรับปรุงประกาศฯคาดเข้าที่ประชุมสัปดาห์หน้า ด้านตุลาการศาล รธน.ไม่หวั่น “พสิษฐ์” ขึ้นเวที นปช.เปิดแผล เตือนต้องรับผิดชอบการกระทำ
วันนี้ (31 มี.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ กกต.กลางให้ กกต.จว.นำเสนอรูปแบบของแบ่งเขตเลือกตั้งใน 3 รูปแบบมาให้ กกต.พิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียงรูปแบบเดียว ซึ่งการเสนอของ กกต.จว.ก็จะมีการแนบความเห็นว่ารูปแบบใดเหมาะสมที่สุด ดังนั้น คาดว่า กกต.กลาง จะสามารถพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตได้แล้วเสร็จภายในกลางเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งถือว่าเร็วมากแล้ว และน่าจะทันต่อการที่นายกฯจะประกาศยุบสภาภายในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า นายกฯจะไม่ประกาศยุบสภาก่อนที่ได้กำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ ก็เป็นอำนาจของนายกฯที่จะตัดสินใจ ส่วนตัวเห็นว่าอยากให้กฎหมายลูก 3 ฉบับผ่านการพิจารณาก่อน ซึ่งในสัปดาห์หน้าน่าจะผ่านวาระ 2-3 ได้ ถ้ายุบสภาก่อนกฎหมายลูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะทำให้กฎหมายนั้นตกไป น่าเสียดาย เพราะขั้นตอนของการเลือกตั้งได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว การแปรญัตติกม.ลูกทั้งง 3 ฉบับก็มีไม่มาก และไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เช่น มีการแปรญัตติว่าให้มีการลดจำนวนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเหลือเพียงวันเดียว หากผ่านและบังคับใช้เป็นกฎหมาย กกต.ก็พร้อมดำเนินการ อย่างไรก็ตาม มองว่า ถ้ากฎหมายลูกเข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้ง จะไม่เจอกับปัญหาสภาล่ม เพราะในวาระแรก ส.ส.ทุกคนต่างก็โหวตให้ไม่มีใครคัดค้าน สะท้อนให้เห็นว่า ทุกฝ่ายอยากจะมีการเลือกตั้ง รวมทั้งเสียงจากภายนอกก็มองว่าเลือกตั้งแล้วจะทำให้บรรยากาศของบ้านเมืองดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่ง ส.ส.ก็มีหน้าที่ในการเข้าประชุมสภาอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาสภาล่มในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายลูก หรือถ้ามีก็ให้สื่อช่วยเปิดรายชื่อ ส.ส.ที่ไม่เข้าร่วมประชุม
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ว่า ขณะนี้ กกต.จว.ก็ได้ประกาศรับสมัคร กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง และ ผอ.ประจำเขตเลือกตั้งทั้ง 357 เขตแล้ว ประกอบกับให้ทาง กกต.จังหวัดสำรวจอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง รวมทั้งเตรียมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในวันที่ 18 เม.ย.ก็จะเชิญประธาน กกต.จว.และ ผอ.กต.จว.ทั่วประเทศมาประชุมซักซ้อมการเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นถึงความพร้อมในการเดินหน้าเลือกตั้ง ส่วนกกต.จว.ที่จะหมดวาระในวันที่ 8 ก.ค.จำนวน 62 จังหวัด ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เพราะขณะนี้คณะกรรมการสรรหาของจังหวัดได้เสนอรายชื่อผู้เหมาะสมเป็น กกต.จว.จำนวน 3 เท่า หรือ 15 คนมาให้ กกต.กลางคัดเลือกเหลือ 5 คน โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งจะแต่งตั้งได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ แต่หากทำไม่ทัน และมีการเลือกตั้ง กกต.จว.ชุดปัจจุบันก็จะยังคงรักษาการไปจนกว่า กกต.จว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ การแต่งตั้ง กกต.จว.ชุดใหม่จะรวมถึงกกต.ประจำจังหวัดบึงกาฬด้วย
นายประพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ถ้ามีการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่นายกฯกำหนดจะตรงกับช่วงฤดูฝน ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่า จะเกิดเหตุอุทกภัยเหมือนกับที่เกิดขึ้นในขณะนี้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการวางแผนเตรียมการรองรับไว้ แต่ไม่น่าจะมีปัญหากระทบกับการเลือกตั้งเนื่องจากที่ผ่านมา กกต.ก็เคยจัดการเลือกตั้งในช่วงฤดูฝนมาแล้ว แต่จะกระทบต่อจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิที่จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนน้อย
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงการที่ ส.ส.ลงไปช่วยเหลือ บริจาคเงิน บริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ว่า เป็น ส.ส.ก็ต้องไปช่วยเหลือประชาชนได้อยู่แล้ว แต่ตามประกาศของ กกต.ว่าด้วยการบริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ ก็ให้บริจาคได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อหนึ่งโอกาส หรือการบริจาคในกรณีที่เกิดเหตุหนึ่งครั้ง ซึ่งหากเกินจำนวนที่กำหนด จะต้องนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ กกต.กำลังให้ด้านกิจการพรรคการเมืองไปศึกษาเพื่อแก้ไขและปรับปรุงในเรื่องการบริจาค เพราะมีการมองว่า กรณีภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ การช่วยเหลือเป็นเรื่องของมนุษยธรรมที่ไม่ควรจำกัดจำนวนการบริจาค ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ กกต.อาจจะเปิดให้มีการบริจาคเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องรอดูผลการศึกษาที่จะเสนอก่อน รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมายด้วยว่าจะขัดกฎหมายหรือไม่ โดยจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงการบริจาคที่ใช้ชื่อของพรรคการเมือง หรือการช่วยเหลือในนามของรัฐบาล แต่มีผู้สมัครของพรรครัฐบาล ไปช่วยแจกสิ่งของนั้นจะถือว่าเป็นการแจกเพื่อหาเสียงหรือไม่ เนื่องจากใกล้ช่วงของการเลือกตั้ง ว่า ในเรื่องดังกล่าวต้องดูตามข้อเท็จจริง ซึ่งในกรณึการแจกในนามของพรรคต้องดูตัวบุคคลของพรรคที่ไปแจก
“เขาไปช่วยเหลือดูแลประชาชนจะไปห้ามเข้าได้อย่างไร ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป เพราะการบริจาคเกิด 3,000 บาทก็ไม่ได้เป็นความผิด แต่หากเกิดก็ให้เอาไปคำนาณเป็นค่าใช้จ่าย เช่น พรรคทำถุงยังชีพ แต่ก็ต้องดูว่าใครเป็นคนเอาไปแจก” นายประพันธ์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นกรณี นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมขึ้นเวทีใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ ที่อาจมีการปราศรัยโจมตีการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจนส่งผลให้ภาพลักษณ์เกิดความเสียหายว่า ไม่มีอะไรน่าห่วงและไม่จำเป็นจะต้องห่วงอะไร เพราะเราไม่ใช่วัวสันหลังหวะ ทุกคนมีสิทธิพูดและแสดงความคิดเห็น แต่ทั้งนี้คนพูดก็ต้องรับผิดชอบคำพูดของตนเอง อย่างไรก็ตามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดระแวงว่าใครจะมาด่าหรือมาว่าอะไรที่จะกระทบต่อองค์กร ใครทำอะไรอย่างไรต้องรับผิดชอบในการกระทำ